“เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” วลีนี้แลดูราวบทกวี แต่จริงๆแล้วมิใช่...หากแต่เป็นทฤษฎีวิทยาศาสตร์บันลือโลกเรียกว่า “บัตเตอร์ฟลายเอฟเฟกต์” หรือ “ผีเสื้อขยับปีก” ที่อุปมาผีเสื้อขยับปีกในบราซิลแล้วไปเกิดทอร์นาโดในรัฐเท็กซัส อเมริกา
เปรียบเปรยได้กับ “การกระทำเล็กๆแต่เกิดผลลัพธ์ยิ่งใหญ่” ตามมา คล้ายสำนวนไทย “ชอบทำเรื่องเล็ก เป็นเรื่องใหญ่”...
จะอะไรเสียอีกเล่า? ถ้าไม่ใช่กรณีคนจากประเทศที่ได้ชื่อว่าแดนสันติภาพอย่างสวิตเซอร์แลนด์ใช้เท้าอวัยวะส่วนต่ำเตะแพทย์หญิงคนเพศเดียวกับมัมมี้ ที่หาดยามู ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ด้วยข้ออ้าง “รุกล้ำ” ที่ “ส่วนบุคคล”...ทั้งที่บริเวณนั้นรุกล้ำชายหาดสาธารณะของคนทั้งแผ่นดินด้วยซ้ำไป!
มหากาพย์บทนี้บานปลายกลายเป็นดอกไม้ที่ถูกเด็ดสะเทือนถึงดวงดาว เมื่อความจริงถูกขุดคุ้ยออกมาจากพรมที่แอบซุกไว้หลายกรณี
เช่น พฤติกรรมที่เป็นภัยต่อความมั่นคงบนแผ่นดินไทย การประกอบอาชีพจนร่ำรวยเทียม “นายหัวภูเก็ต” รวมถึงการวางตัวของตำรวจระดับบิ๊กที่ปล่อยให้คนประเภทนี้แอบอ้างได้
นับรวมไปถึง...การให้กรรมสิทธิ์ถือครองโดยเจ้าหน้าที่แต่ละระดับไม่รู้
หรือรู้...แต่แสร้งเฉยก็ไม่ทราบได้? ด้วยมีปัจจัยทำให้เป็นเช่นนั้น
นอกจากนี้แล้วดอกไม้ที่เด็ดยังสะเทือนถึงดาวอีกหลายๆดวงในภูเก็ต เมื่อโลคัลพีเพิลที่ต่างชาตินายนี้หยามว่าคือชนพื้นเมือง พากันลุกฮือทวงคืนหาดแหลมหงา ต.รัษฎา และหาดนุ้ย ต.กะรน กับหาดอื่นๆที่ตกอยู่ในมือนายทุนอีกมาก
ใช่ดาวจะถูกสอยเช่นภูเก็ต ทว่าน่าจะเป็นน้ำผึ้งเพียงหยดเดียวแล้วลามต่อไปถึงเรือนร้านริมทะเลหัวหินซึ่งรุกล้ำมานาน 30 ปี แต่การร้องเรียนกลับเงียบดังคลื่นกระทบฝั่ง...
...
ไม่ต่างดาวอัปยศริม “หาดแม่พิมพ์” อ.แกลง จ.ระยอง ที่เดิมยกเรือนดอกเห็ดริมหาด 23 ดอก กับเพิงขายอาหารครึ่งร้อยท้ายหาดแบบท้าทายกฎหมายรัฐ
แม่ค้าซาเล้งส้มตำเคลื่อนที่ถนนริมหาดทบทวนว่า...“ร้านพวกนี้เดิมเป็นรถเข็นขายอาหารให้คนมาเที่ยวแล้วปักหมุดไม่ไปไหน ต่อมาถึงยกร้านดอกเห็ดปิดทางลงหาด...
พอจะสิ้นปี 2555 ถูกไฟไหม้หายไปสิบเอ็ดดอกโดยไม่อนุญาตให้สร้างใหม่ สิบสองร้านที่เหลือให้ทำต่อแต่มีข้อแม้ห้ามเซ้ง เอาเข้าจริงแอบเซ้งให้คนกันเองกับต่างชาติ ล็อกหนึ่งกว้างสามจุดห้าเมตรยาวลึกคร่อมชายหาด 36 เมตร ราคาสูงหนึ่งถึงสองล้านบาท... ก็ไม่เห็นมีใครห้าม”
...มีแต่ผู้ประกอบการรายเล็กรายใหญ่ฝั่งตรงข้าม ที่ใช้หรือเช่าพื้นที่ที่มีกรรมสิทธิ์ต่างเดือดร้อนตามกัน เพราะมีภาพอุจาดริมหาดทรายบังตา
“เราเสียภาษีตามกติกาทุกอย่างทั้งภาษีที่ดิน โรงเรือน ภาษีเงินได้ ภาษีป้าย ภายใต้การประกอบธุรกิจตามกฎหมายทุกฉบับ แต่กลับถูกรัฐเมินเฉยปล่อยดอกเห็ดรุกล้ำที่สาธารณะเฉยเลย”
ผู้ประกอบการใกล้ที่ทำการองค์กรท้องถิ่นรัฐเล่าว่า...“เป็นที่รู้ๆในหมู่พ่อค้าหาดแม่พิมพ์ เห็ดแต่ละดอกแต่ก่อนจ่ายค่าเช่าพื้นที่ล็อกละห้าพัน เดี๋ยวนี้ถึงหมื่นต่อเดือน ส่วนจ่ายให้กับใคร ทุกคนรู้แต่ไม่อยากพูด บอกได้แต่ว่า เห็ดแต่ละดอกมีลูกหลานเป็นข้าราชการเกี่ยวข้องกับชายหาดโดยตรง
หรือไม่..ก็มีคนเป็นแบ็กคุ้มครองถึงยืนหยัดอยู่ได้”
ผู้ประกอบการรายเดียวกันเล่าให้ฟังเพิ่มเติมอีกว่า เคยมีข่าวการร้องเรียนปัญหาอยู่เสมอ เช่น ราคาอาหารแพงเกินจริง ทัวร์จีนเคยพบแมลงสาบตายในหม้อต้มยำ...
“ห้องน้ำไม่มีเพราะปลูกสร้างบนที่สาธารณะต้องไปใช้ในห้องเช่าฝั่งตรงข้ามสกปรกสิ้นดี แต่ถ้าเป็นตอนกลางคืนก็ปีนบันไดลงไปใช้ชายหาดนั่นแหละ”
หนทางแก้ไขผู้ประกอบการรับว่ามี “ฝ่ายปกครองระดับจังหวัดรวมถึงองค์กรส่วนท้องถิ่น เคยยื่นมือเข้ามาจัดระเบียบร้านอาหารดอกเห็ดเมื่อเดือนเมษายนปี 2558 ครั้งหนึ่ง เพื่อขจัดปัญหามลภาวะสิ่งแวดล้อมและปัญหาการประกอบธุรกิจทุกๆด้าน
แต่...จนป่านนี้ปี 2567 แล้ว ทุกอย่างยังคงเหมือนเดิมไม่มีอะไรใหม่ขึ้นมาให้เห็น”
อันที่จริงว่าไปแล้ว...หาดแม่พิมพ์เป็นสมบัติของคนไทยทุกคน และมีคุณค่าอนันต์ต่อการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้และกระจายสู่ชาวท้องถิ่น ซึ่งเป็นเจ้าของตัวจริงอย่างเสมอภาคและเป็นธรรม จึงสมควรพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้อย่างมีระบบแบบแผน
...
เพื่อให้เกิดความยั่งยืน...แม้ว่าวันนี้จะสายไปบ้างแล้ว
อดีตนักวางแผนพัฒนาการท่องเที่ยว จ.ระยอง ซึ่งเคยร่วมจัดทำมาสเตอร์แพลนแผนหลักส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะเสม็ดก่อนการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ และพื้นที่ชายหาดบนฝั่งแผ่นดินระยอง โดยความร่วมมือขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น หรือ “ไจก้า” เมื่อครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา กล่าวว่า
“แผนดังกล่าวกำหนดให้เกาะเสม็ดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนันทนาการ เช้าไปเย็นกลับในวันเดียวหรือพักค้างคืนในรูปแบบแคมปิ้ง ไม่มีโรงแรมรีสอร์ตมีเพียงห้องน้ำห้องส้วม ขณะเดียวกันส่งเสริมที่พักบนฝั่งตั้งแต่หาดแม่รำพึงถึงแม่พิมพ์ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ...
แต่น่าเสียดาย...แผนที่ว่าขาดการบูรณการจึงถูกพับเก็บในที่สุด”
“หาดแม่พิมพ์” จึงล้มเหลวตั้งแต่ยกแรกถึงปัจจุบัน
“แม้จะมีหน่วยงานมากมายเข้าไปเกี่ยวข้อง อาทิ ฝ่ายปกครองกระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่รักษาและป้องกันที่ดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ฉบับ พ.ศ.2544 ปรับปรุงใหม่ 2553 โดยปี 2563 ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกแห่งแจ้งนายอำเภอและองค์กรท้องถิ่นทุกพื้นที่ปฏิบัติตามกฎหมาย”
...
นอกจากนี้มีกรมเจ้าท่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 (ระยอง) แต่หาดแม่พิมพ์ก็เป็นอย่างที่เห็น
ยิ่งกว่านั้น...ชาวท้องถิ่นหาดแม่พิมพ์รู้กระทั่งรู้ผู้นำองค์กรท้องถิ่นกับระดับรองผู้นำถนัดทำงานแบบลมเพลมพัด?
“...มีรองอีกคนที่ขยันทำงานมวลชวนกับร้านดอกเห็ดและเพิงขายอาหารริมหาดอีก 50 รายอย่างถึงลูกถึงคน ขนาดกลางปีที่แล้วลงทุนจัดทัวร์พาผู้ประกอบการเหล่านี้ไปเที่ยวพักผ่อน
โดยคนที่นั่นโจษกันให้แซ่ด...เพื่อรักษาฐานเสียงยกทีมแบบพึ่งพาอาศัยกัน”
พ่อเมืองและเจ้านายตัวเล็กระดับอำเภอ ถ้าไม่ ว.2 ก็ขอ มท.1 เพื่อ ว.7 เด็ดดอกไม้ให้สะเทือนถึง “หาดแม่พิมพ์” ทีเถอะ...ก่อนสะท้านเหมือนหาดยามูและหาดแหลมหงากับหาดนุ้ยภูเก็ต.
คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม