นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA เปิดเผยว่า หลังจากที่พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล หรือกฎหมาย DPS (Digital Platform Service) มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 ส.ค.2566 หรือผ่านไปราว 6 เดือนแล้ว แนวทางการกำกับดูแลจะเข้มข้นขึ้น โดยหลังจากที่มีแพลตฟอร์มดิจิทัลทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาแจ้งการประกอบธุรกิจแล้ว 1,168 แพลตฟอร์ม ขั้นตอนต่อไปคือการต้องยื่นแจ้งรายงานประจำปีเพื่ออัปเดตข้อมูล อาทิ รายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายจากการให้บริการในไทย จำนวนและประเภทผู้ใช้บริการ เป็นต้น รวมถึงการแจ้งข้อตกลงและเงื่อนไขการให้บริการ (Terms & Conditions: T&C) ให้ผู้ใช้บริการทราบภายในวันที่ 29 ก.พ.2567 นี้

ด้านนางสาวจิตสถา ศรีประเสริฐสุข รองผู้อำนวยการ ETDA กล่าวต่อว่า ข้อมูลข้างต้นเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ ETDA เห็นภาพบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลในไทยได้ชัดเจนขึ้น ก้าวต่อไปเป็นการยกระดับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลให้มีความโปร่งใส เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ETDA ยังเตรียมขอออกเครื่องหมายรับแจ้ง DPS หรือ “ETDA DPS Notified” เพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ว่าเป็นแพลตฟอร์มที่มีตัวตน เมื่อเกิดเหตุหรือปัญหาสามารถติดต่อได้ มีมาตรการในการบรรเทาความเสียหายและการชดเชยเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่อยู่ภายใต้การดูแลของกฎหมาย DPS

นางสาวจิตสถากล่าวอีกว่า ETDA ยังดำริให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากการกำกับดูแลแพลตฟอร์มมีความหลากหลาย และเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน หากไม่มีการประสานงานกันแล้วอาจเป็นภาระกับผู้ประกอบการ นอกจากนั้นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ETDA ยังได้ออกข้อเสนอการวางมาตรฐานว่าด้วยบริการเก็บเงินปลายทาง (Cash on Delivery) สำหรับบริการอีคอมเมิร์ซ เนื่องจากพบปัญหามากมายโดยเฉพาะจากการสั่งสินค้าผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ตั้งแต่ได้สินค้าไม่ตรงปก ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งจากการหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ข้อสรุปว่าอาจต้องแก้ไขปัญหาผ่านการออกประกาศภายใต้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โดยให้บริษัทขนส่งสินค้าเก็บรักษาเงินของลูกค้าไว้ชั่วคราว เพื่อให้ตรวจสอบคุณภาพสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานก่อน แทนที่จะจ่ายเงินตรงให้ผู้ค้าทันที

...

นอกจากนั้นยังกำลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมในการกำหนดให้แพลตฟอร์มขนส่งประเภท Ride-hailing ได้แก่ แกร็บ เป็นบริการแพลตฟอร์มที่มีลักษณะเฉพาะและกำหนดหน้าที่เพิ่มเติม, แนวทางการดูแลโฆษณาบนบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล, แนวทางการกำกับดูแลแพลตฟอร์มประเภทบริการคลาวด์ และแนวทางการจัดทำกรอบความร่วมมือในการดำเนินคดีอาญาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่