จระเข้น้ำจืด จระเข้น้ำเค็ม ปลาตะพัด ปลายี่สกไทย และปลาบึก จัดเป็นหนึ่งในสัตว์น้ำที่อยู่ท้ายอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือ CITES ในบัญชีที่ 1 ที่ถือว่าเป็นสัตว์น้ำที่ใกล้สูญพันธุ์ ห้ามทำการค้าในเชิงพาณิชย์
แต่อนุสัญญามีข้อกำหนดว่า หากสัตว์น้ำนั้นสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ในที่เลี้ยง และได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักเลขาธิการ CITES จะสามารถทำการค้าระหว่างประเทศได้
และถือเป็นอีกเรื่องที่น่าภาคภูมิใจของประเทศ ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีพิธีมอบหนังสือแสดงการขึ้นทะเบียนสถานที่สามารถเพาะพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อการค้าระหว่างประเทศ กับสำนักเลขาธิการ CITES ให้กับฟาร์มและหน่วยงานที่ดำเนินการเพาะพันธุ์เพื่อส่งออกให้แก่หน่วยงานของกรมประมง
ได้แก่ ฟาร์มจระเข้น้ำจืด 1 ฟาร์ม ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด และศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด (เพาะพันธุ์ปลาบึกและปลายี่สกไทย) หน่วยงานของกรมประมง 6 แห่ง
สำหรับจระเข้น้ำจืด (Crocodylus siamensis) กรมประมงได้พยายามผลักดันและพัฒนาศักยภาพเกษตรกรไทยในการเพาะเลี้ยง เนื่องจากธุรกิจการค้าในต่างประเทศมีความเติบโต และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค
จัดเป็นสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจในทุกส่วนของอวัยวะ ไม่ว่าจะเป็นเลือด เนื้อ หนัง กระดูก ไขมัน ฯลฯ โดยตั้งแต่ปี 2536 ไทยได้เริ่มขึ้นทะเบียนกับสำนักเลขาธิการ CITES จนปัจจุบันมีผู้เพาะพันธุ์จระเข้ไทยได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักเลขาธิการ CITES 29 แห่ง สร้างรายได้จากการส่งออกกว่า 7,000 ล้านบาท
ส่วนปลาบึก และปลายี่สกไทย นับเป็นครั้งแรกที่บ้านเราได้รับการขึ้นทะเบียนสถานที่เพาะพันธุ์เพื่อการค้าระหว่างประเทศจากสำนักเลขาธิการ CITES และถือเป็นประเทศแรกของโลก เนื่องจากได้รับการพิจารณาว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเพาะเลี้ยงหรือเพาะพันธุ์อย่างมาก และเป็นที่ต้องการของตลาดระหว่างประเทศ
...
สำหรับศูนย์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน 6 แห่ง ได้แก่ 1.ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเลย 2.ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดกาญจนบุรี
3.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดอุดรธานี 4.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดหนองคาย 5.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดพระนครศรีอยุธยา และ 6.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดราชบุรี.
สะ-เล-เต
คลิกอ่านคอลัมน์ “หน้ามองฟ้า เท้าหยั่งดิน” เพิ่มเติม