นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยถึงปรากฏการณ์เอลนีโญที่เริ่มส่งผลแล้วในหลายพื้นที่ว่า ภาวะเอลนีโญในปีนี้จะหนักกว่าในปี 2566 โดยในปี 2567 อุณหภูมิโลก คาดว่าจะสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งและขาดแคลนน้ำ ทั้งฝนที่จะตกในฤดูฝนน้อยลง ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จะต่ำกว่าร้อยละ 20 ตั้งแต่ ม.ค.-มิ.ย. อากาศจะร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นช่วงที่ท้าทาย สำหรับการปลูกพืช และการผลิตสินค้าเกษตร รวมถึงปศุสัตว์และประมงจะเกิดภาวะแล้งในหลายพื้นที่

“สำหรับเนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2567 คาดว่าจะมี 9.877 ล้านไร่ ผลผลิต 6.351 ล้านตันข้าวเปลือก ให้ผลผลิตไร่ละ 643 กก. ลดลงจากปี 2566 ที่มีเนื้อที่เพาะปลูก 11.099 ล้านไร่ ผลผลิต 7.199 ล้านตันข้าวเปลือก และได้ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 649 กก./ไร่ เนื่องจากผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำส่วนใหญ่และน้ำแหล่งน้ำตามธรรมชาติน้อยกว่าปีที่แล้ว ส่งผลให้น้ำต้นทุนไม่เพียงพอ เกษตรกรในบางพื้นที่จึงปล่อยพื้นที่ให้ว่าง ส่วนผลผลิตต่อไร่คาดว่าลดลง เนื่องจากผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้มีอากาศร้อนและแล้งมากขึ้น ปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว และคาดว่าจะมีวัชพืชขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์”

...

รองเลขาธิการ สศก.ยังได้เผยถึงผลการติดตามและวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร พบว่า สภาพอากาศที่แห้งแล้ง และอุณหภูมิที่สูงขึ้น การระเหยของน้ำมีมากขึ้น จำเป็นต้องใช้น้ำเพื่อการเจริญเติบโตของพืชเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำเข้าแปลงนาสูงขึ้นประมาณไร่ละ 10-20% ต่อไร่ ประกอบกับช่วงฤดูร้อนมักได้รับความเสียหายจากแมลงศัตรูพืช อากาศร้อนทำให้พืชอ่อนแอลง อีกทั้งมีโอกาสถูกโจมตีจากแมลงศัตรูพืชได้มากกว่าปกติ และเกษตรกรจะเลือกใช้ยาฆ่าแมลงในการกำจัดแมลงศัตรูพืชเหล่านั้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายที่เกษตรกรใช้ในการปราบศัตรูพืชและวัชพืชเพิ่มขึ้นไร่ละ 5-10% จากสถานการณ์ข้างต้น คาดว่าภาพรวมต้นทุนการผลิตข้าวนาปรังเฉลี่ยต่อไร่สูงขึ้นโดยรวมประมาณ 3-5%”

“สศก.ขอแนะนำเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ หรือห่างจากแหล่งน้ำเปลี่ยนไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย เพื่อลดความเสี่ยงทั้งด้านต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นและความเสียหายของพืชจากปัญหาการขาดแคลนน้ำ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง พืชผัก เป็นต้น ทั้งนี้จากงานวิจัยพบว่า การปลูกพืชเชิงเดี่ยวทำให้สภาพดินเสื่อมโทรม แตกต่างจากการปลูกพืชหมุนเวียนหรือผสมผสาน นอกจากจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องดินเสื่อมโทรมแล้ว ยังให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า ดังนั้น เกษตรกรควรจะปลูกพืชหมุนเวียนหรือผสมผสานให้มากขึ้นถึงจะอยู่รอดได้และยังช่วยให้เกิดการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ในช่วงเวลาที่หลายๆพื้นที่กำลังประสบปัญหาภัยแล้งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย” นางธัญธิตา กล่าว.

คลิกอ่าน "ข่าวเกษตร" เพิ่มเติม