“ทักษะทุนชีวิต” คือความสามารถด้านสมรรถนะที่เด็กเยาวชนและประชากรวัยแรงงานจำเป็นต้องมี เพื่อเผชิญกับความท้าทายและใช้ประโยชน์จากโอกาสในศตวรรษที่ 21
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และธนาคารโลก เปิดผลวิจัยน่ากังวล พบคนไทยถึง 75% มีทักษะทุนชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์... รู้หนังสือ ทันดิจิทัล จัดการอารมณ์และสังคม
ถือเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจมูลค่าถึง 3.3 ล้านล้านบาทหรือ 20% ของจีดีพี สูงกว่างบภาครัฐปี 65 (3.1 ล้านล้านบาท) ต้องเร่งลงทุนเพื่อเสริมสร้างทักษะทุนชีวิต เพิ่มรายได้...ออกจากกับดักรายได้ปานกลาง
โคจิ มิยาโมโตะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสด้าน Global Practice ธนาคารโลก นำเสนอผลวิจัยสะท้อนว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤติทักษะทุนชีวิต คล้ายกับหลายๆประเทศในภูมิภาคนี้คือ มีสัดส่วนที่ใหญ่มากของเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีทักษะทุนชีวิตต่ำกว่าเกณฑ์
“กลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีความสามารถในการอ่านหนังสือขั้นพื้นฐานและการคำนวณอย่างง่ายๆ และไม่แสดงออกว่า จะสามารถมีส่วนร่วมกับผู้อื่นหรือเปิดกว้างรับแนวคิดใหม่ๆ”
...
น่าสนใจว่า เกือบสองในสาม (ร้อยละ 64.7) ของประชากรเยาวชนและผู้ใหญ่ใน “ประเทศไทย” มีทักษะด้านการรู้หนังสือที่ต่ำกว่าเกณฑ์ หมายความว่า...กลุ่มบุคคลเหล่านี้ไม่สามารถที่จะอ่านและเข้าใจข้อความสั้นเพื่อแก้ปัญหาง่ายๆ เช่น การทำตามฉลากยา
ขณะที่จำนวนสามในสี่ (ร้อยละ 74.1) ของประชากรเยาวชนและผู้ใหญ่ มีทักษะทุนชีวิตด้านดิจิทัลที่ต่ำกว่าเกณฑ์ หมายความว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้ประสบปัญหาในการใช้อุปกรณ์ชี้ตำแหน่งและแป้นพิมพ์บนคอมพิวเตอร์พกพาและไม่สามารถทำงานง่ายๆ เช่น การค้นหาราคาที่ถูกต้องของสินค้าจากเว็บไซต์สินค้าออนไลน์
ยิ่งไปกว่านั้น ร้อยละ 30.3 ของเยาวชนและผู้ใหญ่ มีทักษะรากฐานทางอารมณ์และสังคมที่ต่ำกว่าเกณฑ์ หมายความว่า กลุ่มบุคคลเหล่านี้ไม่มีแนวโน้มที่จะคิดริเริ่มเพื่อสังคมหรือมีความกระตือรือร้นอยากรู้อยากเห็นและมีจินตนาการ ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่ช่วยให้ผู้คนรับมือและประสบความสำเร็จในที่ทำงาน
นับรวมไปถึงทักษะทางอารมณ์และสังคม ซึ่งช่วยให้บุคคลสามารถผ่านความไม่แน่นอน ความเสี่ยงและความตื่นตระหนกในชีวิตประจำวัน รวมถึงการระบาดโรคภัยและภัยธรรมชาติที่ประเทศไทยมักประสบ
ที่สำคัญงานวิจัยนี้ยังพบด้วยว่า ประเทศไทยมีประชากรเยาวชนและผู้ใหญ่เกือบหนึ่งในห้า (ร้อยละ 18.7) ที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ เพราะขาดทักษะทุนชีวิตทั้งสามด้าน
“การขาดทักษะหลายๆด้านนั้น หมายความว่าบุคคลนั้นแทบจะไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตนเองเลย และมีแนวโน้มว่า จะเหลือเพียงทางเลือกที่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้อื่น เพื่อชดเชยวิกฤติด้านทักษะ
ประเด็นนี้อาจก่อให้เกิดความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะก้าวไปเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ลดความเหลื่อมล้ำ และปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม”
อีกข้อมูลสำคัญพบด้วยว่า ร้อยละ 70 ของผู้ที่อยู่ในชนบท มี ระดับการรู้หนังสือต่ำกว่าเกณฑ์...ร้อยละ 80 ของผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีระดับทักษะด้านดิจิทัลต่ำกว่าเกณฑ์...ร้อยละ 60 ของผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี และมีการศึกษาไม่ถึงระดับอุดมศึกษา มีระดับการรู้หนังสือต่ำกว่าเกณฑ์
นอกจากนี้ วิกฤติด้านทักษะถูกพบมากในกลุ่มผู้ที่อยู่ในพื้นที่ชนบทอาศัยอยู่ในภาคเหนือและภาคใต้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และมีการศึกษาไม่ถึงระดับอุดมศึกษา...ร้อยละ 89 ของผู้ที่อยู่ในภาคเหนือ มีระดับการรู้หนังสือต่ำกว่าเกณฑ์ และ...ร้อยละ 84 ของผู้ที่อยู่ภาคใต้มีระดับทักษะด้านดิจิทัลต่ำกว่าเกณฑ์
...
“โอกาสทางการศึกษาที่สูงเท่านั้นที่จะทำให้เด็กพัฒนาและผ่านการจนข้ามรุ่น”
รองศาสตราจารย์ดารณี อุทัยรัตนกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนาครูสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ว่า
“ครูไม่ขาด แต่อยู่ไม่ถูกที่”
ในประเทศไทยมีโรงเรียนขนาดกลางและขนาดเล็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่สามารถควบรวมได้ราวๆ 1,500 แห่งทั่วประเทศ และเรียกโรงเรียนกลุ่มนี้ว่า Protected school เพราะยุบไม่ได้ ต้องป้องกัน ทำทุกวิถีทางเพื่อให้อยู่รอด และมีคุณภาพ ทั้งเกาะแก่ง พื้นที่สูง ชายแดน พื้นที่เสี่ยงภัย... ทั้ง 4 พื้นที่นี้ มีโรงเรียนและมีเด็ก
แม้ว่าทุกๆปีจะมีครูไปบรรจุอยู่ตามโรงเรียนกลุ่มนี้ แต่พอครบกำหนดก็จะขอย้ายกลับไปบ้านเกิดตัวเอง ซึ่งตรงนี้จากประสบการณ์ที่อยู่วงการศึกษามาไม่ต่ำกว่า 40 ปี ทำให้เข้าใจอย่างที่สุด
“ครูย้ายเพราะไม่ใช่บ้านเกิดของเค้า มันอยู่ไม่ได้ทั้งวิถีชีวิต วัฒนธรรม ภาษา คนอยากเป็นครูเพราะอยากเป็นข้าราชการ เพราะฉะนั้นตอนแรกสอบได้ที่ไหนไปที่นั่นเพื่อเอาตำแหน่งไว้ก่อน
...
ดังนั้น...โรงเรียนกลุ่มนี้ครูย้ายบ่อยมากก็จะขาดครู บางที่ไม่มี ผอ.เป็นปีๆ บางที่มี ผอ.คนเดียวกับภารโรง เพราะครูย้ายออก สพฐ.ก็บรรจุครูคืนให้ไม่ทัน”
เรื่องครูไม่ครบชั้นกลายเป็นปัญหาพื้นฐานของเกือบทุกโรงเรียน อาจารย์ดารณีมองโลกในแง่จริงด้วยการหวังให้ผลผลิตครูรัก (ษ์) ถิ่น สอนแบบ “ควบ” หรือ “บูรณาการ” การเรียนการสอนให้เหมาะกับพื้นที่
และ...ไม่ใช่สอนแบบขอไปทีตามมีตามเกิด
“ไม่ใช่ได้ครูอะไรไปก็สอน ครูจบพละไปสอนเลข สอนวิทย์ ขอให้มีครู ถึงแม้ว่าเด็กจะอยู่ต่างจังหวัดแต่เค้าเกิดมาพร้อมศักยภาพสูงที่สูงมาก เราต้องเกื้อหนุนให้การศึกษาที่มีคุณภาพกับเค้า ไปกระตุ้นศักยภาพที่มีอยู่ภายในตัวเค้า”
ในพระราชบัญญัติ กสศ. มาตรา 14 กำหนดไว้ว่า กสศ.จะต้องดำเนินการหรือจัดให้มีการศึกษาวิจัย หรือค้นคว้าแนวทางในการพัฒนาครู “ครูรัก (ษ์) ถิ่น” จึงได้ตัดริบบิ้นรุ่นแรกเมื่อ 4 ปีที่แล้ว...นี่คืออีกหนึ่งจิ๊กซอว์สำคัญชิ้นหนึ่งที่ต้องเติมเต็ม
...
“ประเทศไทย” ได้รับการจัดอันดับเข้าสู่กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 หรือกว่า 48 ปีมาแล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังคงติดอยู่ในสถานะที่ทางธนาคารโลกเรียกว่า “กับดักรายได้ปานกลาง” อยู่ จำเป็นจะต้องมีรายได้ต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้นอีกราว 40% เพื่อก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศรายได้สูงได้สำเร็จ
การก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลางมีข้อเสนอนโยบายต่อรัฐบาล 3 ด้าน ได้แก่ 1.การเร่งลงทุนเพื่อเสริมสร้างทักษะทุนชีวิต ด้วยการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ที่มีอยู่ในทุกระดับการศึกษา และการฝึกอบรมพัฒนาประชากรวัยแรงงานอย่างเสมอภาค โดยเฉพาะประชากรกลุ่มที่เปราะบาง
การมีทักษะทุนชีวิตนี้เพิ่มขึ้นในประชากรวัยแรงงานของไทย ถือเป็นตัวชี้วัดสำคัญ
2.การสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ให้ทุกภาคส่วนในสังคมไทยร่วมมือกันสนับสนุนการพัฒนาทักษะทุนชีวิตของเด็กเยาวชน...ประชากรวัยแรงงานทุกๆคน เพื่อให้เกิดระบบนิเวศที่สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน
3.การลงทุนในทุนมนุษย์อย่างทักษะทุนชีวิต รวมทั้งการลงทุนในมาตรการอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนข้ามรุ่น
ทั้งหมดเหล่านี้คือความท้าทายที่สำคัญยิ่ง...กับรากฐานความมั่นคง “ประเทศไทย”.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม