ไทยเบฟตอกย้ำการเป็นองค์กรต้นแบบความยั่งยืนระดับโลก คว้าคะแนนสูงสุด 91 คะแนน จาก 100 คะแนนในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มระดับโลกจากดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) ประจำปี 2023 เป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน และเป็นบริษัทเครื่องดื่มเพียงแห่งเดียวที่ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกกลุ่มดัชนีตลาดเกิดใหม่ในปี 2023
นางต้องใจ ธนะชานันท์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานความยั่งยืนและกลยุทธ์ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือไทยเบฟ เปิดเผยว่า ไทยเบฟตอกย้ำองค์กรต้นแบบด้านความยั่งยืนระดับโลก ที่มุ่งเน้นการสร้างธุรกิจให้เติบโตควบคู่ไปกับการส่งเสริมความยั่งยืนด้วยกลยุทธ์สำคัญด้าน ESG “สรรสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน” (Enabling Sustainable Growth) กับเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่ครอบคลุมทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า
โดยมีกลยุทธ์การดำเนินงานด้านความยั่งยืน 3 ระดับ คือ ภายในองค์กร ความร่วมมือกับพันธมิตร และการสร้างแพลตฟอร์มสาธารณะ มุ่งดำเนินธุรกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง โดยน้อมนำพระปฐมบรมราชโองการของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จะทรง “สืบสาน รักษา และต่อยอดเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน” และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ และเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน
ซึ่งเป้าหมายที่สำคัญด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ทั้งทางตรงและทางอ้อมภายในปี 2583 การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็น 50% การลดอัตราการใช้น้ำต่อหน่วยผลิตภัณฑ์ และการคืนน้ำสู่ธรรมชาติและสังคม (Water Replenishment) 100% รวมไปถึงเพิ่มสัดส่วนวัสดุรีไซเคิล (rPET) ในขวดพลาสติก PET ในด้านของสังคมและธรรมาภิบาล มีการตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มระดับความผูกพันของพนักงานให้มากกว่าหรือเท่ากับ 90% ภายในปี 2573 การเพิ่มสัดส่วนยอดขายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเป็น 80% ภายในปี 2573
นอกจากนี้ ไทยเบฟร่วมมือกับพันธมิตรในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมกับองค์กรเอกชนอีก 8 องค์กร ก่อตั้งเครือข่ายธุรกิจห่วงโซ่อุปทานแห่งประเทศไทย (Thailand Supply Chain Network หรือ TSCN) ขึ้นในปี 2562
ในด้านความร่วมมือกับชุมชน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด ร่วมมือกับเทศบาลท้องถิ่นและพันธมิตร ริเริ่ม “โครงการสมุยโมเดล” ในปี 2562 โดยร่วมมือกับเทศบาลนครเกาะสมุยและร้านค้าของเก่าในการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วหลังการบริโภค เพื่อลดปัญหาขยะบนเกาะ สร้างรายได้ให้กับผู้ค้าขวดเก่าในท้องถิ่นถึง 10 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ในปี 2566 ได้ขยายผลโครงการสู่เกาะสีชัง และยังมีแผนขยายไปยังเกาะอื่นๆ ได้แก่ เกาะล้าน และเกาะเสม็ด
อีกหนึ่งโครงการหลัก ได้แก่ “ไทยเบฟ รวมใจต้านภัยหนาว” ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 24 ได้แจกผ้าห่มจำนวน 200,000 ผืนต่อปี และเพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นในด้านความยั่งยืน ไทยเบฟได้ใช้ rPET เพื่อผลิตผ้าห่มผืนเขียวรักษ์โลกต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 และนำขวดพลาสติก PET กลับมาสู่กระบวนการรีไซเคิล ผลิตเป็นผ้าห่มได้แล้วทั้งสิ้น 30.40 ล้านขวด
ในด้านการสร้างแพลตฟอร์มสาธารณะ ไทยเบฟยังเป็นผู้ริเริ่มและแกนหลักการจัดงาน Sustainability Expo (SX) ภายใต้แนวคิด “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” จัดเป็นปีที่ 4 มีองค์กรด้านความยั่งยืนจากภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ทั้งในประเทศ และต่างประเทศที่เข้าร่วมกว่า 246 องค์กร นอกจากนี้ Win Win WAR Thailand เป็นรายการที่บ่มเพาะทักษะของผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม (Social Entrepreneurs) และยังได้ขยายผลไปสู่กลุ่มเยาวชนผ่านรายการ Win Win WAR OTOP Junior
นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมา ไทยเบฟยังได้เข้าร่วมการรายงานด้านการจัดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และการรายงานด้านน้ำ (Water Security) ของ Carbon Disclosure Project หรือ CDP ซึ่งเป็นการรายงานด้าน Climate Change ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดทั่วโลก โดยได้รับคะแนนประเมินในระดับ A- ในทั้ง 2 หมวด จากผลการประเมินล่าสุด
ทั้งหมดนี้คือการตอกย้ำการเป็นองค์กรต้นแบบความยั่งยืนระดับโลกมาอย่างต่อเนื่องด้วยการได้รับคะแนนสูงสุด 91 คะแนน จาก 100 คะแนนในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มระดับโลกจากดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (DJSI) ประจำปี 2023 เป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน พร้อมทั้งได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกในกลุ่มดัชนีโลก (World Index) และกลุ่มดัชนีตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets Index) เป็นปีที่ 7 และ 8 ติดต่อกันตามลำดับ และเป็นบริษัทเครื่องดื่มเพียงแห่งเดียวที่ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกกลุ่มดัชนีตลาดเกิดใหม่ในปี 2023
DJSI ได้ประเมินผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทที่เลือกมา โดยใช้เกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (ESG) 30 ข้อ และในปีนี้ไทยเบฟได้รับคะแนนสูงสุดในมิติการกำกับดูแลและเศรษฐกิจ รวมถึงมิติสังคม และได้คะแนนสูงสุดเป็นอันดับสองในมิติสิ่งแวดล้อมเมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรม