นับว่าหักปากกานักวิชาการไปหลายสำนักสำหรับ “อุบัติเหตุทางถนนในช่วงปีใหม่ 2567” สามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตจุดเกิดเหตุในช่วง 7 วันอันตรายให้เหลือ 284 ราย ต่ำสุดในรอบสิบกว่าปีมานี้
ตามข้อมูลจากศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 สรุปอุบัติเหตุตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค.2566-4 ม.ค.2567 รวมทั้งสิ้น 2,288 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 2,307 คน ผู้เสียชีวิต 284 คน จังหวัดเกิดเหตุสูงสุด คือ จ.กาญจนบุรี 82 ครั้ง และมีผู้บาดเจ็บสูงสุด 89 คน ส่วนจังหวัดผู้เสียชีวิตมากสุด คือ กรุงเทพฯ 19 คน
แม้ว่าปีใหม่ 2567 “นักวิชาการด้านความปลอดภัยทางถนน” เป็นกังวลเกี่ยวกับการขยายปิดสถานบริการตี 4 และพ่วงเคาต์ดาวน์ฉลองปีใหม่ถึง 6 โมงเช้า “อาจเป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงขึ้น” แต่ด้วยเจ้าหน้าที่รัฐ อาสาสมัคร และภาคเอกชน ต่างขันแข็งบูรณาการตั้งด่าน ดูแล บังคับใช้กฎหมาย ทำให้อุบัติเหตุลดลง
กลายเป็นประเด็นร้อนให้ “ต้องถอดบทเรียน” เพื่อเป็นเครื่องมือใช้ในการรณรงค์รับมือช่วงเทศกาลหยุดยาวต่อไปนี้ โดย นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผจก.ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน วิเคราะห์ว่า
ภาพรวมอุบัติเหตุ 7 วันอันตรายมี 2,288 ครั้ง ลดลงจากปีที่แล้ว 6.2% ผู้บาดเจ็บ 2,307 คน ลดลง 5.3% ผู้เสียชีวิต 284 คน ลดลง 10.4% เพราะการกำหนดวันหยุดชดเชยจากวันที่ 2 ม.ค.2567 มาเป็น 29 ธ.ค.2566 ส่งผลให้ประชาชนทยอยเดินทางกันตั้งแต่วันที่ 27-28 ธ.ค.2566 กลุ่มแรกนี้กลับถึงบ้านมีโอกาสสังสรรค์ฉลองได้เร็ว
เริ่มพบอุบัติเหตุตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. มีผู้เสียชีวิต 51 ราย วันที่ 28 ธ.ค.เสียชีวิต 41 ราย “ตัวเลขนี้ไม่ถูกรวมใน 7 วันอันตราย” ทำให้การกำหนดวันป้องกันอุบัติเหตุปีใหม่นี้ไม่สอดรับกับความเสี่ยงอุบัติเหตุจริง ทั้งที่ควรประกาศมาตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. เพื่อให้ท้องถิ่น อาสาสมัคร ตำรวจ ระดมคนตั้งด่านดูแลป้องกันอุบัติเหตุให้ได้ดีกว่านี้
...
ต่อมาสำหรับข้อมูลบ่งชี้ “อุบัติเหตุ–เจ็บ–ตายลดลง” ตาม WHO ต้องติดตามนิยามการตาย 30 วัน เพราะบางกรณีเกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บสาหัสรักษาในโรงพยาบาลหลายวันก่อนเสียชีวิตก็มี เช่น ปีใหม่ 2566 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรายงานการตาย 317 ราย แต่กระทรวงสาธารณสุขระบุยอดครบ 30 วัน 402 ราย เพิ่มขึ้น 25%
ดังนั้นเทศกาลปีใหม่ 2567 “ผู้เสียชีวิต 7 วัน 284 ราย” ถ้าอยากเห็นตัวเลขสอดรับสถานการณ์จริงอาจต้องรอ 30 วัน หรือบวกเพิ่มขึ้น 20% ส่วนสาเหตุมาจากขับรถเร็ว 57% ดื่มแล้วขับ 15.3% แต่ในช่วงเวลาไม่ชัดเจนเว้นคืนเคาต์ดาวน์วันที่ 31 ม.ค.2566 หลัง 01.00 น. มีตัวเลขดื่มแล้วขับเกิดอุบัติเหตุสูงขึ้น 15.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน
หากวิเคราะห์ถนน 52% มักเกิดอยู่ใกล้บ้านรัศมี 5 กม. และ 86% ห่างบ้าน 10 กม.เช่นนี้ ศปถ.จังหวัดต้องจัดการปัญหาหนุนเสริมกลไก “ด่านหน้า” ให้เข้มแข็งทั้งเสริมศักยภาพ กำลังคน ความรู้ และอุปกรณ์ที่เหมาะสม
