วันอาทิตย์ที่ 31 ธ.ค.2566 ถึงวัน ศุกร์ที่ 5 ม.ค.2567 เป็นช่วงที่ควรประเมินสุขภาพให้ดีเพราะจะเป็นช่วงที่มีโอกาสที่จะเริ่มมีอาการป่วย หลังจากเดินทางไปกลับและพบปะคลุกคลี ปาร์ตี้สังสรรค์กัน ซึ่งหากไม่ป้องกันตัวให้ดี ก็จะติดเชื้อแพร่เชื้อกันจำนวนมาก

ระยะเวลาหลังจากรับเชื้อโรค “โควิด-19” มาจนถึงมีอาการป่วย จะอยู่ราว 3-4 วัน

อย่าลืม...หากป่วยแล้วตรวจวันแรกๆได้ผลลบ อย่าชะล่าใจ ให้ตรวจจนถึงวันที่ 4-5 หลังจากเริ่มมีอาการเพราะไวรัสจะพีกช่วงนั้น

“...ยิ่งสูงอายุยิ่งต้องระมัดระวัง หากมีกิจกรรมพบปะสังสรรค์กัน ควรประเมินสุขภาพของตนเองให้ดี และป้องกันตัวด้วยเพราะเป็นกลุ่มเสี่ยง ภูมิคุ้มกันและสถานะสุขภาพไม่ได้แข็งแรงเท่าวัยหนุ่มสาว

ถ้าติดเชื้อโรคโควิด-19 ขึ้นมา ไม่ได้เป็นแค่อาการไข้หวัดธรรมดา แต่เสี่ยงป่วยรุนแรงได้ ลงปอดได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อลองโควิดด้วย”

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)” ให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับไวรัสร้าย “โควิด-19” ที่ยังไม่จบง่ายๆ ย้ำว่าระวังข่าวลวงด้วยกิเลสที่จะทำให้ประมาท แม้มียาต้านไวรัสรักษา แต่ไม่ได้การันตีว่าทุกคนจะรอดปลอดภัย...ไม่เสี่ยงย่อมดีกว่าครับ

“รักตัวเอง ดูแลตัวเอง ก็จะดีต่อสมาชิกอื่นๆในครอบครัวด้วยส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นี้ สมาชิกในครอบครัวทุกคนควรใส่ใจสุขภาพให้ดี”

สมมติว่า...หากมีเหตุการณ์ ณ ปาร์ตี้สังสรรค์ในร้านอาหารหนึ่ง คนร่วมงานหลายสิบคนติดเชื้อกันไปกว่าหนึ่งในสี่หรือกว่า 25% ถ้าใช้ความรู้จากงานวิจัยทั่วโลกมาวิเคราะห์จะพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วการรวมกลุ่มกันโดยทั่วไปนั้นจะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อกันราว 6% (3-10%)

...

ในขณะที่หากเป็นอัตราเฉลี่ยของการติดเชื้อกันภายในครัวเรือนจะสูงถึง 20% (15-28%)

กรณีแพร่กันไปกว่า 25% ข้างต้นนั้น ถือว่าสูงกว่าอัตราเฉลี่ยในการรวมกลุ่มกันถึงกว่า 4 เท่า และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของการติดเชื้อภายในครัวเรือนอีกด้วย...บ่งบอกถึงสถานการณ์ปาร์ตี้สังสรรค์นั้นว่า น่าจะมีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างร่วมกัน ทั้งในเรื่องความแออัด การคลุกคลีใกล้ชิดกันมาก ระยะเวลานาน การระบายอากาศไม่ดี

นับรวมไปถึงมีผู้ที่ติดเชื้อที่มีอาการหรืออยู่ในระยะแพร่เชื้อโดยมีปริมาณไวรัสมากและ...หรือการมีกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่ได้มาก เช่น การแชร์ของกินของใช้ร่วมกัน ตะโกน ร้องเพลง และอื่นๆ โดยที่แต่ละคนไม่มีการป้องกันตัวอย่างเพียงพอหรือไม่ได้ป้องกันตัว

ความรู้ข้างต้นนี้นำมาสกัดเป็นบทเรียนได้ว่า การป้องกันตัวส่วนบุคคลนั้นมีความสำคัญ นอกจากนี้ การประเมินความเสี่ยงของกิจกรรมที่ทำการรักษาระยะห่าง เลี่ยงการแชร์ของกินของใช้ ลดระยะเวลาสัมผัส การจัดพื้นที่ให้กว้างเพียงพอเพื่อลดความแออัด รวมถึงการระบายอากาศก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงลงได้

“การติดเชื้อเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ ลดความเสี่ยงลงได้ หลีกเลี่ยงได้ไม่ใช่ยอมจำนนแบบไม่มีทางต่อกร เพราะการเจ็บป่วยนั้นไม่ใช่เรื่องปกติและไม่ใช่เรื่องที่พึงปรารถนา ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม”

หากยังพอจะจำกันได้การระบาดของสายพันธุ์ไวรัส “โควิด-19” ช่วงปลายปี 2019-ปี 2020...“Wuhan strain” ปลายปี 2020-มีนาคม 2021...สายพันธุ์ G ช่วงเดือนเมษายน-ปลายปี 2021...สายพันธุ์อัลฟ่า ต่อด้วยเดลต้า ปี 2022...Omicron BA.1 ตามด้วย BA.2 และจบครึ่งปีหลังด้วย BA.5

ปี 2023 ...XBB ...XBB.1.16 ...XBB.1.5 ...EG.5.x ...BA.2.86.x ปลายปี 2023 เข้าสู่ปี 2024 ...JN.1 (BA.2.86.1.1)...ปี 2023 ที่ผ่านไปนี้ถือเป็นปีแห่ง variant soup มีความหลากหลายการกลายพันธุ์ของไวรัสจริงๆ...

รศ.นพ.ธีระ กล่าวเสริมถึงการวิเคราะห์ของ Hisner R ที่ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของลักษณะการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ที่แต่เดิมมักไม่ค่อยมีการกลายพันธุ์ในตำแหน่ง “กรดอะมิโน” ที่เกี่ยวข้องกับบริเวณ Furin cleavage site (FCS)

ซึ่งทราบกันดีว่าเป็น highly conserved region

...

เพราะเป็นจุดที่จำเป็นต่อการที่ไวรัสจะผ่านกระบวนการต่างๆ เพื่อเข้าสู่เซลล์ปอด ก่อนที่ TMPRSS2 จะมีบทบาทในกระบวนการต่อมา...แต่ใน BA.2.86.x โดยเฉพาะอย่างยิ่ง JN.1 และตัวอื่นๆนั้น มีการตรวจพบการกลายพันธุ์บริเวณกรดอะมิโนที่เกี่ยวข้องกับ FCS บ่อยขึ้นกว่าตัวอื่นๆในอดีต

“เราไม่รู้ในตอนนี้ว่าลักษณะดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์โดดๆที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือจะขยายวงเป็นการเปลี่ยนแปลงปกติของตัวอื่นๆในอนาคต”

และยังไม่รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลดีหรือผลเสียต่อการระบาดของไวรัส รวมถึงผลที่จะเกิดขึ้นต่อคนที่ติดเชื้อในแง่ของความรุนแรงของโรคว่า จะเปลี่ยนแปลงไปในทางใด คงต้องรอติดตามและศึกษากันดูสักพัก น่าจะเห็นอะไรมากขึ้น

ในช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ยุคนี้...นอกจากเมาไม่ขับ หากขับรถยนต์ส่วนตัว ขับด้วยความระมัดระวัง ไม่ควรเหยียบเร็ว โอกาสเกิดอุบัติเหตุมีสูง...กรณีเดินทางไกล ถ้าง่วงควรแวะปั๊มข้างทาง พักให้หายง่วง

หากเดินทางขนส่งสาธารณะ...ควรใส่หน้ากากป้องกันตัวและพกแอลกอฮอล์ล้างมือหลังจับต้องสิ่งของสาธารณะ...อีกทั้งต้องประเมินตนเองด้วยว่ามีอาการไม่สบายหรือไม่ หากมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดหัว ไอ เจ็บคอ น้ำมูก ควรตรวจโควิดด้วยเสมอ วันแรกๆเป็นลบอย่าชะล่าใจ ให้ตรวจถึงวันที่ 4-5 หลังเริ่มมีอาการ

ที่สำคัญ...ใส่หน้ากากป้องกันจะได้ไม่แพร่ไปสู่ผู้สูงอายุและสมาชิกคนอื่นๆในครอบครัว...ชุมชน ทั้งนี้ ควรประเมินตนเองทั้งช่วงก่อนเดินทางและหลังจากเดินทางกลับ

“...ธรรมชาติของการระบาดทั่วโลกนั้นมักเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นการดำเนินชีวิตในช่วงเทศกาล ท่ามกลางขาขึ้นเช่นนี้ จึงควรดำรงตนด้วยความไม่ประมาท...”

...

ทั้ง “อุบัติเหตุ” และ “โรคระบาด” เป็นเรื่องที่ป้องกันได้ หากมีสติและใช้ปัญญา ไม่ใช่เรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก ไม่ใช่เรื่องที่ควรชินชา เพิกเฉย จนต้องปลงหรือยอมจำนนโดยดุษฎี “...We can do it...”

ตอกย้ำนโยบายด้านสุขภาพ...ท่องเที่ยว...เดินทาง หลายปีที่ผ่านมาปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นมาทำให้ทราบกันชัดเจนแล้วว่า นโยบายของแต่ละประเทศนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะหากไปผิดทิศผิดทาง ก็จะส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของทุกคนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ

“...ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใดก็ตาม ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเห็นได้จากทั้งเรื่องโรคระบาดการแพร่การติด การจัดบริการคัดกรองดูแลรักษา ป้องกัน ควบคุมและฟื้นฟูสภาพ หยูกยา วัคซีน มาตรฐานที่มีของระบบ ไม่ใช่เพียงเรื่องโรคภัยไข้เจ็บจากเชื้อโรคเท่านั้น”

เรื่องอื่นๆไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุจราจรที่สัมพันธ์กับสภาพถนนหนทาง หลุมบ่อ หรือสิ่งของจากการก่อสร้างบนท้องถนน รวมถึงเรื่องยาเสพติด สิ่งเสพติดนานาชนิด ทั้งกัญชา กระท่อม บุหรี่ไฟฟ้า ยาบ้า ยาอี ยาเคและอื่นๆ...หลากหลายเรื่องข้างต้น เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาแล้วยากนักที่จะจัดการแก้ไข มักต้องใช้เวลายาวนาน

ทว่า...เกิดความสูญเสียทั้งระยะสั้น กลาง และยาว ดังนั้นนโยบายเหล่านี้จึงเป็นหัวใจสำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ รวมไปถึงสวัสดิภาพ ความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนทุกคน.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม