รองโฆษกรัฐบาล เกณิกา อุ่นจิตร์ ออกมาชี้แจงถึงระดับการแก้ไขปัญหา ไฟป่า ของจังหวัดเชียงใหม่ภายหลังจากที่ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน ลงพื้นที่ไปติดตามการแก้ปัญหาหมอกควันพิษด้วยตัวเองว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับ เรื่องฝุ่น PM 2.5 มาตลอด รัฐบาลได้มีการทำงานแบบบูรณาการจากหลายกระทรวง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ไม่ได้แก้ปัญหาเฉพาะที่ จ.เชียงใหม่ แต่ครอบคลุม 17 จังหวัดภาคเหนือ รวมทั้งที่ จ.เชียงราย ที่พบไฟป่ามากที่สุดและถึงแม้ว่าไฟป่าจะดับแล้ว รัฐบาลได้วางมาตรการในการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้รัฐได้ใช้งบประมาณที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ในส่วนเรื่องของกำลังคนที่ดับไฟป่า ซึ่งที่ จ.เชียงใหม่มีพื้นที่ป่าและป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนจำนวนทั้งหมด 9 ล้านไร่ มีกำลังเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าอยู่ 1,800 นาย ในสถานการณ์ที่ไฟป่ารุนแรงกำลังเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอต่อการดูแล จำเป็นที่จะจัดสรรงบประมาณจ้างให้ประชาชน ในพื้นที่เฝ้าระวัง โดยที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติงบกลางทั้งสิ้น 272,655,350 บาท เป็นของกรมป่าไม้ 109,946,650 บาท และของกรมอุทยานฯอีก 162,708,700 บาท เพื่อนำไปใช้จ่ายในโครงการแก้ไขปัญหาไฟป่า และหมอกควันเพื่อลดฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดไฟป่าในเดือน ม.ค.-พ.ค.

เรื่องของไฟป่าได้รับความสนใจจากหลายฝ่ายเพราะเป็นปัญหาที่รุนแรงมากขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในจังหวัดภาคเหนือต้องประสบกับปัญหาไฟป่า ฝุ่นละอองพิษ มากว่า 10 ปีมาแล้ว ภาควิชาการ ได้ติดตามประเมินการทำงานภาครัฐในการแก้ไขปัญหาไฟป่า พบว่า งบประมาณที่รัฐบาลแบ่งมาเพื่อป้องกันไฟป่า ในปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนว่าไปอยู่ที่ไหน และมีการยืนยันจากข้อเท็จจริงในกรณีที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.ฝ่ายค้าน ได้ลงพื้นที่ไปพูดคุยกับฝ่ายปฏิบัติพบว่า เครื่องมือในการดับไฟป่ายังมีจำนวนที่จำกัด และเป็นเครื่องมือขนาดเล็กไม่สามารถจะดับไฟป่าที่มีความรุนแรงได้

...

อีกปัญหาคือ รัฐบาลไม่เคยประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ ซึ่งในกรณีปัญหาภัยแล้ง กระทรวงมหาดไทยยังมีประกาศให้เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เพื่อที่จะได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐเป็นกรณีพิเศษ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาไฟป่า ปัญหาหมอกควันพิษ ไม่ได้เกิดจากประชาชนหรือเกษตรกรเพียงอย่างเดียว แต่ต้นเหตุมาจากบริษัทเอกชน ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ที่จะต้องเอาจริงเอาจังกับการปล่อยมลพิษทางอากาศ

มีรายงานจาก กลุ่มกรีนพีซ ระบุว่า แม้แต่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก็เป็นการลงทุนข้ามพรมแดนและเป็นมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา พื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง พื้นที่ภาคเหนือตอนบนของไทย รัฐฉานของเมียนมา ภาคเหนือของ สปป.ลาว ได้กลายเป็นศูนย์กลางของมลพิษทางอากาศข้ามพรมแดน

เป็นผลพวงจากการทำลายพื้นที่ป่าเพื่อขยายผลิตพืชเศรษฐกิจที่เป็น สินค้าโภคภัณฑ์ เพื่อการส่งออก เช่น การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งพบจุดความร้อนในพื้นที่ปลูกมีสัดส่วน 1 ใน 3 ของจุดความร้อนทั้งหมด

ล่าสุดสภาผู้แทนฝรั่งเศสเสนอร่างกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาลงโทษบริษัทแฟชั่น ที่มาในรูปแบบอีคอมเมิร์ซมีโทษปรับร้อยละ 50 ของราคาสินค้า เพื่อชดเชยกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นอีกต่อไป.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th

คลิกอ่านคอลัมน์ "คาบลูกคาบดอก" เพิ่มเติม