ประเด็นข้อกังวล “ขยายสถานบริการปิดตี 4 เคาต์ดาวน์ได้ 6 โมงเช้า” ด้วยวันที่ 1 ม.ค.2567 คนกลุ่มหนึ่งเดินทางกลับ กทม.พบว่า” หลับใน 111 กรณี (4.9%)” ซึ่งสาเหตุไม่ชัดมาจากเคาต์ดาวน์จนสว่างหรือไม่ แต่มีข้อมูลเด็ก-เยาวชนต่ำกว่า 20 ปี บาดเจ็บมีการดื่มร่วมด้วย 548 ราย แต่ไม่มีการสืบกลับไปยังร้านค้าจำหน่ายเพื่อดำเนินคดี
เรื่องนี้อนาคต “ต้องมีการสืบสวนสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุทุกราย” ลักษณะคล้ายกระบวนการสืบสวนคดีอาชญากรรม “เพื่อนำไปสู่การติดตามคนร้ายตัวจริงมาดำเนินคดี” เพราะด้วยที่ผ่านมาการเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตมักสรุปสาเหตุจาก “ขับรถประมาท ตัดหน้ากระชั้นชิด” ทำให้ไม่สามารถสาวไปถึงต้นตอร่วมอื่นที่แท้จริงได้
อย่างปีใหม่นี้ “คนต่างชาติเสียชีวิต 18 ราย” เป็นชาวเมียนมา 12 ราย ส่วนใหญ่ขับขี่รถ จยย.ของนายจ้างมาสังสรรค์โดยไม่มีใบขับขี่ เรื่องนี้ที่ประชุมศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุฯ ถกกรณีนายจ้างอนุญาตให้ลูกจ้างขับขี่รถได้อย่างไร เพราะกฎหมายสามารถตั้งข้อหานายจ้างได้ แต่สุดท้ายไม่มีการสืบย้อนหลังดำเนินคดี
จริงๆแล้ว “ตัวเลขการตายในช่วงปีใหม่ลดลง” เพราะด้วยการทำงานบูรณาการร่วมกันทุกฝ่ายอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะ “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.” ที่มานั่งศูนย์อำนวยการป้องกัน และลดอุบัติเหตุฯ สั่งการตำรวจตลอด 7 วัน “การบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดทุกพื้นที่” ทำให้ผู้คนระวังการกระทำผิดกฎจราจร
...
สิ่งนี้เป็นคำตอบให้สถิติคดีเมาแล้วขับสะสม 7 วันอยู่ที่ 7,864 คดีลดลงจากปีที่แล้วจำนวน 703 คดี คิดเป็นร้อยละ 8.2 ทำให้อยากเห็นทุกภาคส่วนบูรณการร่วมกัน และบังคับใช้กฎหมายเข้มข้นขยายต่อเนื่องในทุกวัน
เช่นเดียวกับ ดร.ปัญณ์ จันทร์พาณิชย์ รอง ผอ.กองป้องกันการบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค สะท้อนข้อมูลผ่านเวทีบทเรียนอุบัติเหตุปีใหม่ 2567 จะร่วมสร้างเกราะป้องกัน ลดความสูญเสียได้อย่างไรว่า ปีใหม่มีแนวโน้มดีขึ้น ผู้เสียชีวิต 284 ราย ลดลงจากปีที่แล้ว 33 ราย ส่วนสถิติตรวจแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ 17,104 ราย เมาแล้วขับ 3,948 ราย
ข้อสังเกตว่า “เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี” ประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บเข้ารักษาในโรงพยาบาล “พบแอลกอฮอล์ในเลือด 415 ราย” ทำให้ สตช.มีคำสั่งให้สอบสวนหาต้นทางการขายเครื่องดื่มให้เยาวชนทุกราย เพื่อเป็นการขยายผลสืบย้อนหลัง “เอาผิดร้านค้า” ก็นับเป็นเรื่องที่ดีในการป้องกันเยาวชนเข้าถึงแอลกอฮอล์ได้ง่าย
ปัญหาว่า “การดำเนินคดีเยาวชนเด็กต่ำกว่า 20 ปีเมาแล้วขับ” เท่าที่ทราบอยู่ในอำนาจกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน แต่ไม่มีข้อมูลผลดำเนินการใดๆ ตรงนี้อาจต้องให้ความสำคัญผลทางคดีมากขึ้นหรือไม่
มิเช่นนั้นจะกลายเป็นว่า “เยาวชนเมาแล้วขับไม่ถูกดำเนินคดีเป็นเรื่องปกติ” เพราะอย่าลืมว่าในช่วงเทศกาลนั้น “ประเทศไทยสูญเสียเด็ก และเยาวชน” จากอุบัติเหตุดื่มเมาแล้วขับค่อนข้างสูงขึ้นในแต่ละปี
“อนาคตกำลังมีแผนจะขับเคลื่อนรณรงค์ต่อมาตรการเอาผิดเยาวชนเมาแล้วขับจริงจัง ด้วยการสืบสวนย้อนหลังในการดำเนินการทางกฎหมาย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อีกทั้งยังจะเข้าหารือกับกระทรวงศึกษาธิการกรณีเด็กถูกดำเนินคดีเมาแล้วขับควรมีผลต่อการศึกษาด้วยหรือไม่” ดร.ปัญณ์ ว่า
...
ตอกย้ำภาพรวม “สถานการณ์อุบัติเหตุกลุ่มอายุ 10–19 ปี” ตั้งแต่ปี 2554-2563 ปรากฏพบว่าเด็ก และเยาวชนเสียชีวิต 2.6 หมื่นราย หรือเฉลี่ยปีละ 2,000-3,000 ราย เพราะเป็นช่วงวัยการเดินทางอยู่ประจำ ไม่ว่าจะเดินทางไปโรงเรียน เดินทางท่องเที่ยว รวมถึงการมีกิจกรรมตอนกลางคืนทำให้มีอัตราเสี่ยงเกิดการสูญเสียอยู่ทุกวัน
แล้วประมาณการแนวโน้มปี 2564-2573 จะมีเด็ก และเยาวชนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเพิ่มอีก 3 หมื่นคน
หากดูเฉพาะ “อัตราการบาดเจ็บ” ตัวเลขน่าตกใจมากช่วง 8 ปีมานี้ “เด็ก และเยาวชน” เข้ารักษาในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 2.42 ล้านคน แยกเป็นบาดเจ็บรุนแรง 3.66 แสนราย หรือเฉลี่ย 40,000-50,000 ราย/ปี กลายเป็นผู้พิการปีละ 2,000-3,000 คน ทำให้เห็นว่าเราสูญเสียอนาคตของชาติปีละ 5,000 คน
เมื่อวิเคราะห์มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจในปี 2562 เพียงหนึ่งปี คำนวณจากผู้เสียชีวิต 2,834 ราย ผู้บาดเจ็บรุนแรง 48,704 ราย มูลค่าความสูญเสีย 1.74 แสนล้านบาท
ตามผลจากวิจัยปัญหา “กลุ่มอายุ 15–19 ปีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุสูง” มาจากผู้ใหญ่เป็นผู้ผลิตนักขับขี่มือใหม่กันเอง โดยพ่อแม่ ญาติ หรือเพื่อนฝึกหัดให้กันตั้งแต่อายุ 10-12 ปี 48% อายุ 13-15 ปี 43% โดยเฉพาะเด็กในพื้นที่ต่างจังหวัด “มีความจำเป็นต้องใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ” ถือว่าเป็นช่วงอายุฝึกหัดขับขี่เร็วมากเกินไป
กลายเป็นสาเหตุให้กลุ่มอายุ 15-19 ปี มีการบาดเจ็บ 160,390 คน/ปี กลุ่มอายุ 10-14 ปี บาดเจ็บ 84,804 คน/ปี “อันเป็นอัตราการบาดเจ็บ และเสียชีวิตเกิดขึ้นทุกวัน” แต่ว่าภาครัฐกลับให้ความสำคัญน้อยมุ่งเน้นสนใจเฉพาะเทศกาล และกลุ่มอายุตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มมีสถิติการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุต่ำลง
...
เช่นนี้ควรหันมาลงทุน “ป้องกันอุบัติเหตุแก่เด็ก และเยาวชน” ทุ่มสรรพกำลังให้ความรู้ ข้อกฎหมาย เพิ่มทักษะด้านความปลอดภัย เพื่ออนาคตจะเติบโตมีคุณภาพสามารถปกป้องครอบครัวได้ดีกว่าทุกวันนี้
ย้ำว่ายอดการเสียชีวิตในเทศกาลปีใหม่ก็ดี หรือเทศกาลสงกรานต์ก็ดีเป็นเพียง 5% ของการตายจากอุบัติเหตุตลอดปี ดังนั้นการจัดการป้องกันเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนนจำเป็นต้องทำกันทุกวัน.
คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม