สะเทือนขวัญเขย่ากระบวนการยุติธรรมอีกครั้ง “5 โจ๋รุมทำร้ายป้ากบวัย 47 ปี ผู้พิการสติไม่สมประกอบเสียชีวิต” ก่อนร่วมกันนำร่างไปโยนลงสระน้ำข้างโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.สระแก้วเพื่ออำพรางศพ

เรื่องกลับตาลปัตรเมื่อ “ตำรวจจับกุมตัวลุงเปี๊ยกสามีผู้ตาย” ถูกควบคุมตัวไว้ 9 ชม.ก่อนใช้ถุงดำคลุมศีรษะบังคับให้รับสารภาพ กลายเป็นแพะก่อเหตุวิ่งราวทรัพย์ ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ปิดบังซ่อนเร้นศพ และควบคุมตัวไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพนำตัวไปฝากขังที่ศาลส่งเข้าเรือนจำ จ.สระแก้ว

กระทั่งคดีพลิกจาก “หลักฐานกล้องวงจรปิดจุดเกิดเหตุ” ที่ปรากฏวัยรุ่น 5 คนรุมทำร้ายป้ากบจนสลบแล้วอุ้มขึ้นท้ายรถ จยย.ลากตีซ้ำจนเสียชีวิตนำศพโยนลงสระน้ำข้างโรงเรียนนำไปสู่การจับกุมเยาวชนอายุ 13 ปี 2 คน อายุ 14 ปี 2 คน และอายุ 16 ปี 1 คน จำนวนนี้ 2 คนเป็นลูกตำรวจ เบื้องต้นรับสารภาพว่าร่วมกันก่อเหตุจริง

ความจริงยิ่งเป็นที่ประจักษ์มากขึ้น “เมื่อมีคลิปเสียงสนทนาของตำรวจใช้ถุงคลุมศีรษะลุงเปี๊ยกให้รับสารภาพ” ส่งผลให้ ภ.จ.สระแก้ว สั่งย้ายตำรวจเจ้าของเสียงแล้วสอบสวนเบื้องต้นมีตำรวจ 2 นายเข้าข่ายกระทำความผิดนี้ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) มองว่า

พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ
พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ

...

ตามประสบการณ์เคยเป็นตำรวจ “วัยรุ่น 5 คนก่อเหตุฆ่าป้ากบ” น่าจะเกิดจากพฤติการณ์ความคึกคะนอง และสิ่งแวดล้อมกระตุ้นนำพาไปก่อเหตุมากกว่ามีเหตุจูงใจโกรธแค้นสำคัญ เพราะสังคมวัยรุ่นสมัยนี้พ่อแม่ไม่มีเวลาสั่งสอนลูกจนหันไปมั่วสุมเสพยาเสพติด กลายเป็นเด็กเติบโตมาแบบไม่เกรงกลัวกฎหมายมากมายอยู่ขณะนี้

ปัญหาลักษณะนี้ “ไม่ใช่มีเฉพาะใน จ.สระแก้ว” แต่เกิดขึ้นทุกจังหวัดสังเกตจากวัยรุ่นตั้งแก๊งตระเวนสร้างความเดือดร้อนให้ “ชาวบ้าน” บางกลุ่มยามค่ำคืนก่อเหตุวิ่งราวทรัพย์ ทำร้ายผู้อื่นเป็นเรื่องปกติด้วยซ้ำ

ส่วนหนึ่งมาจาก “ตำรวจหละหลวมการปฏิบัติหน้าที่” ปล่อยปละละเลยให้วัยรุ่นมั่วสุมออกไปประทุษร้ายผู้อื่น เพราะการบริหารงานผิดพลาดไม่มีแผนป้องกันรักษาความปลอดภัยต่อชีวิต และทรัพย์สินประชาชนอย่างกรณีของเขตท้องที่ “สภ.อรัญประเทศ” แต่หัวหน้าสถานีกลับไม่รู้ร้อน นอนหลับอย่างสบายใจจริงหรือไม่

กลายเป็นประเด็น “5 เยาวชนฆ่าป้ากบ” สังคมกำลังวิจารณ์การทำงานของตำรวจกรณี “คดีถูกบิดตั้งแต่ต้น” ทำให้ประชาชนเกิดความไม่เชื่อมั่นยอมรับ “การทำงานตำรวจ” ตามหลักกฎหมายแม้ว่าลุงเปี๊ยกจะเดินเข้ามารับสารภาพ “ก็ไม่ใช่จบคดีแล้วส่งฟ้อง” แต่ควรต้องหาพยานหลักฐานอย่างอื่นมาประกอบด้วยเสมอ

เพื่อนำคนทำความผิดมา “ลงโทษ” มิเช่นนั้นลูกนักการเมือง ตำรวจ คนมีสีทำผิดอาจมีผู้รับสารภาพ โดยตำรวจไม่แสวงหาพยานหลักฐานให้รัดกุมเพียงแค่เร่งปิดคดี “คนทำผิดตัวจริงก็ลอยนวล” ส่งผลต่อภาพลักษณ์องค์กรตำรวจ “ประชาชนหมดศรัทธา” ดังนั้น คดีสำคัญผู้ใหญ่ต้องมากำกับดูแลกระบวนการสืบสวนด้วยตัวเอง

ตั้งแต่การหาพยานหลักฐาน “ป้องกันการนำแพะไปลงโทษ” อย่างกรณีคดีฆ่าป้ากบที่เกิดขึ้นอยู่นี้

อันที่จริงกรณี “ลุงเปี๊ยกถูกบังคับให้รับสารภาพ” ส่วนตัวได้รับรายงานมาตั้งแต่ต้นแล้ว ด้วยลุงเปี๊ยกมีการเล่า

เหตุการณ์ให้ชาวบ้านคนอื่นฟังว่า “ขณะเกิดเหตุเห็นวัยรุ่น 5 คนทำร้ายป้ากบ” แต่ไม่ยอมฟังกันด้วยลุงเปี๊ยกเป็นคนขี้เมา และชอบตบตีผู้ตายประจำ ทำให้พฤติกรรมเชื่อมโยงเหตุจูงใจสามารถสันนิษฐานเป็นคนก่อเหตุได้

เหตุนี้ทำให้ “ต่างมุ่งหวังจะจับมาเป็นแพะให้ได้” แต่ตามหลักสอบสวนด้วยการซ้อมทรมานให้รับสารภาพนั้น “เป็นพฤติการณ์กระทำโดยมิชอบ” ส่งผลให้กระบวนการสอบสวนทั้งหมดเป็นโมฆะผิดมาตั้งแต่ต้น

“คดีนี้การสืบสวนถูกบิดมาแต่ต้นแล้ว นับแต่นี้ตำรวจต้องทำความจริงให้ปรากฏมากที่สุด ในการเคลียร์ปัญหาแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดไป คนไหนผิดก็ดำเนินคดีไม่ควรเก็บไว้ เพื่อเรียกความศรัทธาจากประชาชนกลับคืนมาแต่ถ้ายังดันทุรังปกปิดเรื่องราวสถานการณ์ยิ่งจะเลวร้ายจนคนในสังคมขาดความเชื่อมั่นกว่าเดิม” พล.ต.ต.วิชัย ว่า

...

จริงๆแล้ว “เยาวชนคึกคะนองไม่กลัวกฎหมาย” ส่วนใหญ่มักเริ่มมาจาก “ครอบครัว” ไม่มีเวลาดูแลมัวแต่ทำงาน “โรงเรียน” ต้องสอดส่องดูแลเด็กกลุ่มเสี่ยงปรับพฤติกรรมเบื้องต้นกันหรือไม่ แล้วยิ่งปัจจุบันเด็กสามารถเข้าถึง “โซเชียลฯได้ง่าย” ทำให้เกิดการเลียนแบบความรุนแรง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การใช้สารเสพติด” ที่อาจเห็นผู้อื่นสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์นำไปสู่การมั่วสุมดื่มน้ำกระท่อม และสูบกัญชาที่เข้าถึงง่ายในปัจจุบัน กลายเป็นตัวกระตุ้นส่งผลต่อเด็กก่ออาชญากรรมตามมา “กฎหมายกลับเอื้อให้เด็กทำผิด” เพราะเด็กอายุ 12-15 ปี กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษ ทำให้ฮึกเหิมไม่กลัวกฎหมายกว่าเดิม

เมื่อเทียบกับกฎหมายต่างประเทศ “ศาล” สามารถใช้ดุลพินิจจากพฤติกรรม และความรุนแรงของการทำผิดมาพิจารณาลงโทษได้ แต่ว่ากฎหมายไทยกำหนดเกณฑ์อายุไว้ “ศาลต้องตัดสินไปตามนั้น” แล้วลูกคนมีสี นักการเมืองบางคนกลับคิดว่า “พ่อแม่ช่วยล้มคดีได้” กลายเป็นช่องโหว่ให้เยาวชนไม่เกรงกลัวต่อการทำผิดอยู่ทุกวันนี้

...

เช่นนี้หากว่า “ต้องการแก้ปัญหาการใช้ความรุนแรงในกลุ่มเด็ก” ทุกหน่วยงานต้องร่วมกันแก้ไขในทุกจุดของปัญหาควบคู่กันไปโดยเฉพาะ “ปัญหายาเสพติด” มักเป็นบ่อเกิดนำไปสู่การก่ออาชญากรรมทุกประเภท ยกตัวอย่างกรณี “กัญชาเสรี” ตอนนี้ปรากฏพบสถิติของเด็ก และเยาวชนใช้กัญชาแบบสูบสูงมากขึ้นเรื่อยๆ

หนำซ้ำยังจะประกาศ “การครอบครองยาบ้า 10 เม็ดเป็นผู้เสพ” สิ่งนี้เปิดช่องให้ถือครองลักลอบขายกันได้เยอะขึ้น เพราะตอนนี้ยาบ้ามีทุกตรอกซอกซอยซื้อขายกันเพียงราคาเม็ดละ 30 บาท จากสมัยก่อนเม็ดละ 250 บาท “วัยรุ่นซื้อกันได้ง่าย” แล้วอย่าลืมว่าพื้นที่ใดมียาเสพติดมากปัญหาอาชญากรรมก็ต้องสูงตาม

เพราะกว่า 80% ปัญหาอาชญากรรมเกิดจาก “ยาเสพติด” จึงกังวลอนาคตอันใกล้นี้ประเทศไทยอาจกลายเป็นแหล่งมอมเมาจากแนวคิด “ปิดสถานบริการตี 4” ด้วยหลักคนเที่ยวดึกขนาดนั้นมักเกี่ยวกับยาเสพติดทั้งสิ้น

ตอกย้ำว่า “แหล่งผลิตยาบ้าอยู่ประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชายแดนไทย” แล้วสารตั้งต้นใช้ผลิตถูกส่งออกไปจากประเทศไทย “อ้างซื้อใช้ผลิตปุ๋ย” แต่นำไปผลิตยาส่งกลับมาพักไว้ในพื้นที่ จ.สระบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ ก่อนนำมาจำหน่าย “ในกรุงเทพฯ” บางส่วนก็กระจายลงไปยังภูมิภาคอื่น

เรื่องเส้นทางลักลอบนำเข้านี้ “หน่วยงานรับผิดชอบมีข้อมูลอยู่แล้ว” โดยเฉพาะกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด “มักรู้ข้อมูลลูกบ้านทุกคน” ถ้ามีการตรวจสอบกันจริงจังประสานความร่วมมือกับตำรวจ หรือฝ่ายปกครองจะสามารถลดการระบาดของยาบ้าให้น้อยลงได้แต่ว่าทำกันหรือไม่

...

ถ้าพูดถึงในแง่ “กฎหมายยาเสพติดไทยบทลงโทษหนักมาก” เพียงแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปล่อยปะละเลยจนแพร่ระบาดหนักทุกวันนี้

“คนไทยเสพยาบ้า 3 ล้านคน” หากเทียบ 1 คนใช้ยาวันละ 1 เม็ดเท่ากับว่ายาบ้าถูกใช้ 3 ล้านเม็ด/วัน แล้วหากนำวันไปคูณราคายาบ้า 30 บาท/เม็ด ในปีหนึ่งต้องเผาเงินไปหลายแสนล้านบาท

ดังนั้น การปราบปราม “ควรบังคับใช้กฎหมายทุกระบบเข้มข้น” ทั้งเพิ่มโทษข้าราชการที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ช่วยเหลือ หรือสนับสนุน เพราะมีข่าวเสมอว่าเจ้าหน้าที่รัฐบางคนลักลอบจำหน่ายยาบ้าด้วยซ้ำ

เช่นนี้ถ้ายกระดับมาตรการพื้นที่ใดจับยาบ้าแสนเม็ดขึ้นไป “ผู้ว่าฯ ผู้การจังหวัดนั้นต้องถูกย้าย” ด้วยถือเป็นการปล่อยปละละเลยหากทำได้ “ระดับผู้บังคับบัญชาทุกจังหวัด” จะเพิ่มความเข้มงวดการปราบปรามยาเสพติดโดยอัตโนมัติทันที เพราะไม่มีใครอยากโดนโยกย้ายจาก “ยาเสพติด” ที่มักกระทบต่ออาชีพข้าราชการหลายมิติ

ไม่เท่านั้น “ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมชี้เป้าจับกุม” ทั้งให้ความรู้ถึงพิษภัยยาเสพติดในครอบครัว โรงเรียน ชุมชน ผลลัพธ์คือจะทำให้ปัญหาอาชญากรรมความรุนแรงในกลุ่มเด็กและเยาวชนลดลงได้ด้วย

นี่เป็นปัญหาสังคมค้างคามานาน “ตำรวจ” ควรบังคับใช้กฎหมายจริงจัง และทำทุกคดีให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน “ใครทำผิดต้องจัดการเฉียบขาด” ไม่นานจะเรียกความเชื่อมั่นศรัทธากลับคืนมาได้.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม