เป็นไปตามความคาดหมาย ที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญประเมินเอาไว้ว่าจะเกิดภาวะเอลนีโญ หรือภาวะฝนแล้งในปี 2566 และฝนจะทิ้งช่วงจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันนี้ เป็นต้นไป แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา แถลงว่า อากาศร้อนจัดและกำลังประสบภัยแล้ง

แสดงว่าเอลนีโญยังคงอยู่ และฝนทิ้งช่วงยังเดินหน้าต่อ แม้จะสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ ส่งผลกระทบต่อปริมาตรนํ้าใน 27 อ่างเก็บนํ้าของโคราช โดยเฉพาะลำตะคอง  อ่างเก็บนํ้าขนาดใหญ่  มีนํ้า เหลืออยู่ที่ 147.48 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 46.90% ของความจุทั้งหมด 314.49 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้การได้ 24.7 ล้าน

ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงพื้นที่ 5 อำเภอของนครราชสีมา ซึ่งมีถึง 32 อำเภอ และเชื่อว่าจะประสบภัยแล้ง เช่นเดียวกับจังหวัดอื่นๆ ทั้งในภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลาง เพราะถ้าหากเอลนีโญยังคงอยู่  ฝนทิ้งช่วงก็ต้องดำเนินต่อ  กระทบถึงนํ้าอุปโภคบริโภค นํ้าเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม

แม้จะมีเสียงเตือนภัยเอลนีโญ และฝนทิ้งช่วงลากยาวมาตั้งแต่ต้นปี 2566 เพื่อให้ทุกรัฐบาลเตรียมรับมือให้พร้อม แต่ไม่ทราบว่าพร้อมแค่ไหน ดูเหมือนว่ารัฐบาลนี้จะไม่ค่อยสนใจปัญหาเกษตรกรรม ทั้งที่เป็นอาชีพของประชากรเกือบ 30 ล้านคน ซึ่งเป็น  “ทุกข์ของชาวนาคือทุกข์ของแผ่นดิน”

1 ใน 8 วิสัยทัศน์ ของนายก รัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ที่สัญญาว่าจะทำให้ไทยเป็น “ศูนย์อาหารโลก” ครอบ คลุมถึงด้านใดบ้าง ถ้ารวมถึงการทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ การประมง ล้วนแต่ต้องใช้  “น้ำ”  เป็นปัจจัยหลัก  ประเทศไทยจึงมีหน่วยงานเกี่ยวกับน้ำมากมาย

ภัยแล้งและน้ำท่วมกลายเป็นภัยประจำชาติ เกิดน้ำท่วมใหญ่ที่เรียกว่า “มหาอุทกภัย” เมื่อปี 2554 กระแสน้ำจากเขื่อนต่างๆในภาคเหนือและภาคกลางไหลทะลักท่วมภาคเหนือ ภาคกลาง และเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในกรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ รัฐบาลประกาศตั้งคณะกรรมการน้ำไม่รู้กี่คณะ

...

ที่ปรึกษาคนสำคัญของรัฐบาล ประกาศว่าจะแก้ปัญหา “น้ำ” ให้หมดสิ้นไปจากแผ่นดินไทย ไม่ว่าจะเป็นน้ำแล้งหรือน้ำท่วม จะไม่ให้ภัยน้ำทั้งสองเกิดขึ้นอีก “จากวันนี้ชั่วกัลปาวสาน” แต่ก็ ยังมีภัยแล้งและน้ำท่วมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง น้ำกลายเป็นปัญหาประจำชาติ  “จนชั่วกัลปาวสาน” หรือไม่.

คลิกอ่านคอลัมน์ "บทบรรณาธิการ" เพิ่มเติม