“บุญ” ที่ช่วยรักษาพระศาสนาได้จริง ต่อเนื่องไปถึงว่า “ทำบุญ”...ช่วยพระไม่ให้ต้องอาบัติอย่างเป็นหลักการมั่นคงถาวรทำอย่างไร? เป้าหมายสำคัญในการบอกกล่าวเล่าเรื่องของพลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย อดีตผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ กองทัพเรือ
อาจารย์ทองย้อย กล่าวไว้ในช่วงหนึ่งเกี่ยวกับเรื่อง “ถวายเงิน-ใช้เงิน” ว่าเป็นเรื่องที่กระทบใจอย่างยิ่ง ทั้งกระทบใจพระและกระทบใจชาวบ้าน
กระทบใจชาวบ้าน...ขอยกเรื่องเด่นเรื่องเดียวก็พอ-นั่นคือ ทุกวันนี้พระออกบิณฑบาต ชาวบ้านเอาเงินใส่บาตรกันทั่วไปหมด พระเองก็ประกาศดังๆ ผมได้ยินมากับหู...รับเฉพาะเงินนะโยม! ไม่รับอาหาร เอาเงินใส่บาตร พอทักเข้าก็ไม่พอใจ...คนที่เอาเงินใส่บาตรนั้นมีเหตุผลที่น่าฟังคือ เขาบอกว่าใส่อาหาร พระก็ได้แต่อาหาร
...
“ใส่เงิน”...พระจะได้เอาเงินไปซื้อของใช้ที่จำเป็นอื่นๆได้อีก
เหตุผลอีกอย่างหนึ่งก็คือ บางวันไม่สะดวกที่จะจัดเตรียมอาหาร แต่ เงินมีอยู่ในกระเป๋าพร้อมแล้ว พระก็มาอยู่ตรงหน้านี่แล้ว ใส่เงินสะดวกที่สุด...ฟังแล้วคิดอย่างไร? เป็นเหตุผลที่ฟังได้ จะว่าฟังขึ้นก็ได้
แต่เหตุผลที่ฟังขึ้นหรือฟังได้เช่นว่านี้ ก็ไม่เป็นเหตุให้การเอาเงินใส่บาตรกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามพระวินัยขึ้นมาได้เลย เคยอธิบายมาบ่อยแล้วแต่ไม่เบื่อที่จะอธิบายอีก...มีศรัทธาอยากถวายเงินให้พระ อ้างเหตุผลนั่นนี่โน่นเป็นสิ่งที่ดีแล้ว ควรแก่การอนุโมทนา แต่การถวายเงินให้พระต้องทำให้ถูกวิธีด้วย
“พระรับเงินที่โยมเอาใส่บาตร เป็นการละเมิดศีล ต้องอาบัติ...โยมที่เอาเงินใส่บาตรได้บุญก็จริง แต่ได้บาปด้วย เพราะเป็นตัวการทำให้พระต้องอาบัติ ผมมีวิธีถวายเงินให้ได้บุญบริสุทธิ์ด้วยและช่วยพระไม่ให้ต้องอาบัติด้วยเบื้องต้น ท่านที่มีศรัทธาจะเอาเงินใส่บาตร โปรดจัดหาซองหรือกล่องเล็กๆไว้ให้พร้อม...
ทุกเช้าที่มีศรัทธาจะเอาเงินใส่บาตร ควักเงินออกมาจบ...”
