สคช.ร่วมกับสำนักปลัดมหาดไทย โครงการ "ผ้าไทยใส่ให้สนุก" และ มศว ปลัดมหาดไทยเป็นประธาน เตรียมความพร้อมจัดทำชุดฝึกอบรมระยะสั้น ในกลุ่มงานผ้าทอและออกแบบ เพื่อเก็บเครดิตสมรรถนะและรับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ

วันที่ 12 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงแรม พูลแมน ขอนแก่น ราชา ออคิด เมื่อวันที่ 11 ก.พ. นางสาวจุลลดา มีจุล ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เข้าร่วมสังเกตการณ์ประชุมเชิงปฏิบัติการสร้างการรับรู้ และเผยแพร่พระอัจฉริยภาพทางด้านการอนุรักษ์และต่อยอดมรดกภูมิปัญญาการทอผ้าของไทยของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จัดโดยสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และคณะทำงานโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธี

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดมหาดไทย กล่าวถึง สคช. ว่า เป็นหน่วยงานที่สำคัญที่จะมาช่วยให้การรับรองและให้คุณวุฒิวิชาชีพกับผู้ผลิตงานหัตถกรรมพื้นบ้าน ซึ่งในการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนบุคลากรหน้าใหม่ที่ยังไม่ได้อยู่ในกลุ่ม OTOP จึงได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษา โดยเน้นที่วิทยาลัยอาชีวศึกษา วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยการอาชีพ โดยครั้งนี้มีกลุ่มผู้เข้าร่วมจากสถาบันการศึกษา 7 แห่ง อาทิ วิทยาลัยอาชีวศึกษาขอนแก่น วิทยาลัยอาชีวศึกษานครราชสีมา วิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์ วิทยาลัยอาชีวศึกษามหาสารคาม วิทยาลัยอาชีวศึกษาร้อยเอ็ด มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และกลุ่มผู้ประกอบการด้านผ้าทอ

...

ในการปฏิบัติการ (Workshop) ได้แบ่งกลุ่มให้ความรู้เป็น 5 กลุ่ม ซึ่งประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 : การสร้างแบรนด์ให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมสู่ตลาดสากล โดย ผศ.ดร.รวิเทพ มุสิกะปาน และ นายศิริชัย ทหรานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมตามเทรนด์แฟชั่นที่ร่วมสมัย

กลุ่มที่ 2 : การต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมตามเทรนด์แฟชั่นร่วมสมัย โดย อาจารย์ ดร.กรกลด คำสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อยอดผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมตามเทรนด์แฟชั่นที่ร่วมสมัย

กลุ่มที่ 3 : การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด โดย อาจารย์ ดร.กิติศักดิ์ เยาวนานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของตลาด

กลุ่มที่ 4 : การผลิตเส้นใยและการย้อมสีธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BGC) โดย นายนุวัฒน์ พรมจันทึก ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเส้นใยและการย้อมสีธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG)

และกลุ่มที่ 5 : กลยุทธ์ทางการตลาดและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้า โดย อาจารย์ ดร.ฐิศิรักน์ โปตะวณิช ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์ทางการตลาดและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สินค้า