วันนี้ (19 ม.ค. 67) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มอบแนวทางการดำเนินงานของสมาคมแม่บ้านมหาดไทยสัญจรภาคกลาง-ภาคตะวันออก ครั้งที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด Carbon Neutral Event ระหว่างวันที่ 18-19 มกราคม 2567 ณ โรงแรมจอมเทียน ปาล์ม บีช โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ต อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ในการนี้ได้รับเกียรติจากแพทย์หญิงพักตร์พิไล ทวีสิน ประธานกรรมการคณะคู่สมรสคณะรัฐมนตรี บรรยายในหัวข้อ “ส่งเสริมสร้างสุขอนามัยให้แก่เด็กและแม่ เติบโตอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์มาตรฐานสุขลักษณะ” โดยมี ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย นายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นางสาวปภัสรา ศรีทอง ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดชลบุรี นางสุกุมล คุณปลื้ม ประธานคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดชลบุรี คณะอุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย คณะที่ปรึกษานายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย ประธานแม่บ้านมหาดไทยและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกจาก 25 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระแก้ว สิงห์บุรี อ่างทอง กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี และสระแก้ว ร่วมรับฟัง
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ตนมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาพบปะ และมอบแนวทางการดำเนินงานให้กับคนที่มีความรัก ความเสียสละ โดยเฉพาะความรักและความเสียสละต่อพี่น้องประชาชน ในการช่วยกัน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ซึ่งอยากให้ทุกท่านขับเคลื่อนการทำงานโดยการขับเคลื่อนตามสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ให้ไว้ นั่นคือการทำงานตามหลักภูมิสังคม ซึ่งทั้ง 25 จังหวัดในภาคกลางและภาคตะวันออกนี้ ถึงแม้จะมีภูมิศาสตร์ที่ใกล้เคียงกัน แต่ถ้าหากเรามองถึงศักยภาพรวมถึงจุดแข็งจุดอ่อน เราก็จะพบว่าในแต่ละพื้นที่ในแต่ละจังหวัดมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ดังนั้น การทำงานให้สำเร็จในทุกพื้นที่ก็ต้องทำตามสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ให้อีกประการ นั่นคือการพูดคุยปรึกษาหารือ ซึ่งท่านประธานแม่บ้านมหาดไทยในแต่ละจังหวัดต้องให้ความสำคัญโดยเริ่มจากพูดคุยปรึกษาหารือกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัด อาทิ การแนะแนวทางในการร่วมกันทำประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ และเมื่อเริ่มพูดคุยเราก็ใช้ร่วมกับคิดทำสิ่งที่ดีๆ ให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชน และนำไปสู่ขั้นตอนการลงมือทำ และท้ายสุดเราก็จะได้รับสิ่งดีๆ ร่วมกันในการขับเคลื่อนงาน ผ่านหลักทรงงาน ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมทำ และร่วมรับประโยชน์
“นอกเหนือจากการยึดหลักการทรงงานแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ของสมาคมแม่บ้านมหาดไทยจะนำ RER มาประกอบด้วยโดย R ตัวแรก ได้แก่ Routine Job คือ งานที่เราได้ทำกันเป็นประจำ เป็นงานในหน้าที่การงาน E คือ Extra Job คือ งานนโยบายพิเศษเพิ่มเติมที่ไม่ใช่หน้าที่ประจำ และ R คือ Report ตัวสุดท้าย ที่จะทำให้ทั้ง Routine Job และ Extra Job เกิดผลประโยชน์เป็นหลักเป็นผลด้วยการสื่อสาร ทั้งสื่อสารกับสมาชิกด้วยกันเองภายในองค์กร ภาคีเครือข่าย สื่อสารไปยังผู้บังคับบัญชา ที่สำคัญที่สุดก็คือ การสื่อสารหรือการรายงาน ต่อพี่น้องประชาชนหรือการรายงานต่อสาธารณชน ดังนั้น การสื่อสาร คือ ปัจจัยหลักในความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการยอมรับนับถือยกย่องเชิดชูเกียรติของพี่น้องประชาชน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า หน้าที่สำคัญของสมาคมแม่บ้านมหาดไทยอีกประการ คือ การช่วยกันให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีตั้งแต่ก่อนครรภ์มารดาไปจนถึงเชิงตะกอน ด้วยการทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนทุกมิติ ทั้งการสร้างความมั่นคงทางอาหารผ่านโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีการเลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงกบ ปลูกผัก ผลไม้ พึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมให้คนในหมู่บ้าน ชุมชน เกษตรกร ผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย และทุกๆ ภาคส่วน ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากฐานราก ขอให้ได้ช่วยกันสวมใส่ผ้าไทยตามพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา และท้ายสุดในองค์รวมทุกท่านต้องช่วยกันให้สังคมมีความยั่งยืนในกรอบของหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจากองค์กรสหประชาชาติ เป้าหมายที่ 17 Partnership อันเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนงาน
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การจะทำสิ่งต่างๆ เหล่านี้ให้ยั่งยืนได้ก็เป็นหน้าที่ของเราชาวสมาคมแม่บ้านมหาดไทยทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ที่ต้องช่วยกันสรรหาเชิญชวนให้คนรุ่นใหม่มาเป็นสมาชิก ซึ่งในขณะนี้ในพื้นที่เราประสบปัญหา คือ ผู้ที่มีกลุ่มจิตอาสาส่วนใหญ่สมาชิกจะมีอายุค่อนข้างมาก หากมองถึงความยั่งยืนขององค์กร การที่ผู้สูงอายุต้องรับภาระในการดูแลชาวแม่บ้านมหาดไทยโดยลำพังเป็นสิ่งที่น่ากังวล ซึ่งส่วนนี้เป็นสิ่งสำคัญ ไม่เพียงแต่เกิดขึ้นกับองค์กรแม่บ้านมหาดไทยเพียงเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับทุกองค์กรการกุศลในสังคมปัจจุบัน
“ขอให้ท่านได้ช่วยกันบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น ขอเป็นกำลังใจให้นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และสมาคมแม่บ้านมหาดไทยทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ขยับขยายช่วยกัน Change for Good ทำสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี พ.ศ. 2567 ขอให้ทุกคนได้ช่วยกันทำความดี เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระชนมายุครบ 6 รอบ ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ด้วยการปฏิบัติบูชา โดยการช่วยกัน “บำบัดทุกข์ บำรุงสุข” ช่วยกันทำให้พี่น้องประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เปิดเผยว่า วันนี้ได้รับเกียรติจากแพทย์หญิงพักตร์พิไล ทวีสิน ประธานกรรมการคณะคู่สมรสคณะรัฐมนตรี บรรยายในหัวข้อ “ส่งเสริมสร้างสุขอนามัยให้แก่เด็กและแม่ เติบโตอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์มาตรฐานสุขลักษณะ” โดยได้กล่าวถึงการส่งเสริมสุขอนามัยให้แก่แม่และเด็ก ที่สามารถเริ่มต้นได้ด้วยการดูแลสุขภาพตั้งแต่วัยเยาว์เพื่อปรับให้เป็นวิถีชีวิตตั้งแต่ช่วงเด็ก ซึ่งบางคนมีความเข้าใจว่า เวชศาสตร์ชะลอวัยมักทำกันในคนอายุเยอะ แต่ทุกอย่างต้องเริ่มตั้งแต่วัยเยาว์ซึ่งเราต้องนำความรู้ในส่วนนี้ไปดูแลลูกๆ หลานๆ ของเรา โดยมีเรื่องแรกที่ช่วยกันส่งเสริมสุขภาพให้กับแม่และเด็ก คือ “อาหาร” ขอให้ทุกท่านช่วยกันทานผักผลไม้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60-80 ของแต่ละมื้อ ซึ่งประเทศเรามีพืชผักผลไม้เป็นจำนวนมาก ซึ่งจะประกอบไปด้วยวิตามิน เกลือแร่ สารต้านอนุมูลอิสระ เส้นใยอาหาร และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือการกระตุ้นให้ร่างกายเรามีความเป็นด่างเพิ่มมากขึ้น