วันเสาร์สบายๆวันนี้ไปคุยเรื่องที่ไม่สบายกันสักวันนะครับ ผมเขียนเรียกร้องมาหลายปี ขอให้รัฐบาลเร่งฟื้นฟูการศึกษาไทยที่ล้มเหลวและล้าหลังโดยด่วน เอาคนดีคนเก่งด้านการศึกษาเข้าไปเป็นรัฐมนตรี ผมยกตัวอย่าง สิงคโปร์ ที่ไม่มีทรัพยากรอะไรเลย แต่ ลี กวนยิว นายกฯสิงคโปร์กลับ “สร้างคน” ขึ้นมาเป็น “ทรัพยากรอันมีค่า” ด้วย “การศึกษาที่ดีเยี่ยม” ทำให้สิงคโปร์ เป็นศูนย์กลางการเงินการค้าอันดับต้นๆของโลก ในเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วอายุคน ดึงดูดนักลงทุนทั่วโลกไปลงทุนตั้งสำนักงานใหญ่ที่สิงคโปร์
ผมคงไม่นำมาเทียบกับไทย เพราะเทียบกันไม่ได้ วันนี้ผมมีผลงานวิจัยที่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ทำร่วมกับ ธนาคารโลก เรื่อง “ทิศทางการพัฒนาทักษะทุนชีวิต เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของประเทศไทย” จากตัวอย่าง เยาวชนและผู้ใหญ่ 15-64 ปี ครอบคลุม 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้เผยแพร่ปลายเดือนที่แล้ว แต่ไม่แพร่หลายนัก เป็นข้อมูลที่น่าตกใจมาก อนาคตประเทศไทยน่าเป็นห่วง ถ้ารัฐบาลไม่รีบแก้ไขโดยด่วน
ทักษะทุนชีวิต (Foundational Skills) คือ ทักษะด้านสมรรถนะ ที่เด็กและเยาวชนและประชากรวัยทำงานจำเป็นต้องมี ประกอบด้วย ทักษะการรู้หนังสืออ่านออกเขียนได้ ทักษะด้านดิจิทัล และ ทักษะด้านสังคมและอารมณ์ เพื่อเผชิญกับความท้าทาย ความสามารถในการแก้ไขปัญหาชีวิตประจำวัน ช่วยพัฒนาความสามารถให้ก้าวไปข้างหน้าได้ ให้มีชีวิตอยู่ได้ในศตวรรษที่ 21 คุณโคจิ มิยาโมโตะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ผู้เสนองานวิจัยระบุว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาทักษะชีวิตของประชากรเข้าขั้นวิกฤติ จากประชากรส่วนใหญ่ที่ไม่สามารถอ่านหนังสือ หรือคำนวณขั้นพื้นฐาน ไม่สามารถมีส่วนร่วมหรือเปิดกว้างรับความคิดเห็นใหม่ๆได้
...
ผลวิจัยพบว่า 64.7% ของเยาวชนและผู้ใหญ่ไทย มีทักษะการรู้หนังสือที่ตํ่ากว่าเกณฑ์ คือไม่สามารถอ่านและเข้าใจข้อความสั้นๆเพื่อแก้ปัญหาง่ายๆ เช่น ฉลากยาได้ 74.1% มีทักษะทุนชีวิตด้านดิจิทัลตํ่ากว่าเกณฑ์ ไม่สามารถใช้อุปกรณ์บนคอมพิวเตอร์ทำงานง่ายๆ เช่น การค้นหาราคาที่ถูกต้องของสินค้าจากเว็บไซต์ขายสินค้าออนไลน์ 30.3% มีทักษะรากฐานทางอารมณ์และสังคมที่ตํ่ากว่าเกณฑ์
การมีทักษะตํ่า ทำให้คนเหล่านี้ไม่มีแนวโน้มที่จะคิดริเริ่มเพื่อสังคม หรือมีความกระตือรืนร้นอยากรู้อยากเห็น หรือมีจินตนาการ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่ช่วยให้รับมือกับความเสี่ยงที่ไม่แน่นอน หรือประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน งานวิจัยยังพบว่า มีเยาวชนและผู้ใหญ่ 18.7% ที่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ เพราะขาดทักษะทุนชีวิตทั้ง 3 ด้าน จนไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง มีทางเดียวคือต้องพึ่งพาผู้อื่น (เห็นข่าวในทีวีบ่อยๆ)
ผู้วิจัยระบุว่า ประเด็นนี้มีความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากไทยกำลังมุ่งมั่นที่จะก้าวไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ลดความเหลื่อมลํ้า และปรับปรุงความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม
คุณโคจิ กล่าวว่า การที่ประเทศไทยมีสัดส่วนเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีทักษะตํ่ากว่าเกณฑ์ที่ใหญ่มากนั้น กลายเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจมหาศาล คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาท หรือ 20.1% ของจีดีพีในปี 2565 สูงกว่างบประมาณรายจ่ายปี 2565 ที่ 3.1 ล้านล้านบาท ขณะเดียวกัน รายได้ต่อเดือนของแรงงานที่มีทักษะกับแรงงานที่ทักษะตํ่ากว่าเกณฑ์ก็แตกต่างกันถึง 6,300 บาท หรือ 190 ดอลลาร์ต่อเดือน
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ก็ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยถูกจัดอันดับเป็น ประเทศรายได้ปานกลาง มาตั้งแต่ปี 2519 กว่า 48 ปีมาแล้ว ปัจจุบันก็ยังติดอยู่ในสถานะที่ธนาคารโลกเรียกว่า “กับดักรายได้ปานกลาง” ซึ่งจะต้อง เพิ่มรายได้ประชากรอีก 40% ถึงจะก้าวไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงได้
จากงานวิจัยนี้ ดร.ประสาร ได้เสนอรัฐบาล 3 ข้อ 1.เร่งลงทุนเพื่อเสริมสร้างทักษะทุนชีวิตทั้ง 3 ด้าน ด้วยการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทุกระดับ 2.สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ (Learning Culture) 3.ลงทุนในทุนมนุษย์ ไม่ยังงั้น ในอนาคตจีดีพีไทยอาจโตตํ่ากว่า 2% ไปตลอดเลยก็ได้ เพราะศักยภาพคนไทยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลย.
“ลม เปลี่ยนทิศ”
คลิกอ่านคอลัมน์ "หมายเหตุประเทศไทย" เพิ่มเติม