คำจบหรือคำอธิษฐานที่ขอแนะนำคือ คาถาตั้งความปรารถนาของพระอนุรุทธ คำบาลีว่าดังนี้ อิมินา ปะนะ ทาเนนะ มา เม ทาลิททิยัง อะหุ นัตถีติ วะจะนัง นามะ มา อะโหสิ ภะวาภะเว คำไทยว่าดังนี้...ด้วยอำนาจแห่งทานนี้ ขอความยากจนเข็ญใจอย่าได้มีแก่ข้าพเจ้า ขอให้ข้าพเจ้าอย่าได้ยินได้ฟังคำว่า “ไม่มี” ทุกภพทุกชาติเทอญ
นี่คือส่วนหนึ่งเป็นการปูพื้นเพื่อให้เห็นภาพรวมว่า วิถีชีวิตสงฆ์เป็นที่ปรากฏตัวของพระพุทธศาสนา...ต่อให้สร้างโบสถ์วิหารศาลามหาเจดีย์มโหฬารอลังการเต็มไปทั้งแผ่นดิน ถ้าไม่มีพระภิกษุสามเณรปรากฏตัวอยู่ในสังคม สิ่งเหล่านั้นทั้งหมดก็เท่ากับสิ่งที่ตายซาก อย่างดีก็เอาไว้ให้เดินดูเล่น แต่ไม่มีชีวิตจริง
“ชีวิตจริงของพระพุทธศาสนาอยู่ที่มีผู้เข้ามาครองชีวิต ดำรงชีวิตและดำเนินชีวิต...ตามวิถีชีวิตสงฆ์ ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงวางแบบแผนเอาไว้ อันมีศีลเป็นพื้นฐาน”
พระละเมิดศีล ต้องอาบัติ วิถีชีวิตสงฆ์ก็วิบัติ...การละเมิดศีลจึงเป็นการทำลายพระศาสนา การช่วยให้พระไม่ต้องอาบัติ...คือการช่วยพระไม่ให้ละเมิดศีล จึงเป็นการรักษาพระศาสนาโดยตรง เป็นบุญเป็นมหากุศลที่มีอานิสงส์แรงล้ำเลิศ แต่เป็นบุญที่คนไทยลืมคิด ลืมมอง และลืมทำ
...
“แม้จะทำบางอย่าง เช่น ใส่บาตรทุกเช้า (ช่วยให้พระสงฆ์ไม่ต้องอาบัติเพราะหุงต้มฉันเอง) แต่ก็ไม่รู้ตัว มิหนำซ้ำมีการเอาเงินใส่บาตร ทำให้พระศีลขาด ต้องอาบัติ ทำลายพระศาสนาโดยไม่รู้ตัว คงมองภาพออกแล้ว ว่าอะไรเป็นอะไร อะไรควรเป็นอะไร หรืออะไรไม่ควรเป็นอะไร” พลเรือตรี ทองย้อย ทิ้งท้าย
“หอฉัน” คืออาคารที่ใช้เป็นที่นั่งฉันภัตตาหารเช้าและภัตตาหารเพลของพระภิกษุสามเณร ทุกวัดจะมีหอฉันเพื่อให้พระภิกษุสามเณรได้ฉันภัตตาหารร่วมกันเป็นสถานที่เดียวกัน อาจจะมีบางวัดที่ไม่จำเป็นต้องมีหอฉันเพราะมีสถานที่อื่นภายในวัดรองรับกันอยู่
อีกอย่างหนึ่ง เมื่อมีสถานที่ดังกล่าวแล้วก็สามารถเป็น “จุดรวม” ของพุทธศาสนิกชนที่จะมาทำบุญในวัดนั้นๆ เพราะทุกวันไม่ว่าจะเป็นเช้าหรือเพล พุทธศาสนิกชนก็สามารถมุ่งตรงมาทำบุญสถานที่ตรงนั้นได้ ทั้งยังเป็นจุดศูนย์รวมในข้อวัตรปฏิบัติที่พระภิกษุสามเณรจะได้มีกิจกรรมร่วมกัน สร้างความสามัคคีก่อให้เกิดศรัทธา
แต่...วัดบางไส้ไก่ยังไม่มี “หอฉัน” เช่นนั้นเลย พระครูจินดาสุตานุวัตร (พระมหาสมัย จินฺตโฆสโก) ประธานมูลนิธิกลุ่มแสงเทียน เจ้าอาวาส บอกว่า ทางวัดจึงมีโครงการก่อสร้างเสนาสนะเป็นศาสนวัตถุอันสำคัญไว้ในพระพุทธศาสนาในระยะยาว นับตั้งแต่มีอุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอระฆัง หอกลอง ศาลาราย ฯลฯ
...
วัดบางไส้ไก่ เป็นวัดเล็กๆที่มีภูมิประเทศล้อมรอบไปด้วยสถานศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงอุดมศึกษา มีชุมชนอยู่รอบด้านซึ่งเป็นอาคารบ้านเรือนของประชาชน ที่ผ่านมาได้ก่อสร้างกุฏิสงฆ์หลังใหม่แทนหลังเก่าที่ได้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 1 หลัง จำนวน 21 ห้อง
เริ่มเมื่อกลางปี 2563 ถึงวันนี้คืบหน้าไปแล้ว 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ยืนยันว่าจะเสร็จสมบูรณ์เมื่อใด เพราะที่ผ่านมาการก่อสร้างล้วนอาศัยประชาชนผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคปัจจัยตามมีตามเกิด มีบ้าง...ไม่มีบ้าง ถ้าช่วงใดมีผู้ร่วมบริจาคมาสมทบก็สามารถสร้างต่อไปได้ แต่ช่วงใดไม่มีผู้บริจาคมาก็จะพักการก่อสร้างไว้ก่อน
จึงใช้เวลาล่วงเลยมาถึง 4 ปีแล้ว...อีกต่อไปในวันข้างหน้าก็จะรับพระ ภิกษุสามเณรเข้ามาศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัย ปฏิบัติธรรม เผยแผ่ธรรมะจะได้มีศาสนทายาทต่อไป รวมถึงเป็นศูนย์ในการสงเคราะห์ช่วยเหลือประชาชนผู้ตกทุกข์ได้ยากตามหลักการบริหารของคณะสงฆ์ที่แต่ละวัดได้ดำเนินการอยู่ในขณะนี้
วกกลับมาที่โครงการสร้าง “หอฉัน” จะเป็นอาคารเล็กๆ ขนาดกว้าง 7 เมตร ยาว 14 เมตร ตั้งงบไว้ที่ 3 ล้านบาท ใช้เวลา 3 ปี...เริ่มสร้างไปเมื่อ เดือนที่แล้ว แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะสร้างเสร็จและสามารถใช้ประโยชน์ได้ เมื่อใดเช่นกัน เพราะขึ้นอยู่กับกำลังศรัทธาผู้มาร่วมทำบุญ
...
“ถ้าหากมีปัจจัยในการก่อสร้างที่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคสมทบมา อานิสงส์หรือผลที่พลอยได้ในระยะยาวคือ พระภิกษุสามเณรมีอาคารสถานที่ฉันภัตตาหารเช้าและเพลพร้อมกันที่แห่งเดียวกันภายในวัดบางไส้ไก่ เป็นจุดที่ชาวพุทธจะได้ทำบุญด้านภัตตาหารแก่พระภิกษุสามเณรอย่างทั่วถึงและเหมือนกันหมด”
การสร้างหอฉัน ซึ่งเป็นศาสนวัตถุ มีอานิสงส์สำคัญคือผลที่ได้รับจากประโยชน์ในระยะยาว ส่วนผู้ร่วมบริจาคจะได้ชื่อว่าเป็นชาวพุทธที่ให้ความอุปถัมภ์ค้ำจุนพระพุทธศาสนา จะได้มีโอกาสสร้างสิ่งที่ระลึกให้กับบิดา มารดา เป็นอนุสรณ์แก่บุตรหลานและวงศ์ตระกูลของตนเอง
ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคปัจจัยสมทบได้ที่บัญชี “วัดบางไส้ไก่” ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาเจริญพาศน์ ประเภทสะสมทรัพย์ เลขที่บัญชี 126-0-89146-8 ตามกำลังและศรัทธา แจ้งข้อมูลการบริจาคมาทางไลน์ 06-3232-3874 โทรสาร 0-2472-4212 โทรศัพท์ 0-2466-1484 ได้ทุกวันไม่มีวันหยุด
หรือติดต่อเพื่อดูสถานที่ก่อสร้างด้วยตนเองที่วัดบางไส้ไก่ ซอยมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ถนนอิสรภาพ ซอย 15 แขวงหิรัญรูจี เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร
“วัดบางไส้ไก่...ไม่มีการมอบหมายให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งไปเชิญชวน หรือเรี่ยไรตามอาคารบ้านเรือน สถานที่ทำงานหรือที่สาธารณะแต่ประการใด (ป้องกันการแอบอ้างชื่อไปเรี่ยไร) ติดต่อด้วยตัวท่านเองที่เจ้าอาวาสวัดบางไส้ไก่โดยตรงเท่านั้น” พระครูจินดาสุตานุวัตรกล่าวทิ้งท้าย.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม