มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวหน้าโครงการวิจัย “การพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคอัจฉริยะที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในเขตภาคเหนือตอนบน” ที่ได้รับทุนวิจัยสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยได้เริ่มดำเนินการพัฒนาร่วมกับ นายแพทย์วรวุฒิ โฆวัชรกุล ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลสันทราย และ ฝ่าข้อมูลสารสนเทศของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ในการพัฒนาระบบการเชื่อมต่อข้อมูลสารสนเทศของผู้ป่วยระหว่างเครือข่ายโรงพยาบาลของรัฐในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่กว่า 30 โรงพยาบาล ตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2563 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ภายใต้ระบบ IHIMS (Integral Health Information Management System) ซึ่งเป็นโครงการวิจัยพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศขนาดใหญ่ที่จังหวัดเชียงใหม่ได้รับงบวิจัยสนับสนุนจาก วช. เช่นเดียวกัน ทำให้สามารถใช้ประโยชน์ในการส่งต่อข้อมูลของผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ ระหว่างเครือข่ายบริการของโรงพยาบาลในจังหวัดเชียงใหม่ได้ ครบถ้วน รวดเร็ว ถูกต้องและแม่นยำมากกว่าเดิม และยังสามารถใช้ประโยชน์ในการนัดหมายส่งต่อผู้ป่วยเพื่อพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางระหว่างโรงพยาบาลลูกข่ายในอำเภอกับในโรงพยาบาลแม่ข่ายในจังหวัดเชียงใหม่ล่วงหน้าได้โดยผู้ป่วยหรือญาติไม่จำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาลใหญ่ด้วยตนเองเพียงเพื่อขอใบนัด พร้อมทั้งสามารถส่งข้อมูลต่างๆ ของผู้ป่วยไปทางระบบเครือข่ายสารสนเทศได้ล่วงหน้าโดยไม่ต้องพิมพ์หรือเขียนประวัติผู้ป่วย การรักษาที่ได้รับ ด้วยลายมือลงในกระดาษเพื่อให้ผู้ป่วยถือไปพบแพทย์เหมือนแต่ก่อน โดยมีการสร้างระบบการป้องกันการแทรกแซงอย่างมั่นคง เข้าได้เฉพาะแพทย์หรือบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยเฉพาะแต่ละรายเท่านั้น
ผลพวงจากการที่มีการเชื่อมต่อข้อมูลการเจ็บป่วยและการวินิจฉัยโรคของผู้รับบริการในเครือข่ายโรงพยาบาลในจังหวัดเชียงใหม่ ได้อย่างทันกาล หรือ Realtime ในปัจจุบัน จึงได้นำมาสู่การใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่หรือ Big Data เพื่อต่อยอดในโครงการวิจัย “การพัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคอัจฉริยะที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในเขตภาคเหนือตอนบน” ในครั้งนี้ การจัดทำ PHS2C Dashboard Version 1.0 เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะ เป็นการดึงข้อมูลสารสนเทศจากแต่ละโรงพยาบาลในเครือข่ายที่มีการปกปิดข้อมูลที่ระบุตัวบุคคล ได้แก่ ชื่อ นามสกุล เลขประจำตัว 13 หลัก ออกไปก่อน และดึงเอาเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับการวินิจฉัยโรค ลักษณะทางประชากร ที่อยู่เป็นระดับตำบลและอำเภอ ชื่อหน่วยบริการ ประเภทของผู้ป่วยนอกหรือใน วันที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและวันจำหน่ายจากโรงพยาบาล เป็นต้น
โดยเน้นเลือกวิเคราะห์ข้อมูลโรคที่มีความสัมพันธ์หรือเป็นผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ กลุ่มโรคระบบหัวใจและสมอง หรือโรคอื่นๆ ที่อาจเกี่ยวข้อง เป็นต้น ทั้งนี้ได้ดึงข้อมูลการวินิจฉัยโรคและข้อมูลตัวแปรสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจากระบบข้อมูลสารสนเทศในโรงพยาบาลเครือข่ายในจังหวัดเชียงใหม่ย้อนหลังได้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งข้อมูลตัวแปรต่างๆ เหล่านี้จะมีการไหลเข้ามาในถังข้อมูลขนาดใหญ่ (Data Lake) แบบอัตโนมัติเป็นรายวัน จึงทำให้ได้ข้อมูลแบบปัจจุบันหรือ Realtime และสามารถมองเห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงปริมาณของจำนวนครั้งของผู้เข้ามารับบริการในแต่ละโรงพยาบาล จำแนกเป็นผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และโรคที่เกี่ยวข้อง ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และยังสามารถเปรียบเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาด้วย ซึ่งผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจเป็นผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับปัญหาหมอกควันหรือสิ่งปนเปื้อนต่างๆ ในอากาศ ระดับอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง ระดับความชื้น ทั้งระดับอำเภอและระดับจังหวัด ซึ่งอาจส่งผลให้มีจำนวนครั้งของการเข้ารับบริการของผู้ป่วยโรคเรื้อรังเพิ่มมากขึ้นกว่าช่วงปกติ ทั้งนี้ ฐานข้อมูลสารสนเทศที่วิเคราะห์ทั้งหมดจะเก็บอยู่ใน SERVER ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ที่มีระบบการป้องกันอย่างแน่นหนาที่สุด
การพัฒนาระบบวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อการติดตามสถานการณ์และผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง 608 เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่างสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กับคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยหวังว่าจะพัฒนาเป็นจังหวัดต้นแบบและสามารถนำไปต่อยอดให้เห็นผลกระทบต่อสุขภาพจากปัจจัยต่างๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่มีแนวโน้มจะวิกฤติเพิ่มมากขึ้นในอนาคต และสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป