อธิบดีกรมอุทยานฯชี้ ส.ป.ก. ไม่สามารถนำพื้นที่ที่กฎหมาย กำหนดให้เป็นเขตอุทยานฯไปออกเอกสารสิทธิได้ หลังสนธิ กำลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ส.ป.ก.-กรมแผนที่ทหาร ลงพื้นที่ ตรวจสอบแปลง ส.ป.ก.รุกเขาใหญ่ ผอ.สำนักอุทยานฯ แฉทำเป็นขบวนการหวังฮุบที่ราชการ ทั้งที่เห็นชัดว่าเป็นพื้นที่ ป่าถาวร มีร่องรอยสัตว์ป่าออกหากินทุกวัน ลั่นไม่มีวัน ยอมให้ใครมาฮุบที่ไปออก ส.ป.ก.4-01 ด้านนายก สมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ ระดมพลคนรักษ์เขาใหญ่ และกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์ 21 องค์กร ประท้วงหน้า อุทยานฯ เขาใหญ่ พร้อมออกแถลงการณ์ถึง รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ประกาศปกป้องผืนป่ามรดกโลก “เขาใหญ่”

กรณีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตรวจสอบเว็บไซต์สำนักจัดการแผนที่และสารบบที่ดิน มีการกำหนดพื้นที่สำหรับการปฏิรูปที่ดินเข้ามาในเขตอุทยานฯ เขาใหญ่ จำนวน 2,933-2-7 ไร่ และกำหนดรูปแปลงเพื่อออกเอกสาร ส.ป.ก.4-01 จำนวน 42 แปลง เนื้อที่ 972-2-79 ไร่ โดยผู้ที่ได้รับคัดเลือกเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ไม่เข้าข่ายเป็นเกษตรกร นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานฯ จึงแจ้งความดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องและฟ้อง ปปช. พร้อมทำหนังสือรายงานถึง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายก รัฐมนตรีและ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหรือ ทส. กับนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานฯ นั้น

เมื่อวันที่ 18 ก.พ. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานฯ ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรมว.ทรัพยากรฯ นายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวง นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานฯ นายธานนท์ โสภิตชา ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 (ปราจีนบุรี) นายชัยยา ห้วยหงษ์ทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และคณะเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ พร้อมตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายธนดล สุวัณณะฤทธิ์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย รมว.เกษตรฯ นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) นายอัครเดช เรียนหิน ปฏิรูปที่ดิน จ.นครราชสีมา พล.ท.ชาคร บุญภักดี เจ้ากรมแผนที่ทหาร นายกิติศักดิ์ พรหมพินิจ ผญบ.เหวปลากั้ง หมู่ 10 ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบแปลงที่ดินที่กรมอุทยานฯ จับกุมพื้นที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับ ส.ป.ก. ในเขตอุทยานฯ เขาใหญ่ บริเวณป่าบ้านเหวปลากั้ง หมู่ 10 ต.หมูสี แปลงที่ 1 อยู่ในเขตการจัดการ อช.ขญ.ที่ 8 ตรวจยึดพื้นที่ เมื่อวันที่ 30 ก.ค.2566 ไม่พบตัวผู้กระทำผิด ต่อมาวันที่ 6 ส.ค.2566 พบตัวผู้กระทำความผิด 2 คน เนื้อที่ 3-3-93 ไร่ พบป้ายแสดงการครอบครองพื้นที่แปลงที่ 2 อยู่ในเขตการจัดการ อช.ขญ.ที่ 1 ตรวจยึดพื้นที่เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2567 ไม่พบตัวผู้กระทำผิด ต่อมาวันที่ 9 ม.ค.2567 พบตัวผู้กระทำความผิด 5 คน เนื้อที่ 3-3-05 ไร่ พบหมุด ส.ป.ก. 7 หมุด รวมเนื้อที่บุกรุก 7-2-98 ไร่

...

นอกจากนี้ยังได้ลงพื้นที่ตรวจจุดหลักแนวเขตอุทยานฯ และหลักเสาคอนกรีตบอกกิโลเมตร (กม.) ของกรมป่าไม้สมัยก่อนตั้งกรมอุทยานแห่งชาติ ตามแนวเขต นำไปตรวจเปรียบเทียบกับแผนที่ทางอากาศของทหารตั้งแต่ปี 2502-2505 การประกาศตั้งเขาใหญ่เป็นอุทยานฯ พร้อมเข้าตรวจพื้นที่พิพาท การปักหมุด ส.ป.ก.4-01 เก็บรายละเอียด ในพื้นที่เขาใหญ่ บริเวณด้านในถนนแนวกันไฟ บ้านเหวปลากั้ง หมู่ 10 ต.หมูสี ที่เป็นผืนป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่มรดกโลกทางธรรมชาติ กว่า 72 แปลง พื้นที่กว่า 2,933 ไร่ ตามระวางและแผนผังของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จ.นครราชสีมา ตั้งแต่จุดที่มีการออกเอกสาร ส.ป.ก.4-01

นายอรรถพลกล่าวว่า ผู้เกี่ยวข้องในการตรวจสอบพื้นที่ทับซ้อน ส.ป.ก.ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่คือนายชัยยา ห้วยหงษ์ทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้ประสานงานดังนี้ 1.ส่งหนังสือขอคัดค้านการปักหมุดของสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา 2.ส่งหนังสือขอให้รื้อถอนหลักหมุดในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ 3.ส่งหนังสือขอความอนุเคราะห์ข้อมูลการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และเจ้าหน้าที่ทีมชุดพญาเสือ จึงร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและเข้าร่วมประชุมหารือในที่ประชุม คปป.จังหวัดนครราชสีมาชี้แจ้งข้อเท็จจริง ทั้งได้ดำเนินการด้านเอกสารให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่อไป แม้ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะมีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน ส.ป.ก. แต่เป็นการกำหนดพื้นที่โดยรวมเพื่อให้มีการสำรวจอย่างถูกต้องและคำนึงถึงที่ดินของรัฐที่ควรสงวนหวงห้าม ไม่สามารถนำพื้นที่ที่กฎหมายกำหนดให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติไปปฏิรูปได้ ประกอบกับต้องมีการทำประโยชน์ต่อเนื่อง ที่สำคัญคุณสมบัติของผู้ครอบครองต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด

ด้านนายชัยวัฒน์กล่าวว่า การออกเอกสารสิทธิทุกอย่างต้องอยู่ที่จิตสำนึกด้วยอย่าไปดูข้อกฎหมายอย่างเดียว เนื่องจากพื้นที่เป็นป่าถาวรมีร่องรอยสัตว์ป่า ช้างป่า กระทิง ออกหากินทุกวัน ยังจะมาประกาศเป็นเขต ส.ป.ก.4-01 ตนและกรมอุทยานฯไม่ยอมแน่นอน เพราะเขาใหญ่ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2505 ยังไม่มีการยกเลิก อุทยานฯ หน่วยงานอื่นจะมาบอกว่าเป็นพื้นที่ของตัวเองไม่ได้อยู่แล้ว มองว่าระดับชาวบ้านไม่มีทางที่จะมาทำแบบนี้ได้ ต้องมีขบวนการหวังยึดที่ราชการ

ขณะที่ พล.ท.ชาคร บุญภักดี เจ้ากรมแผนที่ทหาร กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องให้ทราบก่อนว่าพื้นที่เป็นของหน่วยงานไหน เช่น ของอุทยานฯเขาใหญ่ หรือของปฏิรูปที่ดินแล้วค่อยมาว่ากันว่าใครผิดใครถูกโดยขอเวลา 2 อาทิตย์

อีกด้านหนึ่ง ที่บริเวณหน้าด่านอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ต.หมูสี อ.ปากช่อง เวลา 11.00 น. น.ส.พันชนะ วัฒนเสถียร นายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ นายวิโรจน์ อรุณพันธุ์ ประธานชมรมผู้ประกอบการร้านอาหารเขาใหญ่-ปากช่อง ชมรมฮักเขาใหญ่ ชมรมผู้ประกอบการร้านอาหารปากช่องและกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเขาใหญ่รวม 21 องค์กร จัดกิจกรรมรวมพลคนรักษ์เขาใหญ่ ปกป้องดินแดนมรดกโลก พร้อมออกแถลงการณ์ กรณี “จุดหมุดนิรนาม ส.ป.ก.3. หมุด” ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่มีการบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อทำการเกษตรรวม 3 ไร่ โดยเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงที่รับผิดชอบให้ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวอย่างเร่งด่วน หากเกิดการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มที่เข้าไปบุกรุกรวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐ จะต้องดำเนินการลงโทษอย่างเฉียบขาดรวดเร็วเนื่องจากสังคมมีข้อสงสัยและมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกำลังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบุกรุกพื้นที่โดยรอบเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เกรงว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบให้กับการเป็นมรดกโลกของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ที่นับวันจะมีปัญหาในหลายเรื่อง ทั้งการปลูกสร้างอาคาร ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาการสร้างเขื่อน เป็นต้น

...

ต่อมาเวลา 14.00 น. ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ และนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ เดินทางมารับเอกสารแถลงการณ์ของกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์ 21 องค์กร ที่มีถึง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ช่วยตรวจสอบกรณีพิพาทดังกล่าวเพื่อปกป้องผืนป่ามรดกโลกเขาใหญ่

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่