ประเทศไทยยอมรับบรรจุ “สถานการณ์ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 เป็นฤดูที่ 4” นับแต่กรมควบคุมมลพิษได้ประกาศอย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือน พ.ย.2566-มี.ค.2567 เป็นช่วงการเกิดมลพิษทางอากาศพีกสุด โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล หลังจากนั้นก็เป็นภาคเหนือที่จะมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น
ถ้าดูปัจจัย “ฝุ่นพิษที่เกิดขึ้นแต่ละภูมิภาค” ล้วนมีสาเหตุต่างกัน อย่างเขตเมืองประชากรหนาแน่นโดยเฉพาะ “กรุงเทพฯ” มักมาจากไอเสียรถยนต์ดีเซลบวกกับการจราจรติดขัดส่งผลให้เกิดเขม่าฝุ่นควันมากขึ้น
ยิ่งตอนนี้ “ประเทศไทย” ยังคงใช้เครื่องยนต์มาตรฐานยูโร 4 อันมีอานุภาพการปล่อยฝุ่นระดับ 10 ไมครอน 0.025 กรัมต่อ กม. เมื่อเทียบกับประเทศในยุโรปใช้ยูโร 5-6 การปล่อยฝุ่นมักไม่เกิน 0.005 กรัมต่อ กม.
แต่ในส่วน “พื้นที่ชนบท” ปัญหาฝุ่นมักมาจากการเผาในที่โล่งแจ้งสูงสุดคือ 1.การเผาป่า 69.8% 2.การเผาพื้นที่ภาคเกษตร 26% ตามข้อมูลเชิงลึก GISTDA รายงานจุดความร้อนในช่วงวันที่ 1 ม.ค.-30 เม.ย.2566 มีการเผานาข้าว 38.02% ไร่ข้าวโพดและไร่หมุนเวียน 24.08% ไร่อ้อย 9.9% และเกษตรอื่นๆ 28%
...
ถัดมาคือ 3.การเผาจากพื้นที่อื่น 4.2% ไม่ว่าจะเป็นเผาหาของป่า เผาเพื่อบุกรุกป่าจับจองพื้นที่ทำกิน ไฟป่า และบางส่วนเป็นหมอกควันข้ามพรมแดนส่งผลกระทบต่อภาคเหนือ ตั้งแต่ จ.ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงราย
แล้วมาบวกกับ “ฤดูหนาว” ความกดอากาศสูงจากจีนแผ่มาปกคลุมประเทศไทยกำลังอ่อนลง ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังอ่อนลง ทำให้อากาศนิ่งเกิดความผกผันของอุณหภูมิ “อากาศร้อนกดทับอากาศเย็น” ลักษณะคล้ายฝาชีครอบฝุ่นถูกระบายออกในแนวดิ่ง และแนวนอนไม่ได้กลายเป็นฟุ้งกระจายภายในฝาชีนั้น
ดังนั้นต้นตอ “ฝุ่น PM 2.5” จำเป็นต้องทำความเข้าใจอย่างรอบด้านควบคู่การพิจารณาเชิงลึกของปัญหาแต่ละพื้นที่เพื่อร่วมกันหาแนวทางการแก้ปัญหาที่ตรงจุดนี้ รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกษตร พลังงานและสิ่งแวดล้อม บอกว่า
จริงๆแล้ว “ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไม่ใช่ส่งผลเฉพาะแค่ประเด็นสุขภาพเท่านั้น” แต่ยังสร้างความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจและสังคมผ่านมูลค่าในเชิงเศรษฐศาสตร์มากมายมหาศาล โดยเฉพาะการท่องเที่ยวซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า “ภาคเหนือ” ส่วนใหญ่เคยมีอากาศดีมากเหมาะเป็นแหล่งท่องเที่ยวในหลายจังหวัด
กลายเป็นว่า “ไม่มีใครท่องเที่ยวช่วงเดือน มี.ค.” อันเป็นช่วงฤดูการเผาในที่โล่งแจ้ง และหมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน “ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศหนาแน่น” ส่งผลต่อธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่โดยตรง
ไม่เท่านั้นในแง่ “สังคม” ปัญหาฝุ่นพิษยังส่งผลกระทบต่อครัวเรือนเจ็บป่วยต้องหาแพทย์รักษาสูญเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก แล้วหนักว่านั้น “ฝุ่น PM 2.5 เข้าไปสะสมในร่างกาย” แม้ยังไม่แสดงการเจ็บป่วย “แต่ก็ทำให้สุขภาพเสื่อมโทรม” จนบางครัวเรือนต้องจ่ายเงินซื้อเครื่องฟอกอากาศ และหน้ากากอนามัยที่ป้องกันฝุ่นนั้น
แถมบางพื้นที่ที่ปัญหาฝุ่น PM 2.5 รุนแรงจนไม่สามารถออกมาทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่ค่าฝุ่นสูงได้ อย่างตัวเลขที่เคยประเมินมูลค่าความเสียหายอันเกิดจากผลพ่วงของฝุ่นพิษนี้ “สร้างให้กับครัวเรือนไทยทั้งประเทศในปี 2562 อยู่ที่ 2.17 ล้านล้านบาท” โดยกรุงเทพฯเยอะสุดอยู่ที่ประมาณ 4 แสนกว่าล้านบาท
...
เมื่อเป็นเช่นนี้ “การแก้ปัญหาต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน” โดยเฉพาะภาครัฐควรเร่งออกกฎหมายอากาศสะอาดครอบคลุมประเด็นการจัดตั้งหน่วยงานให้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการแก้ปัญหานี้ ทั้งยังต้องเร่งศึกษาวิจัยเพื่อกำหนดขอบเขต airshed ของฝุ่น PM 2.5 ปัญหาข้ามจังหวัดและข้ามประเทศ
ด้วยการกำหนดนโยบายลดการเผาในภาคการเกษตร เช่น การอุดหนุนเกษตรกรให้ปรับระดับแปลงไร่นา เพื่อใช้เครื่องจักรแทนการเผา โดยให้ครอบคลุมพืชทุกชนิดเพิ่มเติมจากปัจจุบันที่มีเพียงอ้อยเท่านั้น
นอกจากนี้ ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้มีตลาดสำหรับเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อทำให้เศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมีราคา “สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร” ทั้งอาจสร้างตลาดคาร์บอนภาคบังคับในการเก็บภาษีคาร์บอน “การซื้อขายเครดิตคาร์บอน” สำหรับในภาคการขนส่งในการแก้ปัญหาแหล่งกำเนิดฝุ่น
มิใช่เป็นเพียงเปลี่ยนมาตรฐานการปล่อยมลพิษภาครถยนต์ไปเป็นยูโร 6 เท่านั้น “ควรยกเลิกการใช้เครื่องยนต์ดีเซลระยะยาว” แล้วมาผลักดันส่งเสริมการใช้เครื่องยนต์ไฟฟ้า หรือเครื่องยนต์ไฮโดรเจนที่อาจอาศัยเงินอุดหนุนจาก “ภาครัฐเป็นแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยน” ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างการแก้ปัญหาบางส่วนเท่านั้น
“การยกระดับน้ำมันไอเสียยูโร 4 เป็นยูโร 5 ถูกเลื่อนหลายครั้งจนสามารถบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค.2567 ถ้าทำได้ 100% น่าจะช่วยแก้ปัญหาภาคยานยนต์ระดับหนึ่ง แต่ด้วยรถเก่าทั้งรถสิบล้อ รถกระบะถูกใช้งานในระบบค่อนข้างเยอะก็ไม่ได้มีมาตรการเพิ่มเติม คงวนเวียนแค่ตรวจจับควันดำที่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมเท่าไร” รศ.ดร.วิษณุว่า
ตอกย้ำว่า “ภาครัฐควรเพิ่มนโยบายแรงจูงใจเชิงเศรษฐศาสตร์มากขึ้น” โดยเฉพาะภาคเกษตรมักเห็นแต่มาตรการส่งเสริมลดการเผาอ้อยจาก “ภาครัฐ” เพื่อเปลี่ยนผ่านการทำไร่อ้อยแบบดั้งเดิมให้เป็นแบบสมัยใหม่
...
ปัญหาว่า “นาข้าวและไร่ข้าวโพดกลับไม่มีใครพูดถึง” เรื่องนี้ต้องตั้งเป้าแก้ปัญหากับพืชเกษตรต่างๆให้เท่าเทียมกัน เช่นเดียวกับ “ภาคป่าไม้” มักสั่งห้ามเผาแต่ไม่มีทางออกให้ชาวบ้านกรณีไม่เผาจะให้ทำอะไรมีทางออกอื่น และมีเงินช่วยเหลือหรือไม่ ดังนั้นภาครัฐควรมีเงินค่าตอบแทนจูงใจค่าเสีย โอกาสให้หันมาดูแลป่าเยอะขึ้น
ถัดมาคือ “ภาคอุตสาหกรรม” ด้วยปัญหาโรงงานมีนับแสนทั้งขนาดเล็ก กลาง และขนาดใหญ่ แต่ภาครัฐโฟกัสตรวจสอบ “โรงงานใหญ่มีราวพันแห่ง” ไม่อาจลงติดตามโรงงานขนาดกลางและขนาดเล็กได้ด้วยซ้ำ
ทั้งมีกรณี “การแก้ปัญหาผังเมือง” ที่สร้างตึกสูงในพื้นที่แออัดกลายเป็นการจราจรติดขัดเกิดควันพิษบนท้องถนน แล้วตึกสูงนี้มีผลต่อการไหลเวียนอากาศ ฉะนั้นกรณีเขตเมืองประชากรหนาแน่นมักมีมลพิษตกค้างสูง
สุดท้ายย้ำว่า “นายกรัฐมนตรี” ก่อนหน้านี้ได้กล่าวให้คำมั่นสัญญาว่า “อากาศสะอาดต้องเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเราทุกคน และพร้อมที่จะผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาดอย่างเต็มที่” อันน่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับการเดินหน้าสู่การแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 อย่างจริงจังในอนาคตอันใกล้นี้
...
ทว่าด้วยจุดหลัก พ.ร.บ.อากาศสะอาดส่วนตัวมองว่ายังขาด “หน่วยงานมีอำนาจเด็ดขาด” เพราะแต่ละปีมักตั้งกรรมการหลายชุดก็แก้ปัญหาไม่ได้ “กรมควบคุมมลพิษ” ก็ทำได้แค่ประสานงานขอความร่วมมือเท่านั้น
เมื่อเทียบกับ “สนง.ปกป้องสิ่งแวดล้อม หรือ EPA ต่างประเทศต่างมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด” ประเด็นนี้หน่วยงานอาสาหรือภาคประชาชน อยากเสนอให้ตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาดูแลจัดการปัญหาโดยตรง พร้อมตั้งงบประมาณและบุคลากรให้พอเหมาะในแง่มิติกองทุนอากาศสะอาดเป็นหนึ่งเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์
นอกเหนือจากพึ่งพางบประมาณแผ่นดินแล้วกองทุนนี้เก็บเงินมาจากผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษ เพื่อนำเงินไปใช้แก้ปัญหาในฝุ่น หรือมลพิษทางอากาศต่อไป
แน่นอนว่า “การแก้ฝุ่น PM 2.5” ทุกภาคส่วนล้วนสำคัญโดยภาคเอกชนต้องเป็นผู้นำเพราะเป็นผู้ผลิตผู้ขาย “เมื่อมีการซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ย่อมส่งผลกระทบถึงภาคอุตสาหกรรมด้วย
ขณะที่ “ภาครัฐ” มีหน้าที่สร้างระบบฐานข้อมูลที่แน่ชัด พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเอื้อความช่วยเหลือภาคเอกชนด้วยแต้มต่อที่ต่างกันเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ “ประชาชน” ก็ต้องมีความรู้ตระหนักถึงอันตรายของฝุ่นจริงๆ
ย้ำว่าการสร้างกลไก “ปลูกฝังเรื่องสิ่งแวดล้อมในหลักสูตรการศึกษา ตั้งแต่เยาวชน” จะเป็นมาตรการระยะยาวที่ควรเพิ่มเข้าไปได้ แต่ระยะสั้นนี้สื่อมวลชนควรเป็นกระบอกเสียงหลักให้ข้อมูลข่าวสารก่อให้เกิดความตระหนักรู้ถึงความสำคัญ “ฝุ่น PM 2.5” อันจะนำไปสู่การช่วยกันแก้ปัญหาที่ดีได้ในอนาคต.
คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม