พ.ร.บ.อากาศสะอาดในประเทศพัฒนา เขาทำอย่างไร จึงแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นละออง PM2.5 ได้เบ็ดเสร็จ... อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อม เปิดมุมมองผ่านประสบการณ์ส่วนตัวเอาไว้น่าสนใจ

ประเด็นแรก... “ประเทศไทย” กำลังประสบวิกฤติคุณภาพอากาศโดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ทั้งในเขตเมืองและในภาคเกษตรกรรม รวมทั้งในเขตป่าไม้สาเหตุเกิดจากไอเสียรถยนต์ การปล่อยมลพิษทางปล่องของโรงงาน การเผาในที่โล่ง ฝุ่นข้ามแดน การเผาซากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เผาป่า เผาหญ้าเศษวัชพืช

สนธิ คชวัฒน์
สนธิ คชวัฒน์

“ปัจจัยปัญหาข้างต้นนี้สั่งสมเรื้อรังมานาน...นับเป็นเวลามากกว่า 10 ปีแล้วที่รัฐบาลเองก็ยังแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ไม่ได้ต้องรอฟ้าฝนและโชคชะตาอย่างเดียว”

ประเด็นที่สอง...ในประเทศสหรัฐอเมริกาไม่มี พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่ดูเรื่องมลพิษทั้งหมดเหมือนประเทศไทย แต่แยกเป็นกฎหมายแต่ละเรื่อง เช่น Clean Air Acts, Clean water Acts, chemecal and Toxic waste Acts, PRTR Acts โดยที่รัฐแคลิฟอร์เนียประเทศสหรัฐอเมริกา ก็มีปัญหาคล้ายกับประเทศไทย

...

แต่...เขาแก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จตั้งแต่ ค.ศ.2016 หรือ พ.ศ.2559 โดยได้ใช้กฎหมายอากาศสะอาดและมีการจัดการอย่างจริงจังของภาครัฐ ซึ่งกฎหมายอากาศสะอาดในสหรัฐอเมริกาหรือ The Clean Air Acts (CAA) ถูกกำหนดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1970 โดยมี องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งอเมริกา หรือ US.EPA เป็นผู้ดูแล

คำถามสำคัญมีว่า...กฎหมายฉบับนี้มีหลักการอย่างไร?

คำตอบก็คือ หนึ่ง...มีการตั้งคณะกรรมการน้อยมากโดยมีเพียงแค่คณะกรรมการบริหารอากาศสะอาดโดย US.EPA ขึ้นตรงกับประธานาธิบดีโดยตรง ทำหน้าที่กำหนดนโยบายในภาพรวม และตั้งคณะกรรมการจัดการอากาศในแต่ละรัฐขึ้นกับผู้ว่าการรัฐ ทำหน้าที่บริหารจัดการในพื้นที่ตนเอง

ถัดมา...มีการกำหนดประเภทและขนาดแหล่งกำเนิดมลพิษหลักที่ต้องควบคุม โดยเฉพาะแหล่งกำเนิดที่มีโอกาสปล่อยมลพิษออกมาทั้งฝุ่นละออง ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และไฮโดรคาร์บอนด์ ตั้งแต่ 10 ตันต่อปีขึ้นไป

และ...กำหนดให้แต่ละแหล่งกำเนิดมลพิษดังกล่าว ต้องได้รับใบอนุญาตการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศด้วย โดยกำหนดค่าการปล่อยมลพิษทางอากาศเป็นค่า Loading หรือความเข้มข้น x อัตราการปล่อยในแต่ละปีด้วย...รวมทั้งยังกำหนดให้แหล่งกำเนิดมลพิษดังกล่าวจะต้องใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดในการควบคุมการปล่อยมลพิษทางอากาศหรือ Best Available control Technologies หรือ BACT เท่านั้น

สาม...กำหนดให้แหล่งกำเนิดมลพิษทุกแหล่งต้องจัดทำบัญชีการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศรายงานให้ผู้ว่าการรัฐและ US.EPA พิจารณารวมทั้งต้องเปิดเผยให้สาธารณชนทราบด้วย

สี่...ให้อำนาจ US.EPA และแต่ละรัฐออกกฎเกณฑ์จำกัดการปล่อยมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรม ยานยนต์ และแหล่งกำเนิดต่างๆจากมนุษย์ เช่น การเผาในที่โล่ง เตาเผาขยะ โดยมีข้อกำหนดเป็นกฎหมายในการควบคุมอย่างชัดเจน เช่น ห้ามเผาในที่โล่ง ห้ามเผาตอซังฟางข้าว

หากมีความจำเป็นต้องเผาจะต้องขออนุญาตทุกครั้ง ซึ่งต้องจำเป็นจริงๆจึงจะอนุญาตและ US.EPA จะเข้าไปสนับสนุนแต่ละรัฐในการควบคุมมลพิษจากแต่ละแหล่งกำเนิดอย่างเข้มงวด และ US.EPA มีอำนาจในการเข้าไปจัดการแทน หากแต่ละรัฐไม่ดำเนินการหรือดำเนินการแล้วไม่ได้ผล

ห้า...รัฐจะสร้างเครือข่ายการติดตามตรวจสอบมลพิษทางอากาศที่อาจจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างเป็นระบบ โดยประชาชนเข้าถึงได้ง่าย รวมทั้งตั้งอาสาสมัครเฝ้าระวังทำงานร่วมกับ US.EPA

หก...กำหนดแผนปฏิบัติการระดับรัฐในการจัดการมลพิษอากาศในพื้นที่ของตนเองได้หรือเรียกว่า SIP (State Implement Plans) เป็นการกระจายอำนาจลงไปในระดับเมืองและท้องถิ่น

...

เจ็ด...องค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งอเมริกาหรือ US.EPA ขึ้นกับประธานาธิบดีโดยตรง ทำหน้าที่ออกกฎระเบียบและให้ความช่วยเหลือรัฐต่างๆในการวางแผน ทบทวนแผนและตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายของแหล่งกำเนิดต่างๆ โดยสามารถลงโทษและฟ้องศาลได้

รวมทั้งใช้อำนาจประธานาธิบดีประกาศภาวะฉุกเฉินทางสิ่งแวดล้อมเพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาได้แบบเบ็ดเสร็จแทนหน่วยราชการต่างๆ เมื่อพบว่ามลพิษอากาศในบรรยากาศกำลังจะมีผลต่อสุขภาพมนุษย์

แปด...The Clean Air Acts ให้อำนาจประชาชนในการฟ้องร้องรัฐบาลหากล้มเหลวในการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศจากทุกแหล่งกำเนิด

ประเด็นที่สาม...การยกร่าง พ.ร.บ.การจัดการอากาศสะอาดในประเทศไทยของรัฐบาล จะต้องมองภาพรวมให้กว้างมากกว่าแค่การจัดการฝุ่นละออง PM2.5 อย่างเดียว...จะต้องมีเจ้าภาพในการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศทุกแหล่งกำเนิดได้อย่างเบ็ดเสร็จ

รวมทั้งเมื่อมีการประกาศแผนปฏิบัติการแล้วจะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ในการควบคุมมลพิษทางอากาศทุกแหล่งกำเนิดด้วย

“...เราควรจัดให้กรมควบคุมมลพิษเป็น Thai EPA อยู่ภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรีขึ้นตรงกับท่านนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ตรวจสอบและปรับสมดุลกับหน่วยงานพัฒนาเช่นเดียวกับ US.EPA หรือไม่...โดยมีอำนาจเข้าไปกำกับควบคุม ดูแลให้ปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด....

...

ขณะที่หน่วยงานอนุญาตทำหน้าที่ส่งเสริมให้โครงการต่างๆเกิดการพัฒนาอย่างเต็มที่และอย่างยั่งยืน ไม่ใช่อนุญาตเองแล้วไปตามจับเองแบบทุกวันนี้...ซึ่งอยากที่จะทำได้เหมือนปัจจุบัน”

พุ่งเป้าไปที่ “พ.ร.บ.อากาศสะอาด” ฉบับของรัฐ (ไทย) จะมีการแก้ไขปัญหาฝุ่น...ได้จริงหรือไม่?

อาจารย์สนธิ บอกว่า คำตอบคือไม่แน่ใจเพราะร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดของรัฐมีหลายเรื่องที่ซ้ำซ้อนกับ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมปี 2535 ได้แก่ การบริหารจัดการโดยแต่งตั้งกรรมการหลายชุด

อาทิ คกก.นโยบายอากาศสะอาดซ้ำกับ คกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเหมือนกัน, คกก.บริหารจัดการอากาศสะอาด (วิชาการ) ซ้ำกับ คกก.ควบคุมมลพิษ, คกก.อากาศสะอาดพื้นที่เฉพาะซ้ำกับ คกก.เขตควบคุมมลพิษ, พนักงานอากาศสะอาดซ้ำกับพนักงานควบคุมมลพิษ

“อากาศสะอาด” ไม่ใช่แค่ “ฝุ่น PM2.5” อย่างเดียว แต่ยังรวมถึง TSP (ฝุ่นใหญ่), PM10, SO2, NO2, CO, HC และ VOCs (สารอินทรีย์ระเหยง่ายซึ่งหลายตัวเป็นสารก่อมะเร็ง) ทั้งหมดต้องถูกควบคุมทั้งจากแหล่งกำเนิดอยู่กับที่และแหล่งกำเนิดเคลื่อนที่ ซึ่งถูกกำหนดใน พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535 แล้ว

...

ในแง่หลักการขับเคลื่อน ถ้าสามารถใช้ “เงินกองทุนสิ่งแวดล้อม” ใน พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางด้านเศรษฐศาสตร์ก็จะได้ผลดีมากขึ้น...แต่ยังไม่มีการปรับปรุงแต่อย่างใด

ถ้าหาก พ.ร.บ.นี้จะควบคุมเฉพาะฝุ่น PM 2.5 ก็ต้องประกาศให้ชัดว่าเป็น พ.ร.บ.ควบคุมฝุ่น PM 2.5 และฝุ่นข้ามแดน...การออกกฎหมายก็จะต้องมีนโยบายที่ชัดเจน อีกทั้ง “จุดอ่อน” ที่ยังแก้ไขปัญหา “ฝุ่น PM2.5” ไม่ได้ผลทั้งที่มีแผนปฏิบัติการวาระแห่งชาติ จริงๆแล้ว...เกิดจากอะไรกันแน่?

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม