นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการเพื่อการจัด การปัญหามลพิษทางอากาศ ครั้งที่ 1/2567 ตน ได้เน้นย้ำการบูรณาการร่วมกันทำงานเชิงรุก โดยให้ทุกหน่วยงานพิจารณากำหนดมาตรการให้มีความเข้มข้นและเป็นรูปธรรม บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เร่งเดินหน้าคืนอากาศสะอาดให้ประชาชน ที่ประชุมได้ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ปี 2567 ใน 6 ประเด็น คือ
1.สถานการณ์การเกิดไฟในพื้นที่ 11 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวนแห่งชาติ รวมทั้งข้อมูล ข้อเสนอพื้นที่ 11 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อให้เอกชนร่วมลงทุนในการแก้ไขไฟในป่า
2.การกำหนดเงื่อนไขการอนุญาตการเผาและการบริหารจัดการการเผาในพื้นที่เกษตร
3.ผลการกำกับควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตร ทั้งในพื้นที่ปลูกข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ แผนลดการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่สูงและการเชื่อมโยงเงื่อนไขการไม่เผากับสิทธิประโยชน์ของภาครัฐและพื้นที่ปลูกอ้อย การจัดตั้งศูนย์รับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรและการสนับสนุนรถบรรทุกขนส่ง
4.มาตรการเพิ่มเงื่อนไขเรื่องการเผาในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรในการนำเข้า-ส่งออกสินค้า แนวทางการดำเนินการกรณีการใช้มาตรการด้านการค้าและมาตรการด้านภาษี เพื่อควบคุมภาคเอกชนของ ประเทศไทยที่ไปทำธุรกิจหรือนำเข้าสินค้าเกษตรที่มีการเผาจากประเทศเพื่อนบ้าน
5.การบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดลักลอบการเผาในที่โล่ง
6.การประกาศหลักเกณฑ์ในการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน
ปลัด ทส.กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณามาตรการฉุกเฉินยกระดับการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในช่วงสถานการณ์วิกฤติ ประจำปี 2567 เมื่อปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่ามากกว่า 75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร หรือดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทย (AQI) อยู่ในระดับมีผลกระทบต่อ สุขภาพ (สีแดง) ต่อเนื่อง 3 วัน โดยยกระดับความเข้มข้นการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติ.
...
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่