เป้าหมายที่ 3 ของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ว่าด้วยสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ในเป้าประสงค์ที่ 3.6 คือการลดจำนวนการตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนทั่วโลก เป็นเป้าหมายที่ประเทศไทยยังคง “สอบตก” เพราะไม่สามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย คือการลดอุบัติเหตุทางถนนลง 50% ได้ โดยเฉพาะการตายจากการใช้จักรยานยนต์ ที่ไทยยังคงครองแชมป์ต่อเนื่องสูงสุดอันดับหนึ่งของโลก

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางถนนจากจักรยานยนต์สูงถึง 74% หรือประมาณเกือบ 15,000 ราย จากทั้งหมด 2 หมื่นกว่ารายต่อปี และมีแนว โน้มเพิ่มขึ้นทุกปี แม้ว่าจะมีการขับเคลื่อนมาตรการด้านความปลอดภัยทางถนน โดยความร่วมมือจากหลายหน่วยงานมาโดยตลอดก็ตาม

ปัญหาดังกล่าว มาจากหลายปัจจัยที่ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นข้อจำกัดของทางเลือกในการเดินทางที่ปลอดภัยและราคาที่จับต้องได้ ทำให้จักรยานยนต์กลายเป็นทางเลือกหลักในการเดินทาง ปัจจุบันมีรถจักรยานยนต์จดทะเบียนสะสมเกือบ 22 ล้านคัน ท่ามกลางมาตรการบังคับใช้กฎหมายที่ขาดประสิทธิภาพ

...

ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2565 การไม่ชำระค่าปรับใบสั่งสูงถึง 80% หรือราว 14.3 ล้านใบ จากการออกใบสั่งให้แก่ผู้กระทำผิดคดีจราจรประมาณ 17.9 ล้านใบ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆที่ส่งผลต่อปัญหาความไม่ปลอดภัยของรถจักรยานยนต์ในไทย

การค้นหาปัจจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อหาหนทางแก้ไข จำเป็นต้องอยู่บนรากฐานขององค์ความรู้และการสนับสนุนทางด้านวิชาการที่มีความถูกต้องและน่าเชื่อถือ ซึ่งปัจจุบันองค์ความรู้ที่มีอยู่ก็น่าจะเพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ แต่ในความเป็นจริงอาจเป็นไปได้ว่า องค์ความรู้บางอย่างไม่ได้ถูกนำมาขับเคลื่อนในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

ณิชมน ทองพัฒน์
ณิชมน ทองพัฒน์

ปีที่ผ่านมา ณิชมน ทองพัฒน์ นักวิจัยจาก TDRI ให้ข้อมูลสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของไทยว่า ยังคงติดอันดับ 1 ใน 10 ของ ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุมากที่สุดของโลก ล่าสุดคือประมาณปีที่แล้ว ที่มีรายงานความสูญเสียก็คือคนที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของไทยอยู่ประมาณอันดับที่ 9

ณิชมน มองว่า การเกิดอุบัติเหตุไม่ได้ส่งผลเฉพาะความสูญเสียของชีวิตและทรัพย์สินทางสังคมเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อปัญหาในเชิงเศรษฐกิจ ที่ประเทศต้องสูญเสียแรงงานสูงถึง 2 หมื่นคนต่อปี ที่เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ

พญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์
พญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์

ขณะที่ พญ.ชไมพันธุ์ สันติกาญจน์ อดีตที่ปรึกษาด้านป้องกันการบาดเจ็บและภาวะพิการประจำองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ (Regional advisor WHO SEARO, Ret.) และหัวหน้าโครงการขับเคลื่อนสังคมไทยสู่ผู้ใช้จักรยานยนต์ปลอดภัย บอกว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นประเด็นหนึ่งที่สำคัญในระดับนานาชาติ และแน่นอน ส่วนมากมักเกิดกับผู้ที่ใช้รถจักรยานยนต์และคนเดินเท้าในรูปแบบการชนบนท้องถนนเป็นส่วนมาก

...

จากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า จำนวนผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่มาจากผู้ที่ใช้จักรยานยนต์เป็นหลักโดยสาเหตุเกิดจากปัจจัยตัวบุคคล ได้แก่ การขับรถเร็วเกินที่กฎหมายกำหนด การขับตัดหน้ากระชั้นชิด การหลับในและการเมาสุรา ในขณะที่สาเหตุที่เกิดจากปัจจัยตัวรถและอุปกรณ์คือ ระบบการห้ามล้อที่ขัดข้อง ส่วนสาเหตุที่เกิดจากปัจจัยสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ถนนลื่น การมีฝนตก มีคนเดินตัดหน้ารถ รวมถึงอุปกรณ์อำนวยจราจรซึ่งได้แก่ สัญญาณไฟจราจร ป้ายบอกทางไม่มีความชัดเจน เป็นต้น

อดีตที่ปรึกษาด้านป้องกันการบาดเจ็บและภาวะพิการประจำองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ บอกว่า ในการที่จะลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนนั้น ควรทำความเข้าใจสิ่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางของมนุษย์เสียก่อน เริ่มต้นด้วยนิยามของการขนส่ง การขนส่ง (Transportation) คือ การเคลื่อนย้ายคน (People) สินค้า (Goods) หรือบริการ (Services) จากตำแหน่งสถานที่หนึ่งไปยังอีกตำแหน่งสถานที่หนึ่ง

...

“แม้ว่าประเทศไทยจะได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อขจัดสาเหตุ ที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุจากปัจจัยด้านต่างๆ รวมถึงดำเนินการตามเป้าหมายความปลอดภัยโลกมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วก็ตาม แต่จำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ก็ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้ตีความโดยนัยได้ว่า มาตรการหรือนโยบายที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ไม่สามารถขจัดสาเหตุที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ หรือในอีกแง่หนึ่งอาจใช้มาตรการหรือนโยบายที่ไม่ได้อยู่บนสาเหตุของอุบัติเหตุที่แท้จริง” คุณหมอชไมพันธุ์ตั้งข้อสังเกต พร้อมกับบอกว่า ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่สูงประเทศหนึ่งในโลก จากรายงานความมั่งคั่งโลก (Global Wealth Report) ซึ่งจัดทำโดยเครดิตสวิส (Credit Suisse) สถาบันการเงินผู้ให้บริการจัดการทรัพย์สินของผู้ร่ำรวย ไม่เว้นแต่เหตุการณ์บนท้องถนนก็ยังมีการแสดงถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้อย่างชัดเจน เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทยเป็นผู้มีรายได้น้อยและปานกลางค่อนไปทางน้อยทำให้มีกำลังการซื้อที่น้อย หลายคนมีกำลังซื้อเพียงรถจักรยานยนต์เพื่อใช้ในการเดินทางในชีวิตประจำวัน ซึ่งจากรายงานกรมการขนส่งทางบกแสดงสถิติรถจดทะเบียนที่เป็นรถจักรยานยนต์สูงถึง 22 ล้านคัน

คิดเป็นร้อยละ 52 และเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลประมาณกว่า 10 ล้านคัน คิดเป็นร้อยละ 26 เท่านั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า เหตุใดรถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่ก่อให้เกิดสัดส่วนของผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางถนนสูงที่สุดในประเทศไทย และการตายจากจักรยานยนต์ยังคงสูงที่สุดในโลกด้วย.

คลิกอ่านคอลัมน์ “THE NEW NORMAL” เพิ่มเติม

...