นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุขปี 2566 รายงานสถานการณ์เด็กปฐมวัยทุกช่วงอายุที่ได้รับการคัดกรองแล้วพบว่า มีพัฒนาการล่าช้า จำนวน 2,529 คน การจัดบริการสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กและวัยรุ่น พบว่า ผู้ป่วยโรคออทิสติก จำนวน 1,090 คน เข้าถึงบริการ 324 คน ผู้ป่วยสมาธิสั้น 30,490 คน เข้าถึงบริการ 3,400 คน และผู้ป่วยภาวะบกพร่องทางสติปัญญา 13,639 คน เข้าถึงบริการ 1,301 คน กรมสุขภาพจิตจึงได้ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร จัดระบบการดูแลสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ภายในพื้นที่โรงเรียน ชุมชน และสถานพยาบาลในกรุงเทพมหานคร และกระบวนการดำเนินการคัดกรอง รักษา ส่งต่อ และดูแลต่อเนื่อง

นพ.จุมภฏกล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิตได้มอบหมายให้สถาบันราชานุกูลและสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวันรุ่นราชนครินทร์ ค้นหาและช่วยเหลือเด็กกลุ่มเสี่ยงด้วยเครื่องมือ DSPM/DAIM, TEDA4I และระบบสุขภาพจิตโรงเรียนวิถีใหม่ School Health Hero ใน ร.ร.สังกัด สพฐ. ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ใน ร.ร.สังกัดสำนักการศึกษา กทม. เพื่อป้องกันปัญหาการล้อเลียนรังแกหรือการบูลลี่กันในโรงเรียน โดยพัฒนาและยกระดับศักยภาพครูหรือโครงการครูแคร์ใจ เพื่อการส่งเสริมสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น และประสานงานกับ ร.ร.สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ. สถานสงเคราะห์/สถานพัฒนาและฟื้นฟูเด็ก สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการดูแลกลุ่มเด็กเปราะบางทางสังคม รวมถึงการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤติ ตลอดจนบูรณาการชุดข้อมูลทุกหน่วยบริการเข้าด้วยกัน.