โครงการ “GPO เพื่อผู้ประสบภัย ร่วมใจต้านภัยหนาว” อีกภารกิจของ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในการออกหน่วยส่งความช่วยเหลือด้าน ต่างๆในการให้บริการถึงพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้ประชาชนได้รับการบรรเทาทุกข์เบื้องต้นอย่างทันต่อเหตุการณ์
โดยระหว่างวันที่ 2-3 ก.พ.2567 คณะ อภ. นำทีมโดย พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการ อภ. พร้อมทีมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ อภ. รวมถึงคณะสื่อมวลชน ได้ปักหมุดเดินทางไปยัง อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นพื้นที่สูง ห่างไกลและทุรกันดาร ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่า ปะกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ของทุกปี มักประสบปัญหาภัยหนาว และขาดแคลนยา เครื่องนุ่งห่ม องค์การเภสัชกรรม จึงประสานกับ รพ.สบเมย และหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 36 สำนักงานพัฒนาภาค 3 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชากองทัพไทย จ.แม่ฮ่องสอน นำความช่วยเหลือไปส่งมอบให้กับประชาชนในพื้นที่ภายใต้ โครงการ “GPO เพื่อผู้ประสบภัย ร่วมใจต้านภัยหนาว”
ทั้งนี้ ได้มีการมอบเครื่องวัดความดัน เครื่องชั่งน้ำหนัก ยาชุดผู้ประสบภัย ผ้าห่ม ให้ที่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บ้านอุมโล๊ะ ต.แม่สวด อ.สบเมย มอบยาชุดผู้ประสบภัย ผ้าห่ม ให้กับชาวบ้านที่ หมู่บ้านนาดอย หมู่บ้านคอบิคี และ หมู่บ้านแม่หาด ต.แม่สวด อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน มอบยาชุดผู้ประสบภัย ผ้าห่ม ยาสามัญประจำโรงเรียน และเครื่องกรองน้ำ รวมถึงอุปกรณ์การเรียนและกีฬา ให้กับ ร.ร.บ้านแม่หาด และ ร.ร.บ้านอุมโล๊ะเหนือ
...
“การลงพื้นที่ครั้งนี้นอกจากการมอบสิ่งของความช่วยเหลือแล้ว ยังเป็นการเรียนรู้ถึงปัญหาความต้องการความช่วยเหลือของคนในพื้นที่ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ อภ. หรือการบริหารจัดการยา ซึ่งพบปัญหาหลายอย่างในพื้นที่ห่างไกล เช่น การส่งยาให้ทันท่วงทีและเพียงพอ ทั้งนี้ ได้มีการหารือพร้อมชักชวน รพ.สบเมย และชมรม ผอ.รพ.ชุมชนแห่งประเทศไทย หากเป็นไปได้ อภ.อาจมีบทบาทช่วยบริหารจัดการคลังยาของ รพ.ชุมชน เนื่องจากที่ผ่านมา รพ.ชุมชนต้องซื้อยาเองทั้งของ อภ.และบริษัทยาอื่นๆ ซึ่งปริมาณยาของ รพ. ชุมชนอยู่ที่ 5-10 ล้านบาทต่อปี แต่ต้องดีลกับบริษัทยาอีก 40-50 แห่ง หาก อภ.เข้ามาช่วยดีลกับบริษัทยาอื่นๆ และบริหารสต๊อกให้จะช่วยลดภาระกับการที่ รพ.ชุมชนต้องไปประสานเองกับทุกบริษัท ก็จะเหลือแค่ประสานกับ อภ.เท่านั้น รวมถึงช่วยลดค่าใช้จ่ายการจัดซื้อยา เพราะหาก ซื้อรวมกันจำนวนมาก อำนาจต่อรองราคาก็จะสูงขึ้น ซึ่งการบริหารคลังยาแทน รพ.ชุมชนดังกล่าว เป็นรูปแบบเดียวกับที่ อภ.กำลังดำเนินการกับ รพ.ชุมพรเขตรอุดมศักดิ์โมเดล แต่เป็นรูปแบบของ รพ.จังหวัด ซึ่งเราเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ต.ค. 2566 คาดว่าจะดำเนินการเต็มรูปแบบ มี.ค.นี้ และจะทราบผล ประเมินว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายการซื้อยามากน้อยแค่ไหน ประมาณ ก.พ.–มี.ค.ปีหน้า” พญ.มิ่งขวัญ เล่าถึงปัญหาที่นำมาสู่แนวคิดคลังยา รพ.ชุมชน
