หลายวันมานี้ ผมใช้เวลาไปกับงานบุญ บุญแบบวัดจีน บุญกับพระวัดพุทธในอินเดีย พระญี่ปุ่น และพระวัดไทย กลับมาตั้งข้อสงสัย...บุญคืออะไร? บุญอยู่ที่ไหน?
หันรีหันขวาง เปิดหนังสือ ชวนม่วนชื่น ธรรมะบันเทิงหลายเรื่องเล่า เจอเรื่อง “พอ” ของพระอาจารย์สมภารวัดพุทธ เมืองเพิร์ท ออสเตรเลีย
อ่านจบแล้วร้องอ๋อ! เจอแล้วไง
เรื่องเล่าเรื่องนี้ จับตอนพระอาจารย์พรหม ยังเป็นพระบวชใหม่ อยู่วัดป่านานาชาติ อุบลราชธานี ของหลวงปู่ชา ซึ่งมีกติกา พระสายวัดป่า จะไม่รับ ไม่จับ ไม่เป็นเจ้าของเงิน
“เราอยู่ได้อย่างประหยัดที่สุด จากปัจจัยสี่ ที่ญาติโยมทำบุญกับเรา โดยที่เราไม่ได้ร้องขอ”
แต่อุบัติเหตุของพระวัดป่า บางครั้งก็เกิดขึ้นจนได้ ครั้งหนึ่งที่ได้รับของพิเศษจากญาติโยม
พระอาจารย์พรหม เริ่มต้นว่า ได้ช่วยเหลือปัญหาส่วนตัว ของชายไทยคนหนึ่ง เขาซาบซึ้งมาก แสดงความกตัญญูด้วยการ บอกว่า
“ขอถวายปัจจัยห้าร้อย ให้ท่านใช้ส่วนตัว ถ้าท่านต้องการอะไร ก็กรุณาบอก”
พระอาจารย์พรหม สารภาพ ไม่สามารถคิดได้ในทันที ว่าจำเป็นต้องใช้อะไรบ้าง และก็บังเอิญโยมคนนั้น ก็มีธุระรีบร้อนจะต้องเดินทาง พระอาจารย์จึงขอผัดเวลาวันรุ่งขึ้น
นับแต่เวลานั้น พระอาจารย์พรหม ก็เริ่มไตร่ตรอง ว่าต้องการใช้อะไร หยิบกระดาษมาจดรายการ
รายการของที่ต้องการ ก็เริ่มยาว และยาวขึ้น
พระอาจารย์พรหมก็รู้ว่า เงินห้าร้อยที่โยมปวารณาให้ ไม่พอเสียแล้ว
และมันก็ช่างเป็นเรื่องยาก ที่จะตัดสิ่งที่ต้องการสักอย่าง ออกไปจากรายการ
แปลกเสียด้วยอีกว่า ความต้องการมันก็ช่างโผล่ออกมาๆ จากที่ไหนก็ไม่รู้ มันก็เป็นความจำเป็นที่จะต้องใช้สุดๆเอาเสียด้วย
เขียนๆไปจนพระอาจารย์คำนวณได้ว่า เงินห้าพันก็คงจะไม่พอ
...
สถานการณ์นั้น พระอาจารย์พรหมรู้ชัดแล้ว อะไรจะเกิดขึ้น จึงตัดใจ โยนรายการที่ต้องการทิ้ง
เช้าวันรุ่งขึ้น เมื่อโยมเจ้าของเงินปวารณามาถึง...พระอาจารย์พรหม ก็แนะนำให้นำเงินห้าร้อยนั้น ไปถวายเข้างบก่อสร้างของวัด หรืออะไรก็ได้ที่วัดจะใช้ประโยชน์
โยมผู้ใจบุญ มองหน้า ออกอาการฉงน
“อาตมา ไม่ต้องการอะไร” พระอาจารย์พรหมแจกแจง
“ขณะนี้ สิ่งที่อาตมาต้องการยิ่งกว่าสิ่งใด คือความสันโดษเดิมๆ พอใจกับสิ่งที่มีอยู่เมื่อวานนี้
เมื่ออาตมาไม่มีเงิน และไม่มีโอกาสที่จะได้อะไร เมื่อนั้นเอง เป็นช่วงเวลาที่ความปรารถนาทั้งหมดของอาตมาเต็มอิ่ม”
โยมลาจากไปแล้ว พระอาจารย์พรหม ยังมีความคิดต่อ ขึ้นชื่อว่าความต้องการนี้ย่อมไม่มีที่สิ้นสุด เงินพันล้านบาท หรือให้เป็นพันล้านดอลลาร์ ก็ยังไม่พออยู่ดี
แต่การเป็นอิสระจากความต้องการต่างหาก ที่มีจุดสิ้นสุด
เมื่อใดที่เรารู้ตัวว่า ไม่ขาดอะไรสักอย่าง เมื่อนั้นเราก็พอใจกับสิ่งที่เรามีอยู่
เมื่อพระผู้น้อย รู้จักและเข้าใจคำว่า “พอ” ความสุขความสงบเดิมๆ ที่เคยมี ก็กลับคืนมา
อ่านเรื่องพระอาจารย์พรหม ผมก็ตาสว่าง บุญที่หากันนักหนา ไม่ต้องไปดิ้นรนหาจากที่ไหน อยู่ที่การรู้จักพอนี่เอง.
กิเลน ประลองเชิง
คลิกอ่านคอลัมน์ "ชักธงรบ" เพิ่มเติม