ปีกระต่ายที่ผ่านมา เป็นปีทองของชาวนาไทย ข้าวราคาดีกว่าหลายปีที่เคยเป็นมา ด้วยปัจจัยหลายประการ อะไรคือปัจจัยเหล่านี้ และปีมะโรงนี้จะเป็นอย่างไร ไปฟังทรรศนะของกูรูด้านข้าว

“ความต้องการข้าวทั่วโลกมีราว 50 ล้านตัน ลำพังอินเดียประเทศเดียวปี 2564 ส่งออกกว่า 20 ล้านตัน ทำให้อินเดีย กลายเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 มากว่า 10 ปี แต่ปีที่แล้ว อินเดียเกิดภาวะเงินเฟ้อ รัฐบาลอินเดียจึงมีคำสั่งงดส่งออกข้าว เพื่อรักษาเสถียรภาพ ภายในประเทศ เมื่อประเทศที่ส่งออกข้าวมากที่สุดในโลกงดส่งออก แต่ความต้องการข้าวยังคงเดิม และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงกระตุ้นราคาข้าวทุกชนิดในตลาดโลกให้สูงขึ้น ราคาข้าวในประเทศก็ดีขึ้น อานิสงส์จึงตกกับชาวนาไทย”

ดร.วัลลภ มานะ ธัญญา ประธานบริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด ในฐานะอุปนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย บอกถึงสาเหตุที่ข้าวราคาพุ่งเมื่อปีที่แล้ว

อีกปัจจัยที่ทำให้ข้าวราคาดีคือสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้การผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และธัญพืชลดลง ผู้ผลิตอาหารสัตว์จึงจำต้องนำปลายข้าวไปทดแทน แม้จะราคาดี แต่มิอาจชะล่าใจได้ เพราะเรายังมีอุปสรรคในเรื่องของค่าเงินบาทที่ผันผวน ขณะเดียวกันเมื่อราคาดี ชาวนาปลูกเพิ่มขึ้น อาจเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ แม้แต่ในเขตชลประทาน เนื่องจากหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าปีนี้เกิดภาวะเอลนีโญ

...

ทั้งนี้ โดยส่วนตัว อุปนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยประเมินว่า ราคาข้าวน่าจะดีต่อไปอีกระยะ อย่างน้อยก็หลังจากอินเดียเลือกตั้งในช่วงเมษายน ฉะนั้นช่วงนี้จึงยังไม่มีอะไรน่าห่วงนัก แต่หลังจากอินเดียเลือกตั้ง ต้องมาดูกันอีกทีว่าจะยังคงเงินเฟ้ออยู่หรือไม่ และจะมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งในเรื่องของการส่งออกหรือไม่ อีกทั้งยังขึ้นกับปัจจัยอีกหลายอย่าง ทั้งค่าเงินบาท ภาวะเศรษฐกิจโลก ภาวะเอลนีโญที่คาดกันว่าจะกินระยะเวลายาวนาน รวมถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ตลาดข้าวไทยหดตัวลง เพราะบ้านเรามัวแต่คำนึงถึงตลาดพรีเมียม พอเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามวิจัยได้ข้าวพันธุ์ใหม่มาตีตลาดในราคาที่ถูกกว่า โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ที่คุณภาพและความหอมไม่ได้ด้อยไปกว่าของไทยนัก เราจึงถูกแย่งตลาด ทั้งที่เดิมทีเราเป็นเจ้าตลาดส่งออกข้าวหอมมะลิมากที่สุด แต่ปัจจุบันเวียดนามส่งออกได้กว่า 3 ล้านตัน แต่ไทยส่งออกไปแค่ 1 ล้านกว่าตัน

ฉะนั้นสิ่งที่ภาครัฐต้องแก้ปัญหา ต้องพัฒนาสายพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง ระยะเก็บเกี่ยวสั้น ต้าน ทานโรค ทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่คุณภาพดีเท่าเดิมหรือดีกว่าเดิม อีกประการคือ บ้านเราส่วนใหญ่มักพัฒนาแต่ข้าวไวแสง ปลูกได้แค่ฤดูกาลเดียว ขณะที่ต่างประเทศมีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆออกมาตลอด เนื่องจากบ้านเขามีงบวิจัยและพัฒนาหลักพันล้านบาท ส่วนบ้านเรามีแค่หลักร้อยล้าน ต่างกันสิบเท่า ขณะเดียวกัน ควรพัฒนาระบบชลประทานให้ทั่วถึงครอบคลุมทั้งประเทศ และเกษตรกรเองต้องขวนขวายพัฒนาตัวเองทำให้ผลผลิตต่อไร่สูง ต้นทุนต่ำ โดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

...

และรัฐควรเปลี่ยนเอาเงินที่แจกชาวนา มาทำระบบชลประทานให้ครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมกับพัฒนาสายพันธุ์ ดูแลเรื่องต้นทุนการผลิตของเกษตรกรมากกว่าคำนึงถึงเรื่องราคา

เพราะราคาเป็นไปตามกลไกตลาด ผู้ส่งออกไม่สามารถกำหนดได้ ขอแค่ได้ของคุณภาพ ผู้ส่งออกรู้จักตลาดทั่วโลกอยู่แล้ว.

ทีมข่าวเกษตร

คลิกอ่าน “ข่าวเกษตร” เพิ่มเติม