วันเสาร์สบายๆวันนี้ ผมมีเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการดื่มเหล้าเบียร์มาฝากทุกท่าน เป็นข้อมูลที่มูลนิธิแก้ไขปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ (มปอ.) รวบรวมจากสถาบันวิชาการหลายแห่ง การดื่มสังสรรค์ดื่มฉลองเป็นเรื่องปกติในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโอกาสสำคัญ หรือเทศกาลงานรื่นเริง แต่จะดื่มอย่างไรให้เกิดความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย อย่างเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุทางถนนมีคนเสียชีวิตหลายร้อยศพ ล้วนเกิดจากสาเหตุเดิมๆ คือขับซิ่ง เมาแล้วขับ และตลอดทั้งปีมีคนตายจากเหตุเมาแล้วขับประมาณ 3 พันราย

เทคนิคการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผมนำมาฝากวันนี้ เริ่มจากดื่มอย่างไร ดื่มแค่ไหนถึงจะรอดจากเจอด่านตรวจ ซึ่งไม่ใช่รอดเพราะโกงเครื่องตรวจวัด แต่รอดเพราะปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดไม่ถึงเกณฑ์ถูกจับเมาขับ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีหลายชนิด แตกต่างกันไปตามแหล่งต้นกำเนิด วัตถุดิบ วิธีปรุงและผลิต รวมถึงความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ที่ผสมอยู่ เช่น เบียร์ 3.5-7% เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบพร้อมดื่ม (RTD) 5-7% สาโท อุ กะแช่ 7-15% ไวน์ แชมเปญ 11-13% ลิเคียว 25-40% เหล้าขาว สาเก โซจู 35-40% วิสกี้ บรั่นดี คอนยัค วอดก้า รัม จิน ตากิล่า 35-40%

1 ดื่มมาตรฐาน (Standard Drink) เช่น เบียร์ 350 มล. ไวน์ 100 มล. เหล้า 30 มล. จะทำให้เกิดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดประมาณ 15–20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ตับจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงในการย่อยสลายแอลกอฮอล์ในเลือดประมาณ 15 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เท่ากับว่า 1 ดื่มมาตรฐานจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงที่ตับจะขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกาย ลองเอาไปคำนวณกันดูนะครับว่าปกติแล้วท่านดื่มเกินค่ามาตรฐานไปมากน้อยแค่ไหน

สำหรับการตรวจหาระดับแอลกอฮอล์ในเลือด สามารถตรวจได้ภายใน 5 นาทีหลังสิ้นสุดการดื่ม และระดับแอลกอฮอล์จะขึ้นสูงสุดภายใน 30-45 นาที นอกจากนี้ จะมีแอลกอฮอล์ค้างอยู่ในปาก 15-20 นาทีหลังสิ้นสุดการดื่ม ถ้าตรวจวัดจากลมหายใจในช่วงเวลาดังกล่าว จะทำให้ระดับแอลกอฮอล์สูงกว่าความเป็นจริง ดังนั้นควรบ้วนปากด้วยน้ำสะอาดหลายๆครั้งก่อนตรวจวัดแอลกอฮอล์ เพื่อให้ได้ผลเที่ยงตรงที่สุด

...

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการถนอมสุขภาพ ควรกินอาหาร ในปริมาณที่เหมาะสมก่อนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 30-60 นาที เพื่อให้ร่างกายชะลอการดูดซึมแอลกอฮอล์เข้าสู่กระแสเลือด และ ดื่มน้ำเปล่ามากๆ ระหว่างและหลังดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขับแอลกอฮอล์ออกจากร่างกายได้ดีขึ้น รวมถึงช่วยลดอาการเมาค้าง

บางคนที่มีจิตสำนึกรับผิดชอบสูงจะ รู้ขีดจำกัดของตัวเองว่าดื่มได้กี่แก้ว  หรือหากดื่มแล้วเกิดอาการผิดปกติ เช่น เวียนหัว มองภาพไม่ชัดเจน จะหยุดดื่มทันที บางคนมีทริก ไม่เติมถ้ายังดื่มไม่หมดแก้ว เพื่อให้คำนวณปริมาณได้ชัดเจนว่าดื่มไปแล้วกี่แก้ว

ที่อยากย้ำเตือนทุกท่านคือ ดื่มไม่ขับ เพราะการดื่มแอลกอฮอล์มีผลต่อการควบคุมระบบประสาทและสมอง อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุระหว่างขับรถได้ ความสูญเสียจากอุบัติเหตุดื่มแล้วขับ ไม่ว่าจะเยียวยาชดเชยอย่างไรก็ไม่คุ้มกับสิ่งที่เสียไป แค่เสี้ยววินาทีอาจถึงตายหรือพิการทั้งชีวิต ญาติผู้เสียชีวิตหรือเหยื่อผู้พิการบางรายรับไม่ได้ถึงกับเป็นโรคซึมเศร้าไปเลย ส่วนคนเมาขับก็มีตราบาปติดอยู่ในใจไปตลอด

ตัวเลขปริมาณการดื่มที่หยิบยกมาวันนี้ บรรดานักดื่มสายเมาอาจรู้สึกขบขัน ดื่มทั้งทีจะมาคอยนับแก้วทำไม แต่ผมเชื่อว่ามีประโยชน์สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการดื่มหนัก หรือดื่มออกงานแค่พอเป็นพิธี เรื่องดื่มไม่ขับกำลังจะกลายเป็น มาตรฐานใหม่ เดี๋ยวนี้หนังและละครหลายเรื่องมีการสอดแทรกประเด็นนี้ไว้กระตุ้นเตือนใจ ขณะที่บริการรับจ้างขับรถกลับบ้านก็มีแพร่หลายมากขึ้น

แค่ปรับพฤติกรรมทั้งขณะดื่มและหลังดื่ม ทุกคนก็ช่วยรับผิดชอบต่อสังคมได้ทันที.

ลมกรด

คลิกอ่านคอลัมน์ "หมายเหตุประเทศไทย" เพิ่มเติม