การประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สัปดาห์ที่ผ่านมาประเทศไทยมีฝนมากขึ้นจากอิทธิพลหลายปัจจัย ทั้งความกดอากาศสูงจากประเทศจีน หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณตอนกลางของประเทศ และลมใต้ที่พัดความชื้นเข้ามา ส่งผลให้มีฝนตกในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไปจนถึงภาคตะวันออก โดยเฉพาะ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี มีปริมาณฝนสะสมสูงสุดในรอบสัปดาห์มากถึง 228 มิลลิเมตร ส่งผลให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน
สำหรับภาพรวมของสถานการณ์น้ำในขณะนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางที่มีน้ำน้อยได้มีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่ช่วงต้นฤดูแล้ง แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงพบว่ามีการเพาะปลูกข้าวนาปรังเกินกว่าแผน ทำให้มีการจัดสรรน้ำเกินแผนที่วางไว้ แต่ยังคงอยู่ในปริมาณที่ควบคุมและบริหารจัดการได้
โดยจะมีการเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณาในเรื่องการปรับแผนการจัดสรรน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งนี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงมีการรณรงค์งดการเพาะปลูกข้าวนาปรังรอบที่ 2 อย่างต่อเนื่อง นอกจากจะเพื่อลดผลกระทบต่อแผนจัดสรรน้ำแล้ว ยังมีผลดีในการเว้นระยะสำหรับบำรุงรักษาดินเพื่อใช้สำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปีในฤดูถัดไป
พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างจะมีการส่งเสริมการเพาะปลูกข้าวนาปีตั้งแต่ 1 พ.ค.นี้ เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวได้เร็วยิ่งขึ้น ป้องกันความเสียหายจากปริมาณฝนมากจากสภาวะลานีญาในช่วงฤดูฝนนี้
และขณะนี้ใกล้สิ้นสุดฤดูแล้ง สภาวะเอลนีโญกำลังปานกลางในประเทศไทยจะอ่อนกำลังลงอย่างรวดเร็ว ก่อนจะเปลี่ยนเป็นสภาวะลานีญาในช่วงเข้าสู่ฤดูฝนประมาณเดือน มิ.ย.
จากการประเมินและคาดการณ์แนวโน้มของสถานการณ์ลานีญาร่วมกับหน่วยงานที่คาดว่าปริมาณฝนในช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงนี้ จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้แก่อ่างฯน้ำน้อยต่างๆ ให้มีสถานการณ์ดีขึ้น.
...
สะ–เล–เต
คลิกอ่าน "หน้ามองฟ้า เท้าหยั่งดิน" เพิ่มเติม