เราก็จะมีสุขภาพที่ดี ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับพ่อแม่ต้องช่วยกันช่วยกันสอนลูกให้กินผักตั้งแต่เด็ก 6 เดือน ที่เริ่มมีฟันน้ำนมบดเคี้ยวอาหารได้ และต่อมรับรสขมจากพืชผักก็ยังไม่ทำงานหากมีอายุยังไม่เกิน 2 ปี อีกส่วนที่สำคัญ คือ การลงทุนกับไก่ในครัวเรือน เพื่อให้ไข่ไว้รับประทานเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน และมีวิตามินบี รวมถึงแร่ธาตุอื่นๆ ช่วยกันรับประทานไข่แทนการดื่มนมจากสัตว์ รวมถึงการงดน้ำตาล ลดเบเกอรี ลดผงฟู ลดแอลกอฮอล์ ทานอาหารเสริมโพรไบโอติกส์ ลดอาหารแปรรูป ลดอาหารไมโครเวฟ และการดื่มน้ำที่ต้องไม่ขาด ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นที่แม่ควรส่งเสริมให้กับเด็กในวัยเยาว์ได้ปฏิบัติตาม หัวข้อต่อไปเรื่องที่ 2 “การออกกำลังกาย” ขอให้มีการออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน ง่ายๆ ด้วยการเคลื่อนไหวอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอในการดำรงชีวิตในแต่ละวัน เรื่องที่ 3 “การพักผ่อน” เน้นย้ำการนอนหลับที่ดีด้วยการหลับให้สนิทถึง 7-8 ชั่วโมง โดยในห้องก็ขอให้ไม่มีเสียงที่รบกวนการนอน อาทิ โทรทัศน์ การชาร์จแบตโทรศัพท์มือถือ เรื่องที่ 4 “อารมณ์จิตใจ” ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญ ด้วยปัญหาสุขภาพส่วนใหญ่ล้วนมีที่มาจากปัญหาความเครียด ดังนั้น จึงขอให้ช่วยกันทำอารมณ์ให้จิตใจให้ผ่องใสด้วยการทำสมาธิ การยิ้ม ซึ่งเป็นการจัดการความเครียดที่ดีที่สุด และเรื่องสุดท้ายเมื่อเรามีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี เราก็ควรทำให้คนรอบข้างเรามีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีไปด้วยกัน เกิดผลเป็นวงกว้าง นำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีของครอบครัวและสังคม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อตนได้รับฟังการบรรยายจากแพทย์หญิงพักตร์พิไล ทวีสิน ประธานกรรมการคณะคู่สมรสคณะรัฐมนตรี ในหัวข้อ “ส่งเสริมสร้างสุขอนามัยให้แก่เด็กและแม่ เติบโตอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์มาตรฐานสุขลักษณะ” ตนมีความตั้งใจจะนำสิ่งดีๆ เหล่านี้ไปขับเคลื่อน โดยให้กรมการส่งเสริมปกครองท้องถิ่นได้เป็นแม่งานหลักในการหาไก่พันธุ์พื้นเมืองมาให้กับพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ให้ได้มีไข่ไก่ไว้รับประทานตามคำแนะนำของคุณหมอพักตร์พิไลฯ ในส่วนของพืชผักสวนครัวที่เป็นอาหาร กระทรวงมหาดไทยได้มีการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ผ่านโครงการ “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” ตามพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครอบคลุมทุกครัวเรือนในประเทศไทยแล้ว ในส่วนของการออกกำลังกาย ก็ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งจัดหาสถานที่พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก ส่งเสริมให้มีการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ โดยหากมีพื้นที่ว่างรกร้างก็อาจทำประโยชน์ด้วยการทำโครงการ “ทางนี้มีผล ผู้คนรักกัน” มีการจัดสรรแบ่งปันพื้นที่เพื่อก่อให้เกิดความสวยงาม มีการแข่งขันกีฬาในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ซึ่งในส่วนนี้สิ่งที่จำเป็นและสำคัญก็คือ ต้องมี ”ผู้นำ“ ด้วยกำลังของแม่บ้านมหาดไทย ขอให้มีการร่วมแรงร่วมใจกันขับเคลื่อนงาน และขอ Passion จากพวกเราชาวสมาคมแม่บ้านมหาดไทยช่วยกันไปดูว่าในพื้นที่ยังขาดสิ่งใดบ้าง ช่วยกันวางระบบในการขับเคลื่อนงาน มี “ทีมงาน” ช่วยกันเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนอย่างยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง