หอมแดงพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดศรีสะเกษ สร้างรายได้ปีละกว่า 1,600 ล้านบาท ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2563
ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศ และอาเซียน ด้วยสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศในท้องถิ่นที่มีความเหมาะสมต่อการเพาะปลูก ประกอบกับเทคนิคการเพาะปลูกของคนในท้องถิ่น จึงทำให้หอมแดงศรีสะเกษมีกลิ่นและรสชาติแตกต่างจากหอมแดงที่มาจากแหล่งผลิตอื่น
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 อุบลราชธานี (สศท.11) รายงานสถานการณ์การผลิตหอมแดงจังหวัดศรีสะเกษ แหล่งผลิตอันดับ 1 ของภาคตะวันออกเฉียง เหนือ คาดว่า เนื้อที่เพาะปลูกทั้งจังหวัด 21,817 ไร่ ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 2
เนื่องจากแหล่งเพาะปลูกหลักได้รับผลกระทบจากอิทธิพลร่องมรสุมในช่วงที่เตรียมการเพาะปลูก ทำให้น้ำในนาแห้งช้า ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถเตรียมแปลงปลูก และเลื่อนการเพาะปลูกออกไป
ทำให้มีเนื้อที่เก็บเกี่ยวทั้งจังหวัด 21,735 ไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1 ผลผลิตหอมแดงมีปริมาณรวม 77,420 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 0.14
เนื่องจากผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1 ประกอบกับเกษตรกรมีการดูแลรักษาแปลงปลูกหอมแดงและมีการบริหารจัดการโรคระบาดในแปลงปลูกหอมแดงได้ดี
โดยผลผลิตหอมแดงในบางพื้นที่ได้ทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2566 แต่จะออกสู่ตลาดมากที่สุดช่วงกลางเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2567 ร้อยละ 70 ของผลผลิตทั้งหมด
ราคาหอมแดง (ราคาตลาด ณ 22 ม.ค.67) แบ่งเป็น หอมแดงสดแก่ (คละ) ราคา กก.ละ 9-10 บาท, หอมปึ่งคละ (หอมแดงที่เก็บเกี่ยวและแขวนตากในโรงเก็บเป็นเวลาประมาณ 14 วัน) ราคา กก.ละ 18- 22 บาท และ หอมมัดจุกใหญ่ ราคา กก.ละ 25-30 บาท
...
ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 80 เกษตรกรจำหน่ายให้กับพ่อค้าในท้องถิ่น และพ่อค้ารายใหญ่ในจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นผู้รวบรวมและส่งออกหอมแดงรายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อส่งขายลูกค้าในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ผลผลิตที่เหลือ ร้อยละ 20 จำหน่ายให้กับพ่อค้าต่างจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง.
สะ-เล-เต
คลิกอ่าน "หน้ามองฟ้า เท้าหยั่งดิน" เพิ่มเติม