นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า ผู้สูงอายุเกือบทุกคนล้วนมีความเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เข้ามาหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ พม.จึงได้ร่วมกับกรมสุขภาพจิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้หน้าที่พลเมืองดิจิทัลด้วยสื่อการเรียนรู้ดิจิทัล หลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกับผู้สูงอายุในการป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ โดยจะมีพิธีลงนามความร่วมมือวันที่ 23 ก.พ.นี้
นายวราวุธกล่าวด้วยว่า ปี 2566 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุเกือบ 13 ล้านคน จากข้อมูลพบว่า ร้อยละ 22.40 หรือประมาณ 2-3 ล้านคน ตกเป็นผู้เสียหายจากการถูกหลอกลวงผ่านสื่อ โดยกว่าร้อยละ 70 ถูกหลอกลวงให้ซื้อสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายเกือบ 2,300 ล้านบาท ร้อยละ 12.96 ถูกหลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน มูลค่าความเสียหายประมาณ 6,000 ล้านบาท และร้อยละ 11.07 ถูกหลอกให้กู้เงิน คิดเป็นเกือบ 1,900 ล้านบาท อีกทั้งร้อยละ 8.33 ถูกหลอกให้ลงทุนแล้วได้เงินตอบแทน ประมาณ 17,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีการข่มขู่ทางโทรศัพท์ เช่น ถูกดำเนินคดี หากไม่รีบแก้ไขแล้วจะถูกดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายเกือบ 6,000 ล้านบาท ดังนั้นเมื่อรวมกันแล้ว มูลค่าความเสียหายที่ผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพมีจำนวนหลายหมื่นล้านบาท ฉะนั้นโครงการอุ่นใจไซเบอร์จึงมุ่งไปที่ผู้สูงอายุทุกคน เพื่อปกป้องทรัพย์สินของประชาชน.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่
...