ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการทบทวนสถานะประเทศคู่ค้าด้านทรัพย์สินทางปัญญาตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯมาตรา 301 พิเศษ ที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) จะเผยแพร่ผลการจัดสถานะช่วงปลายเดือน เม.ย.ของทุกปีนั้น ปี 67 กระทรวงพาณิชย์ไทยคาดหวังว่า ไทยจะได้รับการจัดสถานะดีขึ้นจากปี 66 ที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองด้านทรัพย์สินทางปัญญา (ดับบลิวแอล) ซึ่งอยู่กลุ่มนี้มาตั้งแต่ปี 60 หลังจากก่อนหน้านี้ไทยอยู่กลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (พีดับบลิวแอล)

อย่างไรก็ตาม คาดว่าไทยอาจยังอยู่ดับบลิวแอลต่ออีก 1 ปี แม้แก้ปัญหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯต่อเนื่อง และมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมากจนเป็นที่พอใจของสหรัฐฯ ทั้งการแก้ไขกฎหมาย การปราบปรามการละเมิดตามแหล่งผลิต แหล่งค้าทั่วประเทศ และบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต บังคับใช้กฎหมายเข้มงวด ฯลฯ จนการละเมิดลดลง แต่ล่าสุดในรายงานตลาดที่ขายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ ประจำปี 66 ที่ยูเอสทีอาร์เผยแพร่เดือน ม.ค.67 ซึ่งเปิดเผยรายชื่อตลาดการค้าสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯในประเทศต่างๆ ทั้งที่เป็นตลาดทั่วไปและตลาดออนไลน์ กลับพบว่ามีชื่อศูนย์การค้าแห่งหนึ่งของไทยอยู่ในรายงานนี้ด้วย โดยกลับเข้ามาอยู่ในลิสต์นี้ตั้งแต่การรายงานปี 65 จากหลายปีที่ผ่านมา ไทยไม่มีตลาดหรือย่านการค้าใดๆติดในลิสต์นี้แล้ว

โดยยูเอสทีอาร์ให้ข้อมูลว่า หลังโควิดคลี่คลายมีนักท่องเที่ยวเข้าไทยจำนวนมาก และการขายสินค้าละเมิดกลับมา แม้ก่อนโควิดไทยดำเนินหลายมาตรการที่ประสบความสำเร็จ เช่น จัดตั้งศูนย์การบังคับใช้กฎหมายที่ศูนย์การค้านี้ จัดชุดลงพื้นที่ตรวจตรา ศูนย์การค้ายกเลิกสัญญาเช่าพื้นที่กับผู้ค้าสินค้าละเมิด ฯลฯ และปัจจุบัน ยังคงเข้มงวดปราบปราม แต่ยังมีการขายสินค้าละเมิดที่ศูนย์การค้าแห่งนี้ ขณะเดียวกัน สมาพันธ์ทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศของสหรัฐฯ (ไอไอพีเอ) ยังคงเสนอให้ยูเอสทีอาร์จัดไทยอยู่ในกลุ่มดับบลิวแอลในการทบทวนปี 67 ร่วมกับอีก 13 ประเทศ ดังนั้น ต้องจับตาว่า การเผยแพร่รายงานปี 67 ไทยจะยังคงอยู่ในกลุ่มดับบลิวแอล หรือหลุดออกจากการจัดสถานะคู่ค้าของยูเอสทีอาร์หรือไม่.

...

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่