สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานข้อมูลพยากรณ์ปริมาณการผลิตไม้ผลภาคเหนือ ลำไยและลิ้นจี่ ปี 2567 ในพื้นที่ภาคเหนือ พบว่า ลำไย ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ (เชียงราย พะเยา ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ ตาก แพร่ และน่าน) มีเนื้อที่ให้ผลลดลงเล็กน้อย 1.243 ล้านไร่ ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 0.10
เนื่องจากเกษตรกรโค่นลำไยเพื่อเปลี่ยนไปปลูกทุเรียน ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สร้างที่อยู่อาศัย
แต่จะมีผลผลิตประมาณ 1.047 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร้อยละ 10.24 แบ่งเป็นลำไยในฤดู 0.702 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.04 ลำไยนอกฤดู 0.344 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.73 โดยมีผลผลิตต่อเนื้อที่เฉลี่ยอยู่ที่ไร่ละ 842 กก. เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 10.35
เนื่องจากราคาลำไยปีที่แล้วอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษาต้นลำไย จัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอเพื่อรับมือกับสภาพอากาศร้อนและราดสารโปแตสเซียมคลอเรตเพื่อชักนำการออกดอก ประกอบกับภาครัฐส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตลำไยคุณภาพและเกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่มาทำลำไยนอกฤดูมากขึ้น
ทั้งนี้ลำไยในฤดูจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่ มิ.ย.–ก.ย. โดยออกสู่ตลาดมากช่วง ส.ค. ร้อยละ 38.72 หรือ 4.05 แสนตัน
สำหรับลิ้นจี่ 4 จังหวัดภาคเหนือ (เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ และน่าน) มีเนื้อที่ให้ผล 7.30 หมื่นไร่ ลดลงจากปี 2566 ร้อยละ 2.86 เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น ให้ผลผลิตรวม 2.72 หมื่นตัน ลดลงจากปี 2566 ที่มีปริมาณผลผลิต 3.32 หมื่นตัน ลดลงร้อยละ 18.14 ได้ผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยอยู่ที่ 372 กก. ลดลงร้อยละ 15.84 เนื่องจากในปีนี้สภาพอากาศร้อนสลับหนาว และอากาศหนาวเย็นไม่เพียงพอ ทำให้ลิ้นจี่บางส่วนแตกใบอ่อนแทนการออกดอก ประกอบกับหลายปีที่ผ่านมา เกษตรกรไม่ดูแลรักษา เนื่องจากลิ้นจี่เป็นพืชที่ดูแลยาก ทำให้ต้นไม่สมบูรณ์ ช่อดอกไม่สามารถพัฒนาเป็นผลได้
...
ปีนี้ลิ้นจี่จะแทงช่อดอกช้าคาดว่าปี 2567 จะมีผลผลิตลิ้นจี่ออกสู่ตลาดตั้งแต่ เม.ย.–พ.ค. และจะออกสุดมากในช่วง พ.ค.–มิ.ย. ประมาณร้อยละ 93.03 หรือ 2.53 หมื่นตัน.
สะ–เล–เต
คลิกอ่าน "หน้ามองฟ้า เท้าหยั่งดิน" เพิ่มเติม