ณ ปัจจุบัน ประเมินกันว่า การระบาดของ “โควิด-19” กำลังเปลี่ยนโฉมจากเดิม...จากรอบปีกว่าที่ผ่านมา ซึ่งมีลักษณะซุปสายพันธุ์ที่มีไวรัสหลายตัวระบาดในช่วงเวลาเดียวกัน ในสัดส่วนที่ไม่ต่างกันมากนัก...มีแนวโน้มที่การระบาดปัจจุบันจะนำโดย “JN.1” เป็นสายพันธุ์หลัก

แม้จะมีสายพันธุ์ใหม่ๆที่เกิดขึ้นจากการผสมข้ามสายพันธุ์ เช่น XDD, XDK ซึ่งเป็นการผสมระหว่าง JN.1 กับ XBB นั้น แต่พบว่าสายพันธุ์ใหม่เหล่านี้ไม่ได้มีสมรรถนะที่จะแพร่ระบาดเหนือกว่า “JN.1”

จึงเป็นที่มาของการมองไปในไตรมาสแรกของปี 2567 นี้ว่า “JN.1” จะเป็นสายพันธุ์หลักที่ครองการระบาดทั่วโลกรวมถึงไทยเราด้วย และคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าก้าวย่างของ “โควิด-19” จะเป็นอย่างไร

ช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ยังโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)” วิเคราะห์การระบาดของไทย (ตัวเลขรายงานรายสัปดาห์ 24-30 ธันวาคม 2566) ไว้ด้วยว่า มีจำนวนผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล 594 ราย สูงกว่าสัปดาห์ก่อน 7%...เสียชีวิต 3 ราย

ปอดอักเสบทะลุไปถึง 120 ราย เกินร้อยติดต่อกันมา 3 สัปดาห์ มากกว่าสัปดาห์ก่อน 6.2% นับว่าสูงสุดในรอบ 4 เดือน นับตั้งแต่ช่วงต้นกันยายน 2566 เป็นต้นมา

...ใส่ท่อช่วยหายใจ 74 ราย สูงกว่าสัปดาห์ก่อน 13.8% เป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือนเช่นกัน และจำนวนผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจนี้มากขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 4 ติดต่อกัน

คาดประมาณการ “ติดเชื้อใหม่” ในแต่ละวันอย่างน้อย 4,243-5,893 ราย

...

ย้ำว่าปัจจุบัน BA.2.86.x มาครองการระบาดแทนที่สายพันธุ์เดิมอย่าง EG.5.x เรียบร้อยแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง JN.1 (คือสายพันธุ์ BA.2.86.1.1) ซึ่งตอนนี้ครองสัดส่วนหลักทั่วโลก

“ช่วงเทศกาลวันหยุดยาวเป็นช่วงเวลาที่ควรประเมินสุขภาพตนเองให้ดี ยิ่งหากไปเที่ยว ร่วมกิจกรรมต่างๆ ถ้าไม่ป้องกันตัวก็มีโอกาสติดเชื้อแพร่เชื้อกันได้มาก หากมีอาการไม่สบาย ควรตรวจโควิด-19 แม้วันแรกๆได้ผลลบอย่าชะล่าใจ ให้ตรวจถึงวันที่ 4-5 หลังจากเริ่มมีอาการ เพราะไวรัสจะพีกช่วงนั้น”

...ไปทำงาน เรียน หรืออื่นๆ ควรป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ

“ดูแนวโน้มทั่วโลกแล้ว ประเมินว่าไทยเรามีโอกาสติดและป่วยกันได้มากในช่วง 4-6 สัปดาห์แรกของปีนี้ ดังนั้นหากตัดไฟแต่ต้นลมได้ ย่อมจะดีกว่า ความใส่ใจสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ...”

ย้อนไปก่อนหน้านี้เสียงเตือนล้วนอยู่ในแนวทางเดียวกัน Dr.Maria Van Kerkhove จากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ในรอบเดือนที่ผ่านมาจำนวนผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลและไอซียูทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่าเดิมถึง 35%

...“ไปกิจกรรมต้องป้องกันตัวให้ดีใส่หน้ากาก อยู่ที่ระบายอากาศดี เลี่ยงที่แออัด ล้างมือหลังจับสิ่งของสาธารณะ หากไม่สบายควรอยู่บ้านไม่ควรตะลอนครับ ไม่ใช่ปล่อยจอยอ้างว่าหลีกเลี่ยงโควิดได้ยาก ย้ำว่า...ป้องกันได้ด้วยความใส่ใจ ถ้าป่วยแล้วจะลำบากกันรอบวง”

ช่วงส่งท้ายปีเก่า รศ.นพ.ธีระ ยังย้อนทบทวนสถานการณ์ต่างประเทศด้วยว่า...ทั่วยุโรปล้วนเผชิญกับ BA.2.86.x (รวม JN.1) มาระยะหนึ่งแล้ว ก่อนหน้าที่จะระบาดไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบัน

“ออสเตรีย” เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เราเห็นว่า โรคโควิด-19 นั้นทำให้ผู้ติดเชื้อป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาลมากขึ้นชัดเจนในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา โดยมีสัดส่วนของผู้ป่วยโควิดมากกว่าไวรัสทางเดินหายใจอื่นๆอย่างมาก และครองสัดส่วนกว่า 50% ในช่วง 4-6 สัปดาห์ที่ผ่านมา

ดังนั้นหากมีการระบาดเยอะ ก็จะเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาลกันได้มาก

แน่นอนว่าช่วงปลายปีเช่นนี้ คนไปเที่ยวต่างประเทศกันมาก จึงควรรับรู้สถานการณ์ เพื่อจะได้ระมัดระวังป้องกันตัว น่าสนใจด้วยว่า ณ ปัจจุบัน ผลการสำรวจแนวโน้มของปริมาณ “ไวรัส” จากน้ำเสียของชุมชนในประเทศต่างๆมีดังนี้

ประเทศที่มีอัตราการตรวจพบไวรัสในน้ำเสียจากชุมชนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน สโลวะเกีย สโลวีเนีย ฮังการี นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก

ประเทศที่มีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลง...คงที่ ได้แก่ เดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์ ไอร์แลนด์ สกอตแลนด์ โปแลนด์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา อินเดีย ฮ่องกง และญี่ปุ่น

ประเทศที่มีแนวโน้มลดลงหลังพีกไปแล้ว ได้แก่ ออสเตรีย และเบลเยียม ส่วนประเทศที่ไม่มีข้อมูล ได้แก่ สาธารณรัฐเชค ลัตเวีย ลิทัวเนีย อังกฤษ และอิตาลี

ประเด็นสำคัญมีว่า...ผลการสำรวจไวรัสในน้ำเสีย ถือเป็นตัวชี้วัดโดยอ้อมที่ใช้ประกอบการประเมินสถานการณ์ระบาดได้และดูควบคู่ไปกับข้อมูลอื่นๆ เช่น ข่าวสารเกี่ยวกับการระบาดแต่ละพื้นที่ ปัญหาเกี่ยวกับจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้นในโรงพยาบาลท้องถิ่น การประกาศเตือนในแต่ละพื้นที่ ฯลฯ

...

“การเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ ควรระมัดระวัง ป้องกันตัวด้วย เพราะหากไม่สบายระหว่างเดินทาง ย่อมไม่ใช่เรื่องสนุก และค่อนข้างลำบากในการหาหยูกยา และเข้าถึงบริการดูแลรักษาขอให้มีสุขภาพดีกันทุกคน ความใส่ใจสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญครับ”

ปิดท้ายด้วยบทสรุปสถานการณ์เด่นด้าน “สาธารณสุข” ปี 2566 อันดับหนึ่ง...หมดยุคขั้วนโยบายสุขภาพ-ท่องเที่ยว-เดินทาง

อันดับสอง... กัญชา กระท่อม ส่งผลกระทบต่อสังคมทั่วหน้า ทั้งเด็ก เยาวชน ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ

อันดับสาม...จำนวนอาชญากรรม ความรุนแรง การทำร้าย ฆ่า จี้ ปล้น ปัญหาจิตเวช มีมากมาย และ...สัมพันธ์กับสิ่งเสพติด การพนัน และคอร์รัปชันในแต่ละระดับ

อันดับสี่...ไข้เลือดออก ไข้หวัดใหญ่ โรคพิษสุนัขบ้า ฝีดาษลิง มีการระบาดมากขึ้นกว่าสถิติปีก่อนๆ สะท้อนถึงปัญหาในด้านการควบคุมป้องกันโรค และพฤติกรรมสุขภาพของประชาชน

อันดับห้า...การพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ากลับเข้ามาสู่เวทีหลักตามแนวทางที่ควรอีกครั้ง

อันดับหก...แคมเปญให้ความรู้และรณรงค์ให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิง ได้รับการตอบรับจากประชาชนดีมาก

...

อันดับเจ็ด... “COVID–19 is not over” ...โควิด-19 ยังไม่จบและเริ่มเห็นช่องว่างของระบบบริการที่แตกต่างกันมากระหว่างประเทศ

อันดับแปด...กระแสลมบนที่เคยมุ่งเน้นสุขภาพเชิงพาณิชย์ เริ่มกลับเข้าที่เข้าทางมากขึ้น และมีความเป็นระบบมากขึ้น

อันดับเก้า...ปัญหาด้านบุคลากรยังคงเป็นปัญหาเรื้อรัง ไม่ใช่จากแค่เชิงปริมาณ แต่ต้องการการพัฒนาระบบการทำงาน สิ่งแวดล้อม เครื่องไม้เครื่องมือ รวมถึงสถานที่พัก อาหารการกิน และอื่นๆ

เพื่อให้เกิดสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของคนทำงานในระบบ

อันดับสิบ...มลภาวะทางอากาศ “PM2.5” ยังคงเป็นปัญหาที่หนักตามฤดูกาล และส่งผลกระทบต่อทุกคนในสังคม จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

โดยสรุปแล้ว...ปี 2566 โดยเฉพาะอย่างยิ่งครึ่งปีหลัง ภาพรวมด้าน “สาธารณสุข” ดูจะมีแสงสว่าง ณ ปลายอุโมงค์ แม้จะมีปัญหา “สุขภาวะ” มากมายที่ต้องได้รับการจัดการแก้ไข โดยหลายต่อหลายเรื่องก็เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นแบบโดมิโนจากอดีต ซึ่งต้องแบกรับแก้ไขกันไปในระยะยาว.

...

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม