ปัญหาภาวะโลกร้อนและมลพิษทางอากาศ เป็นสองประเด็นเกี่ยวเนื่องที่ได้รับความสนใจมาเป็นเวลาหลายปี ทั้งจากภาคประชาชน ภาคเอกชน รวมถึงรัฐบาลที่พยายามหานโยบายและมาตรการมาแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยหนึ่งในนั้นคือการผลักดันการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ตามนโยบาย 4D1E ที่มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนร่างกฎหมายว่าด้วยอากาศสะอาดและกรรมการบริหารจัดการมลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน กล่าวถึงความคืบหน้าของนโยบาย 4D1E ว่า “นโยบาย 4D1E ประกอบด้วย Decentralization คือการที่เราเปิดรับซื้อไฟฟ้าในลักษณะที่ไม่รวมศูนย์ มีทั้งโรงไฟฟ้าชุมชนจากไบโอแมสที่เป็นการผลิตในสเกลระดับใหญ่ และโซลาร์ภาคประชาชน หรือการผลิตไฟฟ้าครัวเรือน ซึ่งเป็นสเกลที่เล็กลงมา D ตัวที่ 2 คือ Decarbonization คือการผลิตพลังงานที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งไฟฟ้าที่กล่าวถึงใน Decentralization ก่อนหน้านี้ก็เป็นไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกทั้งนั้น ต่อมาคือ Digitalization เป็นการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการกำกับกิจการพลังงาน และ De-regulation คือการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่มีอยู่เดิม และสร้างกฎระเบียบใหม่ เพื่อรองรับและขับเคลื่อน D 3 ตัวแรก ซึ่งตอนนี้เรามีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของ พ.ร.บ.ฉบับใหญ่ ปี 50 และกฎหมายลำดับรองอยู่ เพื่อนำมาสู่การปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น และ E ตัวสุดท้ายคือ Electrification คือการเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานมาสู่พลังงานไฟฟ้า ปัจจุบันตัวที่คืบหน้าไปมากที่สุดคือ Decentralization โดยเราซื้อไฟฟ้าล็อตใหญ่มาเกือบครบ 5,000 เมกะวัตต์แล้ว และอาจจะเปิดต่ออีก 3,000 เมกะวัตต์ ภาคประชาชนเองก็ให้การตอบรับที่ดี อันนี้คือความพยายามของภาครัฐในการรับมือกับปัญหาภาวะโลกร้อน”
หากเจาะลึกลงไปที่อีกหนึ่งในผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ รวมถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 แล้ว ดร.บัณฑูร กล่าวว่า ทางออกที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืนคือการแก้ที่แหล่งกำเนิดมลพิษ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน
“สิ่งที่อยากผลักดันเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้คือความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งวันนี้เราก็เห็นความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมจากหลายโครงการ โดยเฉพาะที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment หรือ BOI) ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อชุมชนและสังคมออกมา โดยมีทั้งหมด 6 หัวข้อ คือ สาธารณสุข การศึกษา การจัดการน้ำยั่งยืน การส่งเสริมการเกษตรยั่งยืน การจัดการสิ่งแวดล้อม และการลดการเผาในพื้นที่ป่า จะเห็นว่ามีหัวข้อที่ตอบโจทย์เรื่องปัญหามลพิษถึง 4 หัวข้อ ถ้าเราช่วยกันผลักดันมาตรการนี้ให้เป็นที่รู้จักและรับรู้ในวงกว้าง ก็จะสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้ทุกฝ่าย เราเห็นผู้ประกอบการอย่างมิตรผลและคูโบต้าเข้ามาใช้กลไกนี้แล้ว ก็อยากขยายมาตรการนี้ให้มากขึ้น เพราะปัญหามลพิษทางอากาศและ PM 2.5 มันใหญ่กว่ากำลังภาครัฐฝ่ายเดียวจะดูแลได้
ภาคประชาชนก็ช่วยผลักดันการแก้ปัญหาได้หลายแบบ ตั้งแต่ทำความเข้าใจสาเหตุของมลพิษและ PM 2.5 ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจที่ถูกต้อง และนำไปสู่ความร่วมมือในเวลาที่ภาครัฐมีมาตรการออกมา ที่สำคัญคือนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งภาคประชาชนมีพลังในฐานะผู้บริโภคเยอะมาก เช่น หากรู้ว่ามีของป่าที่เกิดจากการเผาแล้วผู้บริโภคเลือกที่จะปฏิเสธ ไม่สนับสนุน ต้นทางก็จะเปลี่ยนไป
ส่วนภาคเอกชน นอกจากการช่วยส่งเสริมให้ภาคชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือวิสาหกิจชุมชนที่อยู่ในประกาศ BOI ให้เข้มแข็งขึ้นผ่านมาตรการส่งเสริมการลงทุนฯ ที่กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว อีกส่วนที่ทำได้คือการจัดการ Core Business หรือการประกอบธุรกิจที่อยู่ในกระบวนการผลิตที่ครบวงจร ตั้งแต่การใช้วัตถุดิบ การผลิต การขนส่ง บรรจุภัณฑ์ และการดูแลจัดการของเสียที่เกิดขึ้น อย่างในภาคการเกษตร ยกตัวอย่างกลุ่มมิตรผลที่มีการรับซื้อใบอ้อย ซึ่งเป็นของเหลือใช้จากเกษตรกร เพื่อนำไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าชีวมวล เกษตรกรก็ไม่ต้องเผาอ้อย ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรืออย่างข้อมูลพิกัดรายแปลงของโครงการของมิตรผลที่จังหวัดสิงห์บุรี ก็ทำให้เรามีข้อมูลว่ามีพื้นที่ไร่อ้อย 15-20% ที่ยังไม่เข้าระบบไม่เผา ก็ช่วยให้ภาครัฐเข้าไปดูแลแก้ไขปัญหาได้ถูกจุด” ดร.บัณฑูร กล่าว
อย่างไรก็ตาม ดร.บัณฑูร ซึ่งปัจจุบันกำลังดำเนินงานเพื่อร่วมขับเคลื่อนการผลักดันอากาศสะอาด ด้วยการจัดพื้นที่ปฏิบัติการ Government Innovation Lab ในพื้นที่การเกษตร ยังระบุอีกว่า หนึ่งในอุปสรรคสำคัญในการแก้ปัญหามลพิษจากการเผาในภาคการเกษตร คือการที่พื้นที่ปฏิบัติงานของโมเดลในการแก้ปัญหาต่างๆ มีขนาดจำกัด รวมถึงประเด็นความรวดเร็วในการดำเนินงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเร่งแก้ไข หากต้องการจะแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที
“ผมประเมินว่าหากสเกลปัญหาอยู่ที่ 100% สิ่งที่พวกเราทำกัน เช่น โมเดลต่างๆ ของทั้งภาครัฐและเอกชน รวมๆ แล้วเราอาจจะแก้ปัญหาได้อยู่ที่ 30% จุดใหญ่ของปัญหานี้คือความสำเร็จในระดับโมเดลมัน Scale Up หรือขยายออกไปไม่ได้ และเร่งความเร็วหรือ Speed Up ไม่ทันขนาดและความเร็วของปัญหา เพราะภาครัฐไม่มีงบประมาณและกำลังพอ กฎระเบียบของภาครัฐก็ทำให้เกิดความล่าช้า หากเราดำเนินงานด้วยรูปแบบและความเร็วแบบเดิม เราจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ทัน ผมอยากให้ความสำเร็จของโมเดลนำร่องต่างๆ สามารถสร้างอิมแพกต์ได้จริง อยากให้มันเป็นมากกว่าโมเดลนำร่องที่แก้ปัญหาได้อย่างจำกัด จึงอยากให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการ Scale Up และ Speed Up การทำงานเหล่านี้ และช่วยกันทำให้การแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนสามารถเกิดขึ้นได้จริง”
นอกจากนี้ ดร.บัณฑูร ยังเสนอแนะว่า นอกจากร่วมมือกันแก้ปัญหาแล้ว หน่วยงานต่างๆ ยังสามารถร่วมมือกันเพื่อป้องกันปัญหาฝุ่นควันได้ ด้วยการสร้างการสื่อสารสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนในวงกว้างรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับปัญหามลพิษทางอากาศ ทั้งสาเหตุ ผลกระทบ และการป้องกัน ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้ในที่สุด
“สิ่งที่อยากให้เกิดคือการจัดตั้งศูนย์กลางในการออกมาให้ข้อมูลเรื่องมลพิษทางอากาศทุกวันในช่วงฤดูฝุ่น เพราะเป็นช่วงที่คนจะต้องการข้อมูลข่าวสารที่อัปเดต ถูกต้อง และยังถือเป็นการสร้างความตื่นตัวให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา แบบเดียวกับที่มีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ออกมาให้ข้อมูลในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรค หากทำแบบนั้นประชาชนก็จะได้ข้อมูลที่ถูกต้องและไปในทิศทางเดียวกัน ลดความสับสน และจะสามารถดูแลตัวเองและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้”
ดร.บัณฑูร ทิ้งท้ายเพิ่มเติมว่า ปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นควันเป็นเพียงปรากฏการณ์บนยอดภูเขาน้ำแข็ง แต่รากฐานปัญหานั้นประกอบด้วย 3 ปัจจัยที่ต้องแก้ไข คือ การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานราชการ ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านที่ดินและความยากจนที่ทำให้เกษตรกรต้องปลูกข้าวโพดบนที่สูงที่ต้องมีการเผา และการขาดกติกาและกลไกกำกับควบคุมระบบตลาดเสรีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจำเป็นต้องเร่งแก้ไขโดยเร็ว