จากการที่กรมการข้าวได้วางแผนการรับรองพันธุ์ข้าวในทุกปี อย่างน้อยปีละ 4-5 พันธุ์ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเลือกปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง และตามความสนใจของผู้บริโภค กรมการข้าวจะรับรองพันธุ์ข้าวให้มีความหลากหลายพันธุ์มากขึ้น
สำหรับปีนี้ กรมการข้าวจะรับรองพันธุ์ข้าว มากถึง 10 สายพันธุ์
โดยข้าวที่รับรองพันธุ์จะมีความหลากหลายประเภท ทั้งข้าวขาวพื้นนุ่ม ข้าวขาวพื้นแข็ง ข้าวหอมไทย ข้าวเหนียว ข้าวญี่ปุ่น ข้าวพื้นเมือง และข้าวสาลี โดยข้าวแต่ละประเภทจะมีจุดเด่นที่แตกต่างกันตามการนำไปใช้ประโยชน์ อาทิ
ข้าวขาวพื้นแข็ง อายุสั้น 90-100 วัน ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ข้าวทั่วไป 10-15% ศักยภาพการให้ผลผลิตไร่ละ 1,000-1,200 กก. ต้านทานต่อโรคขอบใบแห้ง และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลทนทานต่อสภาพน้ำท่วมฉับพลัน สภาพอากาศเย็น
ข้าวเหนียว มีทั้งหมด 2 สายพันธุ์ ประกอบไปด้วย สายพันธุ์ RGDU10017-1-MAS-49-4-1-NKI-1-3-1-2 เสนอเป็นพันธุ์รับรองชื่อ กข24 (สกลนคร 72) เป็นข้าวที่ไวต่อช่วงแสง ลำต้นเตี้ย ต้านทานการหักล้ม ทำให้ลดการสูญเสียผลผลิตระหว่างการเก็บเกี่ยว และสายพันธุ์ CRI13055-1-1-2-1 เสนอเป็นพันธุ์รับรองชื่อ กข26 (เชียงราย 72) ไม่ไวต่อช่วงแสง อายุสั้น ผลผลิตสูงกว่าข้าวเหนียวทั่วไปที่นิยมปลูก 13-15% สามารถปลูกได้ปีละ 2 ครั้ง จะเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีสำหรับให้เกษตรกรได้ใช้ปลูก เพื่อเพิ่มรายได้ให้มีมากขึ้น
ข้าวขาวพื้นนุ่ม เป็นพันธุ์ข้าวเพื่อทดแทนการปลูกข้าวขาว พื้นนุ่ม ที่ไม่ไวต่อช่วงแสง เช่น พันธุ์ปทุมธานี 1 ที่ปัจจุบันประสบปัญหาคุณภาพ การขัดสีลดลง อายุการเก็บเกี่ยว 120 วัน ยาวนานไปสำหรับเกษตรกร ที่ต้องการพันธุ์ข้าวที่มีอายุสั้นกว่า 120 วัน เพื่อยกระดับการแข่งขันในด้านการส่งออกของข้าวหอมพื้นนุ่มของประเทศไทยในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
...
นอกจากนี้ยังมีข้าวประเภทอื่นๆ ที่พัฒนาคุณภาพมาทดแทนพันธุ์เดิมเพื่อใช้ประโยชน์ในการแปรรูป สำหรับบริโภคเฉพาะในแต่ละภูมิภาค เพื่อยกระดับการแข่งขันในตลาดโลก ให้สามารถผลิตข้าวได้ตรงตามความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ.
สะ-เล-เต
คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้ามองฟ้า เท้าหยั่งดิน” เพิ่มเติม