ผู้อำนวยการ อภ.กล่าวด้วยว่า การให้ อภ.เข้าไปบริหาร จัดการคลังยาทั้งในส่วนของ รพ.ชุมชน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระยะของการชักชวน และที่ รพ.ชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ซึ่งกำลังดำเนินการ ยังเป็นการดำเนินการในลักษณะ Action Research ถือเป็นแนวคิดใหม่ จากการทดลองดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา ได้พบสิ่งที่ไม่เคยคิดว่าจะมีปัญหาแต่ก็พบอุปสรรคค่อนข้างมาก เช่น ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง การทำสัญญาต่างๆก็ต้องช่วยกันปรับแก้ไข หรือบางบริษัทยาไม่ยอมเข้าร่วมโครงการ เพราะต้องการผูกขาดยาบางชนิด ทำให้เห็นถึงตลาดยามีการต่อสู้กันค่อนข้างสูง จริงๆแล้วตลาดยาในเมืองไทย 100% เป็นฟรีมาร์เก็ต ในส่วนของ มูลค่าของยาที่จำหน่ายในไทย อภ.มีบทบาทแค่สัดส่วน 7% แต่ถ้าคิดเป็นขนาดยาหรือปริมาณยา อภ.เราดูแลในสัดส่วน 20-30%
ด้าน นพ.พิทยา หล้าวงค์ ผู้อำนวยการ รพ.สบเมย เปิดเผย ถึงปัญหาการบริหารจัดการคลังยาของ รพ.สบเมย ว่า เรามีปัญหา 2 ประเด็น คือ 1.การขนส่งยา เนื่องจาก รพ.สบเมย เรามี รพ.สต.ลูกข่าย อยู่ 8 แห่ง ในจำนวนดังกล่าวมี 6 แห่งที่การเดินทางค่อนข้างลำบาก ทำให้ไม่สามารถทำตามแผนที่เราวางไว้ได้ ซึ่งตอนแรกเราวางแผนการขนส่งยาด้วยระบบ “ซีโร่สต๊อก” คือจะไม่ให้มีการสต๊อกยาที่ รพ.สต. หมายถึง รพ.สต.ใช้ยาไปเท่าไร เราจะเติมหรือรีฟิลยาให้เท่านั้น แต่เราไม่สามารถทำได้ เพราะมีปัญหาเรื่องของการขนส่ง จึงจำเป็นต้องสต๊อกยาเป็นรายเดือน โดยคาดการณ์ว่าเดือนนี้คนไข้จะใช้ยาเท่าไร ก็จัดส่งนำยาไปสำรองเท่านั้น ทำให้มีปัญหาบางกรณีที่อาจจำเป็นต้องใช้ยาเกินจำนวนที่สต๊อกไว้ อย่างเช่นในช่วงการเกิดโรคระบาด ทำให้ยาไม่พอ ก็ต้องมีการนำไปเสริมเพิ่มเติมภายหลัง และ 2.เรายังไม่มีโปรแกรมควบคุมระบบการจ่ายยาระหว่าง รพ.และ รพ.สต.ที่ยังไม่เชื่อมข้อมูลกัน ทำให้ไม่สามารถรู้เรียลไทม์ว่า รพ.สต.ใช้ยาไปกี่เม็ดแล้วจะให้ยากี่เม็ด ตอนนี้ใช้ระบบเบิกยา 1 เดือนไปสต๊อกที่ รพ.สต.
...
ผู้อำนวยการ รพ.สบเมย ยังเสนอมุมมองถึงความเท่าเทียมของการให้บริการสาธารณสุขกับคนชายขอบด้วยว่า เรื่องของงบประมาณ รวมถึงการจัดสรรกำลังคนใน รพ.แต่ละแห่งนั้น กระทรวง สาธารณสุขอาจจะมองโดยภาพรวม แต่ตนมองว่าในพื้นที่ที่ห่างไกล อาจจะต้องใช้งบประมาณหรือบุคลากรที่แตกต่างจาก รพ.ในเมือง อย่างเช่น ในเมืองมีประชากรขนาดนี้ สามารถใช้หมอพยาบาลจำนวนเท่านี้ได้ แต่สำหรับในพื้นที่ห่างไกล อาจจะใช้สัดส่วนโดยเทียบกับในเมืองไม่ได้ เนื่องจากภาระงานต่างกัน เช่น พยาบาลอาจจะต้องมีจำนวนมากกว่าในเมือง เนื่องจากมีเรื่องของการเดินทาง เรื่องของศาสนา วัฒนธรรม รวมถึงความเชื่ออะไรต่างๆ ดังนั้น จึงต้องมองเป็นจุดๆ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทในแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกัน
ทีมข่าวสาธารณสุข สนับสนุนกับการที่หน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะระดับบริหาร ได้ลงพื้นที่ ไปมอบความช่วยเหลือให้กับประชาชนที่ห่างไกล ในถิ่นทุรกันดาร นอกเหนือจากการได้ส่งมอบสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆให้กับกลุ่มเป้าหมายแล้ว ยังได้เข้าไปสัมผัสรับรู้สภาพปัญหาและความต้องการของคนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง
เพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือและแก้ปัญหาที่ตรงจุด สำคัญสุดคือ ลดทอนความไม่เท่าเทียมกับคนในเมือง.
...
ทีมข่าวสาธารณสุข
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่