ช่วงเวลา ในปี พ.ศ.2478 ที่พระพุทธรูปปูนปั้น ขนาดหน้าตักกว่า 6 ศอก จะถูกนิมนต์ขึ้นรถบรรทุก จากวัดพระยาไกร ย่านยานนาวา มาวัดไตรมิตร ย่านเยาวราช นั้น
ส.พลายน้อย เล่าไว้ในหนังสือ พระพุทธรูปสำคัญในประเทศไทย (เล่ม 1 สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พ.ศ.2545) ว่า สภาพการเคลื่อนย้าย ทุลักทุเลมาก ความสูงขององค์พระติดสายไฟฟ้า ต้องหยุดรถหลายครั้ง หาวิธีแหวกให้ผ่าน
ถึงวัดไตรมิตร หาที่ตั้งได้แล้ว...มีเรื่องเล่า ทางวัดประกาศให้วัดอื่น...มีวัดต่างจังหวัดในเส้นทางรถไฟต้องการ แต่ตรวจสอบแล้วตอนนิมนต์ท่านขึ้นรถไฟ ติดสะพานรถไฟ
สถานการณ์พระปูนใหญ่ จึงดูประหนึ่งต้องอยู่ ในวัดไตรมิตรต่อ
20 ปีต่อมา วันที่ 25 พ.ค.2498 ทางวัดคิดจะขยับขยาย หาที่ให้พระปูนอยู่ใหม่ ขณะพระเคลื่อนที่ ปูนปั้นองค์พระเกิดกะเทาะออกมา เห็นเนื้อในท่านเป็นทอง ทางวัดจึงกะเทาะปูนออกทั้งองค์
แต่เรื่องยังไม่แพร่หลาย จนถึงเดือน ม.ค. พ.ศ.2499 หนังสือพิมพ์ลงข่าว
ท่านเจ้าอาวาสบอกกับนักข่าวว่า ภายในองค์พระทองคำศิลปะสุโขทัย ปางมารวิชัย หน้าตัก 6 ศอก 5 นิ้ว สูง 7 ศอก 1 คืบ 9 นิ้ว สามารถถอดออกได้ 9 ชิ้น
พระพาหาทั้งสอง พระหัตถ์ทั้งสอง พระชงฆ์ทั้งสอง พระเพลาทั้งสอง และที่พระศอ
ภายในองค์พระมีพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนขนาดย่อมๆอยู่ 8 องค์ 5 องค์ชำรุด 3 องค์สมบูรณ์
รายละเอียดในองค์พระทองคำ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนไว้ในคอลัมน์ เก็บเล็กผสมน้อย นสพ.สยามรัฐว่า “ฝีมือช่างนั้น น่าสรรเสริญยิ่งนัก ทุกส่วนตั้งแต่พระเศียรลงมา จนถึงพระเพลา หาที่ติมิได้เลยทีเดียว”
รูปทรงศิลปะ เป็นพระพุทธรูปสุโขทัยหมวดใหญ่ ลักษณะพระพักตร์ยาว คางหยิก สังฆาฏิเป็นเขี้ยวตะขาบทั้งข้างหน้าข้างหลัง นิ้วห้านิ้วมีสั้นมียาวเหมือนนิ้วมนุษย์
...
ผิดกับพระพุทธรูปสุโขทัยหมวดพระพุทธชินราช ซึ่งมีนิ้วพระหัตถ์เสมอกันสี่นิ้ว
นอกจากช่างโบราณ แสดงฝีมืออัศจรรย์ ถอดออกได้เป็นส่วนๆถึงเก้าส่วน เพื่อสะดวกในการโยกย้ายที่ตั้ง และการยกขึ้นตั้งประกอบกันเป็นองค์พระแล้ว
คนโบราณที่โยกย้ายพระไปซุกซ่อน...รู้แน่นอนว่าวันข้างหน้า คนรุ่นลูกหลานจะต้องค้นพบ จึงได้ทำเครื่องอะไหล่ใส่ไว้ในองค์พระด้วย
เครื่องอะไหล่ เริ่มแต่เส้นทองเตรียมไว้สำหรับใส่ตามรอยต่อตามชิ้นส่วนต่างๆ ซึ่งเมื่อขันกุญแจสลักไว้ให้สนิทแล้ว เส้นทองเหล่านั้น จะประสานรอยต่อให้แลดูสนิทเป็นเนื้อเดียวกัน
(ยังไม่รวม ชิ้นมุกขาว และชิ้นนิลดำ ส่วนเป็นพระเนตร)
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์คิดคำนวณจากน้ำหนัก เนื้อทองน้ำเจ็ดสองขา กว่าห้าตันครึ่ง เป็นเนื้อทองคำบริสุทธิ์ราวสองตันครึ่ง ซึ่งจะเรียกได้ว่า
เป็นพระพุทธรูปทองคำที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ในการนิมนต์ท่านเคลื่อนย้ายขึ้นศาลาหลังย่อมครั้งนั้น ทางวัดได้ตัดสินใจ ให้ช่างเชื่อมเก้าชิ้นส่วนให้ติดสนิทเป็นเนื้อเดียวกัน เหตุผลสำคัญ น้ำหนักทั้งองค์ของท่าน คงช่วยป้องกันการโจรกรรมได้ระดับหนึ่ง
คงเป็นความประทับใจ ในเรื่องราวหลวงพ่อทองคำวัดไตรมิตร นี่ล่ะกระมัง ในนิยายดัง เรื่องไผ่แดง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ได้เขียนเรื่องพระปูนปั้นหน้าตาไม่สะสวย ชนิดที่สมภารกร่างไม่อยากมอง บนศาลาวัดไผ่แดง
พระและชาวบ้านเรียกท่านว่าหลวงพ่อเบี้ยว
แล้ววันดีคืนดี หลวงพ่อเบี้ยวก็ได้แสดงปาฏิหาริย์ ทำเอาสมภารกร่างก้มกราบน้ำตาไหล ถ้าเห็นว่าเรื่องนี้น่าจะสนุก วันต่อไป ผมขออาสาเล่าให้ฟัง.
กิเลน ประลองเชิง
คลิกอ่านคอลัมน์ "ชักธงรบ" เพิ่มเติม