นายธีระ วัชรปราณี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า มติ ครม. เมื่อวันที่ 2 ม.ค.2567 ที่ปรับลดภาษีแอลกอฮอล์บางประเภท เป็นของขวัญปีใหม่ เป็นเรื่องน่ากังวลในมุมมองสุขภาพ อยากขอเตือนให้รัฐบาลคำนึงชั่งน้ำหนักให้ดี เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าสารเสพติด สร้างปัญหาและผลกระทบ องค์การอนามัยโลกก็แนะนำว่ามาตรการขึ้นภาษีมีประสิทธิภาพสูงในการควบคุม มีผลศึกษาพบว่า อัตราการลงทุนต่อการควบคุมแอลกอฮอล์ 1 ดอลลาร์ จะได้ผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ 8 ดอลลาร์ คือ ลงทุนแก้ปัญหา จะได้ผลตอบแทนมากกว่าที่จะปล่อยให้เกิดปัญหา ขณะที่รัฐได้ภาษีที่เก็บมากขึ้น คนดื่มคนป่วยมีแนวโน้มลดลง ค่าใช้จ่ายในการรักษาลดลง แต่รัฐบาลคิดตรงข้ามลดภาษีเพื่อกระตุ้นการดื่ม หวังได้ภาษีจากการดื่มที่เพิ่มขึ้น แล้วปล่อยให้การรักษาสุขภาพเป็นอีกเรื่อง ดังนั้นการอ้างว่าเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวต่างชาติให้มาดื่มไวน์ของไทยนั้น จริงๆ คือการแก้ปัญหาโดยสร้างปัญหาอีกปัญหาตามมา

ด้าน ศ.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า มาตรการภาษีและราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นเครื่องมือสำคัญควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลกระทบที่เกิดขึ้น เนื่องจากราคาที่สูงขึ้นจะลดแรงจูงใจ นำไปสู่การลดปริมาณบริโภค ลดโอกาสเริ่มดื่มในผู้ไม่เคยดื่มมาก่อน.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่