ช็อกทั้งโลกรับศักราชใหม่ “เหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.6 เขย่าญี่ปุ่น” ระหว่างผู้คนเฉลิมฉลองปีใหม่ ทำให้มีผู้เสียชีวิตร่วมร้อยคนสูญหายอีกกว่า 200 ราย นับเป็นภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายมหาศาล เสมือนสัญญาณเตือนมวลมนุษยชาติว่าภัยธรรมชาติค่อยๆ คืบคลานเข้ามาใกล้ตัวมากขึ้นรุนแรงในทุกวัน

สาเหตุส่วนหนึ่งหนีไม่พ้น “ภาวะโลกร้อน” ต้นเหตุจากมนุษย์เพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่งผลให้สภาพอากาศแปรปรวน “บางพื้นที่แล้งบางแห่งฝนตกหนัก” เป็นผลร้ายใต้ผิวโลกกระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหวภูเขาไฟระเบิดขึ้นนี้ ดร.พิจิตต รัตตกุล ประธานเครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย (TNDR) บอกว่า

ดร.พิจิตต รัตตกุล
ดร.พิจิตต รัตตกุล

ปัจจุบันทั่วโลกต้องเจอการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate Change) จากกิจกรรมที่มนุษย์ทำขึ้น เช่น การเผาเชื้อเพลิง ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซ ก่อเกิดก๊าซเรือนกระจกเหมือนผ้าห่มคลุมโลก “ความร้อนของดวงอาทิตย์ไม่ระบาย” ทำให้ปัจจุบันอุณหภูมิโลกสูงขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับ 40-50 ปีที่แล้ว

...

สังเกตได้ชัดจาก “ในเมืองหนาว” น้ำแข็งขั้วโลกเริ่มละลายจนน้ำทะเลสูง ชั้นธรณีชายฝั่ง กระแสน้ำอุ่นเปลี่ยนจนทิศทางลมและพายุเปลี่ยนตามทำให้ประเทศตั้งอยู่แนวเส้นศูนย์สูตรมักมีสภาพอากาศผันผวนรุนแรงยากต่อการพยากรณ์ “ทั่วโลก” จึงต้องควบคุมการเพิ่มอุณหภูมิเฉลี่ยไม่ให้เกิน 1.5 องศาฯแต่บัดนี้ก็ยังลดไม่ได้ตามเป้า

ยิ่งกว่านั้นนักวิจัยเคย “ศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศหรือภาวะโลกร้อน” ที่มีผลต่อการเพิ่มของปริมาณน้ำฝนตกลงมากระทบใต้ผิวโลกเป็นสาเหตุกระตุ้นแผ่นดินไหว และชั้นใต้ดินอ่อนไหวได้ อย่างกรณี กทม.ชั้นใต้ดินเป็นโคลน เมื่อเกิดแผ่นดินไหวระยะไกลเพียงใดก็ตาม แต่ยังสามารถขยายแรงสั่นสะเทือนนั้นได้ด้วยซ้ำ

ปัญหามีอยู่ว่า “ประเทศไทยตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร” ทำให้ในปี 2567 มีแนวโน้มเผชิญการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศเข้มข้น ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง น้ำกัดเซาะชายฝั่ง และความแปรปรวนภัยพิบัติจากผลพ่วงของภาวะโลกรวนสามารถสังเกตได้จาก “ฤดูหนาวครั้งนี้” จะเห็นได้ชัดว่าล่าช้ากว่าค่าเฉลี่ยปกติ 4-5สัปดาห์

อย่างปกติแล้ว “กรุงเทพฯ และปริมณฑล” มักเริ่มมีอากาศเย็นในช่วงต้นเดือน ธ.ค. “แต่ครั้งนี้ปาไปกลางเดือน” เพราะลมตะวันออกเฉียงเหนือผันแปรจากปกติแถมนำมรสุมลง “ภาคใต้” มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ตั้งแต่ จ.ชุมพรลงไป “เสี่ยงเกิดน้ำท่วมฉับพลัน” มีคลื่นลมทะเลอ่าวไทยกำลังแรงมาตั้งแต่ พ.ย.2566-ม.ค.2567

แล้วอากาศแปรปรวนแบบนี้จะเกิดให้เห็นบ่อยขึ้นเรื่อยๆทั้งภัยพิบัติมีความถี่ เข้มข้น และสลับซับซ้อนมากกว่าเดิม เพราะเมื่อก่อนลมมีความแรง 60–70 กม./ชม. แต่ตอนนี้ใกล้ 100 กม./ชม.ด้วยซ้ำ

แต่ถ้าหากว่า “เป็นภัยแล้งจะยาวนานกว่าเมื่อก่อน” ด้วยปัจจัยอุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 1.5-1.7 องศาฯ “บวกกับไทยต้องเผชิญเอลนีโญมาตั้งแต่ปี 2566–2571” ที่จะเกิดความร้อนสะสมส่งผลต่อภัยแล้งเข้มข้นติดต่อกัน แน่นอนหลายจังหวัดต้องขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค น้ำเพื่อการเกษตร และอุตสาหกรรมค่อนข้างรุนแรง

กลายเป็นโจทย์สำคัญ “ทำอย่างไรให้ชาวบ้านผ่านวิกฤติภัยแล้ง 4–5 ปีนี้ไปได้” เรื่องนี้ภาครัฐคงต้องเข้ามาช่วยสร้างแหล่งน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางใช้รองรับน้ำฝนให้ได้มากที่สุด ส่วนแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็กคงต้องขอความเห็นจากประชาชนร่วมกันขุดสระ หรือขุดบ่อแต่ละครัวเรือนเก็บน้ำฝนไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้ง

...

เสมือนเป็นการสร้างครัวให้ “ชาวบ้านมีที่ประกอบอาหารรับประทานกันเอง” มิใช่ปล่อยให้แต่รอรับของแจกอย่างเดียว “แล้วรัฐบาลต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพ” อย่ามัวให้แต่หน่วยงานส่วนกลางดำเนินการ เพราะจะกลายเป็นปัญหาแก้ไม่ถูกจุด และเข้าไม่ถึงรายละเอียดปัญหาในระดับตำบล และหมู่บ้าน

ไม่เท่านั้นสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงนี้ “ยังก่อให้เกิดโรคอุบัติใหม่ขึ้น” สังเกต 20 ปีมานี้พบไวรัสระบบทางเดินหายใจมากมาย เช่น โรคซาร์ส เมอร์ส อีโบลา และโควิด แล้ว 80% มีต้นกำเนิดมาจากสัตว์ป่า เพราะด้วยอุณหภูมิโลกสูงขึ้น “ก่อเกิดความแห้งแล้ง และความอดอยาก” ทำให้มนุษย์บุกรุกป่าเปลี่ยนเป็นชุมชนแหล่งทำกิน

ขณะที่ “สัตว์ป่าบางชนิดออกมาหากินในหมู่บ้าน” กลายเป็นคนมีโอกาสใกล้ชิดกับสัตว์ป่าพาหะนำโรคหลายสายพันธุ์แล้ว “ความทันสมัย การเดินทางได้ไกล” ก็เคลื่อนย้ายถิ่นฐานเชื้อโรคข้ามทวีปไปพื้นที่ห่างไกลอื่น

หนำซ้ำกว่านั้น “การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและอุณหภูมิโลกเพิ่มสูง” ยังเป็นปัจจัยกระตุ้นเอลนีโญยกระดับกำลังแรง “ปริมาณฝนรวมของประเทศมีแนวโน้มต่ำกว่าค่าปกติ” เป็นการเพิ่มเปอร์เซ็นต์เกิดไฟป่า และหมอกควันข้ามแดนมากขึ้นนำมาสู่ “ปัญหาฝุ่น PM2.5” คาดว่าปี 2567 สถานการณ์ฝุ่นจะมีความรุนแรงกว่าเดิม

เรื่องนี้ส่งสัญญาณมาแต่ปี 2566 “กทม.และปริมณฑล” เริ่มมีปัญหาฝุ่น PM2.5 มาต่อเนื่อง แต่การแก้ปัญหาของรัฐบาลกลับวิ่งไม่ทันกับภัยพิบัติ ทำให้หวนคิดถึงช่วงหาเสียงเลือกตั้ง “พรรคการเมือง” ต่างกระตือรือร้นออกนโยบายแก้มลพิษทางอากาศจริงจัง แต่พอจัดตั้งรัฐบาลเสร็จแผนงานแก้ปัญหาฝุ่นนี้กลับล่าช้ากันหมด

...

เช่นนี้ในเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 “ภาคเหนือ” ปัญหาฝุ่นเกินมาตรฐานน่าหนักใจพอสมควร ดังนั้นคงคาดหวังว่า “รัฐบาลจะเร่งแก้ฝุ่น PM2.5 เป็นรูปธรรม” โดยเฉพาะแหล่งกำเนิดอย่างภาคการเกษตรอาจจะมีมาตรการช่วยเหลือชดเชยลดการเผาได้หรือไม่ หรือเพิ่มการเก็บภาษีรถยนต์เก่าที่ยังคงวิ่งบนถนนชั้นในกทม.

ข้อกังวลถัดมาในปี 2571 “ไทยจะเข้าสู่ลานีญา” คราวนี้สภาพอากาศมีแนวโน้มผิดเพี้ยนแรง เพราะเผชิญอิทธิพลเอลนีโญติดต่อกันมา 5-6 ปี “เกิดความร้อนสะสม และภัยแล้งยาวนาน” อาจเกิดพายุฝนตกหนักในปีนั้น “เสี่ยงน้ำท่วมใหญ่” สร้างความเสียหายมหาศาลกว่าปี 2554 หากภาครัฐไม่เตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติในอนาคต

“การป้องกันภัยพิบัติเป็นปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขเร่งด่วน หากสามารถผันงบประมาณมาพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ และสร้างคลองในเขตขาดแคลนเพิ่มเติมให้มีที่รองรับน้ำน่าจะเป็นการแก้ปัญหาได้ถาวรดีกว่าการใช้เงินเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง และน้ำท่วมไปเรื่อยๆในแต่ละปีสุดท้ายปัญหาก็ยังไม่จบไม่สิ้น” ดร.พิจิตตว่า

...

ทว่าปัญหาสภาพอากาศนี้ “การประชุม COP28” จัดขึ้นวันที่ 30พ.ย.-12 ธ.ค.2566 ค่อนข้างมุ่งหารือมาตรการรักษาไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มเกิน 1.5 องศาฯ และเรียกร้องข้อตกลงให้ทุกประเทศ “ลดภาวะโลกร้อน” พร้อมตั้งกองทุนใหม่เริ่มที่ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และประเทศร่ำรวยให้คำมั่นจะบริจาคเงินอีก 700 ล้านดอลลาร์ฯ

เพื่อช่วยค่าเสียหายจากทางสภาพอากาศแก่ “ประเทศรายได้น้อย” ไม่อาจปรับตัวผลกระทบภาวะโลกรวนได้ โดยแหล่งเงินจะมาจากประเทศพัฒนาที่เป็นต้นเหตุปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สมัยปฏิวัติอุตสาหกรรม

ในส่วน “เครือข่าย TNDR17 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ” ก็มีการประชุมหารือผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนสภาพอากาศเช่นกัน เพื่อให้ข้อมูลด้านวิจัย นวัตกรรม และองค์ความรู้แก่หน่วยงานรัฐ เอกชน ด้วยการจัดหลักสูตรฝึกอบรมป้อนภาคส่วนต่างๆ สร้างความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศUNDRR ขับเคลื่อนเรื่อง MCR2030

ทั้งจับมือ ADPC สนับสนุนการฝึกอบรมงานด้านวิชาการ และความร่วมมือแบบทวิภาคี National Crisisonomy Institute, Chungbuk National University ประเทศเกาหลี และผนึกความร่วมมือกรุงเทพฯ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อยกระดับการพัฒนาขีดความสามารถด้านการจัดการความเสี่ยงและภัยพิบัติในไทย

ย้ำเพราะ “การเปลี่ยนแปลงสภาพดิน ฟ้า อากาศ” ส่งผลกระทบอย่างไม่อาจคาดการณ์ได้ การเตรียมรับมือให้ความรู้แก่ประชาชน และสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัย กระทรวง ทบวง กรม กอง จะเป็นเครื่องมือร่วมกันคิด ร่วมกันทำ อันจะเป็นหนทางสู่การลดความสูญเสียให้น้อยลง.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม