ทำไมมหาวิทยาลัยไทยถึงไม่ติดอันดับสูงๆในการจัดอันดับมหาวิทยาลัย (ranking) ในระดับโลก?

มหาวิทยาลัยไทยก้าวไม่ทันยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงจริงหรือ?

คำถามและข้อข้องใจจากหลายฝ่ายถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยในระบบอุดมศึกษาในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในมุมมองที่ว่ามหาวิทยาลัยไทยพัฒนาก้าวไม่ทันกับโลกที่เปลี่ยนไปบ้าง ผลิตคนไม่ตรงตามความต้องการของประเทศบ้าง รวมถึงการจัดอันดับมหาวิทยาลัย (ranking) ไม่ดีขึ้นบ้าง หลักสูตร ไม่ทันสมัยบ้าง คุณภาพการศึกษาที่ลดลงบ้าง

แน่นอน สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่คนในอุดมศึกษารับฟังมาทั้งจากภาคเอกชน หน่วยงานผู้ใช้บัณฑิต รวมถึงนักการเมืองที่ทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณ ถึงแม้ว่าสิ่งที่กล่าวมานี้จะมีส่วนถูกอยู่บ้าง แต่การมองการพัฒนาอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยไทยนั้น อาจต้องมองในมิติอื่นๆด้วย

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของโลกและเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็ว ความต้องการกำลังคนและทักษะต่างๆก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วย ขณะที่อุดมศึกษาไทยก็ต้องปรับเปลี่ยนให้สอดรับกับสถานการณ์ ซึ่งที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยไทยก็มีการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในบางเรื่องก็สะท้อนให้เห็นพัฒนาการและการปรับตัวของมหาวิทยาลัยไทย

...

“ในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา อุดมศึกษาไทยได้มีการปรับตัวไปอย่างมาก ทั้งการออกเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรใหม่ปี 2565 ที่ช่วยให้การออกแบบหลักสูตรมีความยืดหยุ่นสูง สามารถทำกับองค์กรภายนอกในการออกแบบหลักสูตร การจัดการเรียนการสอนร่วมกับฝั่งผู้ใช้ เป็น demand driven มากขึ้น/การจัดทำระเบียบ คลังหน่วยกิตแห่งชาติและการเทียบโอนหน่วยกิต ที่นับว่าทันสมัยมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ การมีระเบียบหลักสูตร sandbox ที่สามารถทำหลักสูตรที่ไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามมาตรฐานอุดมศึกษา แต่ต้องผลิตกำลังคนในสาขาที่มีความจำเป็นของประเทศอย่างเร่งด่วนหรือแม้กระทั่งการแบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัย เพื่อให้การพัฒนาทางวิชาการมีความเฉพาะด้านมากขึ้น ลดความซ้ำซ้อนลง” น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงการปรับตัวของระบบอุดมศึกษาไทยเพื่อให้สอดคล้องกับโลก

รมว.อว. ยังฉายภาพให้เห็นในเรื่องของการจัดอันดับหรือ ranking ของมหาวิทยาลัยไทยที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า ในความเป็นจริงถึงแม้ว่าจะยังไม่มีมหาวิทยาลัยไทย ติดระดับต้นๆของโลก ทั้งใน QS และ Time Higher Education (THE) ที่เป็นระบบการจัดอันดับที่อ้างอิงกันมาก แต่ในอีกมุมหนึ่งจำนวนของมหาวิทยาลัยไทยที่ได้รับการจัดอันดับในทั้ง 2 ระบบนี้ มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่นใน QS มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับเพิ่มขึ้นจาก 10 แห่งเป็น 13 แห่งในปีนี้และใน THE มหาวิทยาลัยไทยได้รับการจัดอันดับเพิ่มขึ้นจาก 23 แห่งเป็น 28 แห่งในการจัดอันดับรายสาขาวิชาหรือ ranking by subject ที่บอกว่ามีสาขาวิชาในมหาวิทยาลัยไทย สาขาวิชาไหนติดอันดับโลกบ้าง ก็มีทิศทางที่ดี มีจำนวนรายสาขาตามมหา วิทยาลัยต่างๆที่ติดอันดับโลกเพิ่มมากขึ้นในระบบ QS จำนวนรายสาขาวิชาที่ติดอันดับเพิ่มขึ้นจาก 97 เป็น 104 สาขาวิชา ในขณะที่การจัดอันดับของ THE จำนวนรายสาขาที่ติดอันดับเพิ่มขึ้นจาก 86 เป็น 97 สาขาวิชาและมีหลายสาขาวิชาที่ติดอันดับต้นๆใน top 100 หรือ top 200 ของโลก

“แต่ที่น่าสนใจมากกว่าคือการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่เรียกว่า impact ranking ของ THE ที่เป็นการประเมินมหาวิทยาลัยที่ทำงานเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาสังคมใน 17 เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนหรือ SDG Goals ของสหประชาชาติ ที่มหาวิทยาลัยไทยได้รับการจัดอันดับจำนวนมาก เพิ่มขึ้นจาก 52 แห่ง เป็น 65 แห่ง ในปี 2023 ซึ่งนับว่า เป็นประเทศที่มีมหาวิทยาลัยติดอันดับมากเป็นลำดับต้นๆของโลกก็ว่าได้ มีมหาวิทยาลัยในทุกกลุ่มที่ได้รับการจัดอันดับในกระดานนี้ ทั้งมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล มหาวิทยาลัยราชภัฏ และมหาวิทยาลัยเอกชน ถึงแม้ว่าการจัดอันดับในกระดานนี้จะไม่ได้สะท้อนความเป็นเลิศทางวิชาการมากนัก แต่การที่จะติดในกระดานนี้ได้ มหาวิทยาลัยต้องมีพื้นฐานในการทำงานวิจัย งานวิชาการเพื่อการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน จึงสะท้อนให้เห็นว่า มหาวิทยาลัยไทยในภาพรวมทำงานร่วมกับสังคม ชุมชน ท้องถิ่นเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นจุดแข็งของอุดมศึกษาไทย ซึ่งหากลองไปติดตามงานของมหาวิทยาลัยต่างๆ จะเห็นได้ว่า แทบทุกมหาวิทยาลัยมีพื้นที่ทำงานร่วมกับชุมชน ท้องถิ่นต่างๆ ทั้งการเข้าไปบริการวิชาการ ถ่ายทอดเทคโนโลยี พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการชุมชน การยกระดับคุณภาพชีวิต เป็นต้น” น.ส.ศุภมาส กล่าว

...

ขณะที่ ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. รับผิดชอบงานด้านอุดมศึกษา เล่าว่า สิ่งที่เป็นตัวบ่งบอกที่สำคัญว่ามหาวิทยาลัยไทยเป็นที่พึ่งพาให้กับสังคมชุมชนท้องถิ่นคือโครงการต่างๆ จำนวนไม่น้อยของทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ลงไปเพื่อการพัฒนาพื้นที่ จะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่นั้นๆ เช่น โครงการพัฒนาอาชีพ การพัฒนาการเกษตร การยกระดับ OTOP การพัฒนา SMEs การจัดการน้ำ การดูแลสุขภาพชุมชน เป็นต้น ทั้งนี้เพราะมหาวิทยาลัยมีทั้งองค์ความรู้ เทคโนโลยี กำลังคนและทรัพยากรอื่นๆ แต่ที่สำคัญ มหาวิทยาลัยไทยมีการปลูกฝังว่าการพัฒนาสังคมและชุมชน เป็นภารกิจที่สำคัญเช่นเดียวกับการเรียนการสอนการวิจัย เช่น มหาวิทยาลัยในกลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและชุมชนอื่น อย่างมหา วิทยาลัยราชภัฏ ก็แทบจะเรียกว่าการทำงานกับพื้นที่เป็นดีเอ็นเอของมหาวิทยาลัยเลยก็ว่าได้

นั่นน่าจะเป็นบทสรุปว่า จุดแข็งของมหาวิทยาลัยไทยคือการทำงานร่วมกับสังคม ชุมชน ท้องถิ่น

“ทีมข่าวอุดมศึกษา” มองว่า มหาวิทยาลัยไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการพลิกเอาจุดแข็งคือทำงานร่วมกับสังคม ชุมชน ท้องถิ่น มาเป็นพลังในการขับเคลื่อนพร้อมดึงทุกภาคส่วนแบบจตุภาคีทั้งสถาบันอุดมศึกษา ภาครัฐ ภาคเอกชนและชุมชน เข้ามาร่วม

...

แม้อาจจะยังมีหลายส่วนที่ยังเป็นปัญหาที่ต้องมีการปรับปรุงเพื่อให้ก้าวทันกับโลกที่เปลี่ยน แปลงไป

แต่การสร้างจุดแข็งให้มหาวิทยาลัยทำงานร่วมกับสังคม ชุมชน ท้องถิ่นคือรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนและมั่นคงเพื่อสู้กับโลกได้อย่างไม่อายใคร.

ทีมข่าวอุดมศึกษา

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่

...