กระทรวงแรงงานแสดงความกังวลว่า กองทุนประกันสังคมซึ่งรับผิดชอบต่อสวัสดิการบรรดาลูกจ้างและแรงงานอิสระเกือบ 24 ล้านคน อาจจะประสบภาวะ “ถังแตก” ภายใน 30-40 ปีข้างหน้า นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ระบุว่าอาจต้องเพิ่มการจ่ายสมทบกองทุนให้สูงขึ้น

อาจเพิ่มขึ้นจาก 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท และเพิ่มอายุของลูกจ้างที่จะต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนจาก 55 ปี เป็น 60 ปี และเสนอแนะให้ลงทุนในทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงต่ำ การประกันสังคมและกองทุนประกันสังคมเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2533 โดยมีวัตถุประสงค์ให้สิทธิประโยชน์ต่างๆแก่ผู้ประกันตน

เริ่มแรกมีลูกจ้างประกันตนประมาณ 10 ล้านคน ได้รับสิทธิประโยชน์ 7 ประการ ได้แก่ การเจ็บป่วย การคลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์บุตร เงินบำนาญและว่างงาน คณะกรรมการบริหารการประกันสังคมในช่วงแรก มีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานและกรรมการจากหลายหน่วยงาน

เช่นผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข และผู้แทนสำนักงบประมาณ กับผู้แทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ฝ่ายละ 5 คน ซึ่งรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง ร่วมเป็นกรรมการ จึงมีเสียงวิพากษ์มาตั้งแต่เริ่มต้น เป็นการประกันสังคมเพื่อลูกจ้าง แต่ถูกครอบงำโดยนักการเมือง และข้าราชการ

มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความไม่โปร่งใส ในการบริหารกองทุนประกันสังคม ระบุว่ากลุ่มลูกจ้างเอกชน ผู้ประกันตนเอง เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องควักเงินจ่าย แต่ได้รับบริการรักษาพยาบาลที่ด้อยกว่าที่กลุ่มข้าราชการได้รับ ทั้งที่ไม่ได้จ่ายเงิน แต่น่ายินดีที่ขณะนี้มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการประกันสังคมใหม่

ก้าวหน้ามาเป็นการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม จากภาครัฐและฝ่ายผู้ประกันตนเอง คณะกรรมการชุดใหม่สัญญาว่า จะบริหารการประกันสังคม ด้วยความโปร่งใส แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือเงินในกองทุนประกันสังคมที่ร่อยหรอลงไป จนน่าห่วงว่าจะถึงกับถังแตก ไม่มีเงินจ่ายสวัสดิการให้ผู้ประกันตน

...

สิทธิประโยชน์ของการประกันสังคม ที่บรรดาลูกจ้างเอกชน และผู้ประกันตนทั้งหลายมุ่งหวังมากที่สุด คือการรักษาพยาบาลในยามเจ็บป่วย และเงินบำนาญที่จะเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว หลังจากทำงานมาตลอดชีวิต รัฐบาลจะต้องดำเนินการ ทุกวิถีทางที่จะทำให้กองทุนประกันสังคมดำรงอยู่ตลอดไป.

คลิกอ่านคอลัมน์ "บทบรรณาธิการ" เพิ่มเติม