ปมปัญหาข้อพิพาทที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ทับซ้อนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา บานปลายกลายเป็นความขัดแย้งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ที่เปิดศึกงัดหลักฐาน และข้อกฎหมายออกมาตอบโต้วิวาทะกันอย่างดุเดือดในเวลานี้

เมื่อกรมแผนที่ทหารทำหนังสือรายงานการตรวจสอบแนวเขตที่ดินทับซ้อนถึงนายกรัฐมนตรีระบุว่า พื้นที่ที่ ส.ป.ก.ปักหมุดอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ไม่ได้อยู่ในเขตอุทยานฯ ทำให้ “ส.ป.ก.” เข้าแจ้งความเอาผิดทางอาญากับ “ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร”ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชกับพวก

กล่าวโทษบุกถอนหลักหมุด ส.ป.ก.แปลงเลขที่ 9 และแปลงอื่นบริเวณบ้านเหวปลากั้ง หมู่ 10 ต.หมูสี อ.ปากช่อง รวม 27 หมุด จนกลายเป็นเชื้อเพลิงเติมไฟปะทุขึ้นอีก ทำให้ก่อนหน้านี้ “มูลนิธิสืบนาคะเสถียร” จัดเวทีเสวนาจากทับลานถึงเขาใหญ่ ผืนป่าที่ถูกเฉือน? โดยมี ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ บอกว่า

ที่ผ่านมา จนท.ผู้พิทักษ์ป่าต่อสู้กับการบุกรุกป่า ลักลอบตัดไม้มีค่า ขบวนการล่าสัตว์มายาวนาน แต่ก็เป็นปัญหาระบุเป้าหมายตัวตนของผู้กระทำผิดได้ แต่สิ่งที่เจ็บปวดสุดคือ “หน่วยงานรัฐนำเอกสารแอบแฝงเข้ามาทับซ้อน เขตอุทยานฯ หรือพื้นที่ป่าอนุรักษ์” ลักษณะบุกรุกแอบแฝงโดยใช้เทคนิคกระบวนการและระเบียบต่างๆ

...

ดำเนินการในรูปแบบที่เรียกว่า “ส.ป.ก.” ที่ไม่ใช่เรื่องเพิ่งเกิด แต่เป็นปัญหากับป่าทั่วประเทศ

สิ่งนี้ทำให้หวนย้อนกลับปี 2554-2555 “เขตอุทยานแห่งชาติทับลาน” ก็เคยมีการบุกรุกป่าจนต้องลงพื้นที่เข้าจับกุมผู้กระทำความผิด “ต่อสู้คดีมาต่อเนื่อง” กระทั่งปี 2560 “อยู่ในชุดพญาเสือ” ก็นำกำลัง 2 พันคน เข้าตรวจสอบส่วนของ ส.ป.ก.ประมาณ 54 แปลง ออกเอกสารสิทธิทับพื้นที่อุทยานฯนอกเขตปฏิรูปชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ

ยิ่งในปี 2563-2564 “มีการออก ส.ป.ก.ทับแปลงคดี” กลายเป็นกระบวนการของรัฐที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ “ช่วยเหลือราษฎรยากจนเพื่อให้มีที่ทำกินถูกต้อง” กลับมีการออกเอกสารสิทธิให้นายทุนที่เป็นกลุ่มถูกจับดำเนินคดีกล่าวหากันอยู่แล้ว “กลุ่มทุน” ก็นำเอกสารสิทธิที่หน่วยงานรัฐออกให้มายื่นต่อศาล

เมื่อศาลรับฟ้องคดีกลายเป็นว่า “เจ้าหน้าที่อุทยานฯ” จากเคยเป็นโจทก์ถูกฟ้องกลับตกเป็นจำเลยแทน ขณะที่ระหว่างต่อสู้คดีนั้น “ผู้ใหญ่ต่างเข้ามาให้กำลังใจ” แต่ก็ไม่ได้สนใจกับกระบวนการต่อสู้คดีอะไรมากมาย

สุดท้าย คดีความ “จบอย่างสวยงามไม่มีอะไรเกิดขึ้น” เช่นเดียวกับกรณีอุทยานฯเขาใหญ่ก็กำลังจะมีลักษณะใกล้เคียงกัน อย่างข่าวล่าสุดการขีดเส้นแบ่งเขตที่มีข้อมูลออกมาจากกรมแผนที่ทหารระบุว่า “พื้นที่พิพาทเป็นเขต ส.ป.ก.ได้รับอนุญาตถูกต้อง” ทั้งที่เรามีกฤษฎีกา และหลักฐานตามกฎหมายที่เคยนำไปใช้ต่อสู้คดีมาตลอด

เช่นนี้หากไม่ออกมาเรียกร้องกรณี “ส.ป.ก.ทับซ้อนอุทยานฯเขาใหญ่” ที่เอกสารสิทธิบางส่วนได้มาไม่ชอบ โดยเฉพาะแปลงทับซ้อนเขตป่าอนุรักษ์และปัญหาอาจจบแบบอุทยานฯทับลานที่เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นอีก เพราะมีข้อกังวล 5 ปีข้างหน้า ส.ป.ก.เปลี่ยนเป็นโฉนดนั้น อาจเป็นโอกาสให้เกิดการจับมือกับกลุ่มทุนเข้าพัฒนาที่ดินได้

เพราะถ้าดูหลักการ “ส.ป.ก.ตรงกับกรมอุทยานแห่งชาติฯ” ต้องการให้ราษฎรยากจนมีที่ดินทำกินยึดถือมาตั้งแต่ออก พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 แต่ว่าตอนนี้ผู้ครอบครองไม่ใช่ราษฎรยากจนกลับเป็นกลุ่มผู้ต้องการ “ส.ป.ก.ทำเลสวยๆในเขตป่าอนุรักษ์” เพื่อนำไปสร้างประโยชน์กับตนเองโดยได้มาแบบไม่ปกติ

ดังนั้น ถ้า “ข้าราชการ” ทำตามระเบียบข้อกฎหมายมักจะไม่เกิดปัญหาเช่นนี้ขึ้น เพราะปัจจุบันเจ้าหน้าที่รัฐบางคน “ไม่มีความซื่อสัตย์ และไม่ทำตามระเบียบ” ทำให้พื้นที่ ส.ป.ก.เต็มไปด้วยกลุ่มทุนใช่หรือไม่

แล้วตั้งข้อสังเกตว่า “กรมแผนที่ทหาร” ออกมารับรองแนวเส้นตกท้องช้างเป็นเขต ส.ป.ก.เอื้อให้ผู้ถูกกล่าวหาไม่ต้องรับโทษหรือไม่ ทำให้เรื่องนี้ยอมรับไม่ได้ เพราะกรมแผนที่ทหารไม่ใช่หน่วยงานชี้ขาดประเด็นพิพาทนั้น

“ตอนนี้เขตอุทยานแห่งชาติฯทั่วประเทศ 156 แห่ง ได้รับแจ้ง ส.ป.ก.ออกเอกสารสิทธิทับ 142 แห่ง หรือ 203,000 ไร่ ซึ่งไม่รวมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเท่าที่ทราบเฉพาะป่าห้วยขาแข้งแห่งเดียวถูก ส.ป.ก.ทับซ้อนไปแล้ว 500ไร่ และมีส่วนเตรียมผนวกที่กฎหมายรองรับอีกหมื่นกว่าไร่ ทำให้วันนี้ต้องออกมาเพื่อรักษาผืนป่านี้ไว้” ชัยวัฒน์ว่า

...

ต่อมาสิ่งที่อยากเรียนร้องคือ “ส.ป.ก.ทุกจังหวัดควรทบทวนการออกเอกสารสิทธิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่” ถ้าจุดใดไม่ถูกต้องก็ควรถอนกลับคืนตาม “นโยบายของ รมว.เกษตรและสหกรณ์” ที่บอกว่า หากพื้นที่ใดมีการซ้อนทับจริงๆ

“ต้องนำเอาออกให้หมด” เรื่องนี้ควรดำเนินการได้ทันทีและรายงานเป็นหนังสือใน 30 วัน

ย้ำเป็นตัวชี้วัดว่า “ทำไปได้กี่พื้นที่” เพราะปัจจุบันกรมอุทยานฯมีป่า 20% เหลือป่าจริง 19% กรมป่าไม้ 10% เหลือจริงไม่เกิน 6% ดังนั้น เมื่อป่าลดลงอนาคตเราต้องเจอภัยพิบัติ ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม ดินสไลด์ และฝุ่นแน่นอน

ขณะที่ ธนดล สุวัณณะฤทธิ์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกว่า ถ้าย้อนดูภาพดาวเทียมปี 2496 ที่ดินพิพาทออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.บ้านเหวปลากั้งสภาพยังคงเป็นป่าปกติ และปี 2527 ชาวบ้านเริ่มเข้าไปใช้ประโยชน์ทำมาหากิน แล้วมีการแบ่งออกเป็นแปลง และมีถนนด้วยซ้ำ

เมื่อเป็นแบบนี้ ปี 2529 ก็จำแนกที่ดิน “แต่ยังไม่เป็น ส.ป.ก.” จนในปี 2537 เราอ้างกฤษฎีกาของปี 2534 และ ครม.ปี 2530 ที่มีมติให้ ส.ป.ก.เข้ามาดูแลพื้นที่ดังกล่าวจนปี 2531 คปก.รับมาจัดสรรให้เกษตรกร

...

ต่อมาในปี 2542 “ชาวบ้านย้ายออกจากบ้านเหวปลากั้ง” ทำให้พื้นที่กลับมาเป็นป่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งปี 2567 “ชาวบ้าน” ก็เข้าไปใหม่อ้างว่าเคยใช้ประโยชน์มาตั้งแต่ปี 2509-2530 แต่ที่ต้องออกไปครั้งนั้นเพราะเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้ามาขับไล่ “อันมีหลักฐาน ส.ค.1 ออกให้ในปี 2498” เป็นหลักฐานยืนยันในการทำมาหากิน

แต่ว่าด้วยระเบียบ ส.ป.ก.ปี 2564 “การใช้ประโยชน์ที่ดินต้องต่อเนื่อง” เมื่อไม่ได้ทำกินต่อเนื่องย่อมไม่มีสิทธิ์ได้รับการจัดสรรที่ดินดังกล่าว “ชาวบ้านก็ร่วมมือกับข้าราชการ ส.ป.ก.นครราชสีมาบางคน” เข้าไปรังวัดในที่ดินที่เป็นป่าอ้างว่า เคยทำประโยชน์มาก่อน แล้วมีการออกเอกสารเท็จทำการเพาะปลูกข้าวโพดกันมาตลอด

เพื่อให้เข้าตรงตามระเบียบ ส.ป.ก.ปี 2564 “ทำการรังวัดแจกจ่ายกันเมามัน 59 แปลง” สิ่งนี้ก็ไม่ขอปฏิเสธข้อเท็จจริงทำให้เราต้องใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินฯเข้ามาดำเนินการจัดสรรให้ประชาชนเข้าอยู่อาศัยทำกิน “แต่ด้วยผิดกฎระเบียบไม่สามารถจัดให้ได้” ทำให้ตอนนี้ รมว.เกษตรฯมีคำสั่งให้เพิกถอนทั้งหมด

เรื่องนี้ต้องยอมรับว่า “เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.นครราชสีมาบางคนใช้ช่องโหว่บางประการ” เข้าไปดำเนินการจัดสรรพื้นที่ทำลายป่าไม้จนสูญเสียทรัพยากรแต่ก็ไม่ได้หมายความว่า “ส.ป.ก.ทุกคนทั่วประเทศจะเป็นคนไม่ดีทั้งหมด” เรื่องนี้อยากขอความเป็นธรรมด้วยการออก ส.ป.ก.ก็เป็นไปตามมติ ครม.2530

...

“เจ้าหน้าที่ ส.ป.ก.คนดีตั้งใจทำงานมีอยู่มาก “คนไม่ดี” มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ส่วนกรณีติดใจเรื่องเขตพื้นที่ทับซ้อนคงต้องเข้าไปหารือกับ “กรมแผนที่ทหาร” เพราะเป็นหน่วยงานที่ออกมาชี้แนวเขตนั้น” ธนดลว่า

ตอกย้ำอีกว่า “หากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯต้องการพื้นที่พิพาทคืน” กระทรวงเกษตรฯไม่ขัดข้องอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องเสนอต่อ ครม. กรณีพื้นที่ใดไม่มีการใช้ประโยชน์กลับคืนสู่สภาพป่าไม้ “เพื่อพิจารณาเป็นมติออกมาให้ชัดเจน” เพราะอย่างไรเสียพื้นที่ใดเป็นป่า ส.ป.ก.ก็ไม่สามารถจัดสรรให้เกษตรกรได้

ถัดมาปัญหาที่เจออีก “ลูกเกษตรกรบางคนเป็นข้าราชการ” ตามปกติย่อมไม่มีสิทธิ์ในการรับที่ดิน ส.ป.ก.ต่อจากพ่อแม่ได้ กลายเป็นว่านายทุนเข้าไปติดต่อกับชาวบ้านกลุ่มนี้ “ผ่านข้าราชการในพื้นที่ใช้ช่องว่างบางประการซื้อขายกัน” ดังนั้น ตรงนี้กระทรวงเกษตรฯกำลังจะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาดแน่นอน

ย้ำเตือนว่า “ผู้ถือครอง ส.ป.ก.4-01” แต่นำไปขายทำผิดกฎระเบียบนั้นต้องมีการดำเนินคดีกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างบรรทัดฐานปราบปรามนายทุน และผู้ที่ไม่ได้เป็นเกษตรกรในการทุจริตต่อไป.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม