สังคมไทยยังเฝ้าเป็นห่วง “อุบัติเหตุบนท้องถนนเพิ่มสูงขึ้น” หลังขยายเปิดผับถึง 04.00 น. นำร่องพื้นที่ 5 จังหวัด และผับ-บาร์ใน โรงแรมทั่วประเทศ ทำให้สีสันยามค่ำคืนต่างเต็มเป็นไปด้วยความคึกคัก
แต่ขยายได้เพียงสัปดาห์แรกก็ปรากฏภาพไม่เหมาะสม “เยาวชนหญิงอายุ 16 ปี” ออกมาจากสังสรรค์กับเพื่อนในผับแห่งหนึ่ง “เมาจนขาดสติ” หลับฟุบบนฟุตปาทถนนหน้าอาคารกองสลากเก่า ถนนราชดำเนิน กทม. ทำให้ผู้พบเห็นถึงกับส่ายหัวด้วยความอนาถใจ จากผลพวงตามนโยบายเปิดผับตี 4 ของกระทรวงมหาดไทยนี้
ไม่เท่านั้นยังพบอุบัติเหตุ “หนุ่มขับขี่ จยย.จากร้านเหล้าพุ่งชนรถ จยย. ตำรวจจราจร” ขณะที่กำลังจะออกปฏิบัติหน้าที่ตอนเช้าบนถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ อ.เมืองเชียงใหม่ “สาหัสทั้งคู่” ทั้งยังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติขับเก๋งหลังกลับจากดื่มในผับเลิกตี 4 พุ่งชนคนงานลงสายไฟใต้ดินกลางเมืองเชียงใหม่ดับ 1 ราย สาหัส 2 รายอีกด้วย
แม้นก่อนหน้านี้ “ภาคประชาชน” พยายามออกมาส่งเสียงถึงรัฐบาลให้ทบทวนนโยบายขยายเวลานี้ เพื่อรับฟังความเห็นให้รอบด้าน และกำหนดมาตรการรับมือให้ชัดสามารถทำได้จริงก่อนเดินหน้า “แต่ก็ไร้ผล” แถมเล็งที่จะขยายเพิ่มในโซนท่องเที่ยวอีกจนมีเสียงค้านผ่าน นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ บอกว่า
...
นโยบายขยายเวลาปิดสถานบริการตี 4 “กระตุ้นเงินสะพัดดีขึ้นจริงตรงนี้ไม่เถียง” แต่ถ้ามองอีกด้านก็ส่งผลต่อการเกิดอุบัติเหตุให้มีคนตายเพิ่มขึ้น ใน 5 จังหวัดนำร่องเช่นกัน อย่างกรณี จ.เชียงใหม่ อุบัติเหตุรถชนกลุ่มคนทำงานในช่วงเช้ามีผู้เสียชีวิตนั้น สะท้อนให้เห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต้องแลกด้วยชีวิตของคนนั้นไม่คุ้มกัน
แน่นอนในช่วงแรก “ตัวเลขอุบัติเหตุจะยังคงไม่สูงมาก” เพราะด้วยเป็นช่วงของผู้บริหารระดับสูงต่างพากันลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความเรียบร้อย ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเข้มงวดมาตรการบังคับใช้กฎหมายจริงจัง แต่พอหลังผ่อนคลายมาตรการลงเชื่อว่าตัวเลขอุบัติเหตุบนท้องถนนจะสูงมากขึ้นเรื่อยๆ
เพราะการขยายปิดผับตี 4 “เป็นนโยบายให้คนมีเวลาดื่มสุราเพิ่มความเสี่ยงอย่างเป็นรูปธรรม” แต่ในส่วนภาครัฐกลับไม่มีมาตรการด้านความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการให้สถานบริการตรวจวัดแอลกอฮอล์ลูกค้าที่ขับขี่รถมาเที่ยวต้องไม่เกิน 50 mg% ก่อนอนุญาตให้ขับขี่ออกจากร้านก็เป็นมาตรการที่ไม่ชัดเจน
เสมือนพูดลอยๆ “สถานบริการไม่ทำก็ไม่มีบทลงโทษใด” เพราะเป็นการขอความร่วมมือส่งผลให้ “ผู้ประกอบการไม่มีอำนาจบังคับคนเมาตรวจแอลกอฮอล์ได้” แถมจ้ำจี้จ้ำไชมากๆลูกค้าหนีไปนั่งกินร้านอื่นอีก
ฉะนั้นเสนอว่า “ควรออกกฎหมายเอาผิดกับสถานบริการ” กรณีปล่อยให้มีผู้ที่อยู่ในอาการมึนเมาออกมาจากร้านแล้วเกิดอุบัติเหตุต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามมาตรการของภาครัฐกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด “เหมือนดั่งธุรกิจโรงงานอุตสาหกรรม” ถ้าปล่อยน้ำเสียอันตรายเกินกว่ากฎหมายมักต้องถูกสั่งปิด
สิ่งนี้จะเป็นมาตรการป้องกันอันตรายต่อ “สังคมและสาธารณะ” แต่ว่ารัฐบาลกลับยังไม่ดำเนินการใดๆ ปล่อยให้ชีวิตประชาชนมาแลกกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ และส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวมากเกินไปหรือไม่
เมื่อมาตรการป้องกันไม่อาจควบคุมคนเมาได้ “ความซวยย่อมตกกับผู้บริสุทธิ์” เพราะเวลาตั้งแต่ตี 4 เป็นต้นไป “มักเป็นช่วงผู้คนออกจากบ้าน” ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้าแม่ค้ามาตลาด คนออกกำลังกาย หรือคนออกไปทำงานแต่เช้าตรู่ และนักเรียนต้องเดินทางไปโรงเรียน ทำให้คนเหล่านี้มีความเสี่ยงโดนคนเมาขับรถชนตามมาได้เสมอ
แล้วเรื่องนี้สังคมก็สามารถเล็งเห็นผลได้ว่า “สถานบริการปิดตี 4” ส่งผลกระทบต่อความไม่ปลอดภัยในการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่ 5 จังหวัดนำร่องเกิดขึ้นแน่นอน ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการปิดกั้นอันตรายที่อาจนำมาสู่ “ผู้บริสุทธิ์ที่ไม่ได้ดื่มสุรา” แต่กลายเป็นว่าจนมาถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆเป็นรูปธรรม
เรื่องนี้ขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบคล้ายกับกรณี “เปิดกัญชาเสรี” ที่เร่งรีบปลดล็อกออกจากบัญชียาเสพติดเพื่อใช้ในทางการแพทย์ “จนตกอยู่สภาวะสุญญากาศทางกฎหมาย” กระทั่งวันนี้คนออกนโยบายหมดวาระมาตำแหน่งรัฐมนตรีใหม่ “กฎหมายกัญชาก็ยังไม่เกิดขึ้น” จนปรากฏคาเฟ่กัญชาเปิดเพื่อสันทนาการเกลื่อนเมือง
กระทั่งทำให้เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงกัญชาได้ง่าย “เพื่อใช้สันทนาการกันอย่างแพร่หลาย” แม้แต่ผู้ใหญ่เห็นก็ไม่สามารถกระทำการอะไรได้ “กลายเป็นส่งผลกระทบต่อร่างกายของเยาวชนอย่างช้าๆ” แล้วกัญชานี้ก็มีแนวโน้มการเพิ่มของผู้ใช้สูงมากกว่ายาเสพติดตัวอื่นไปแล้วด้วยซ้ำ
เช่นเดียวกับ “การเร่งรีบนโยบายปิดผับตี 4” โดยไม่มีกฎหมายควบคุมที่มีประสิทธิภาพก็กำลังกลายเป็นความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ นำไปสู่ “การบาดเจ็บและเสียชีวิต” ถ้าเป็นแบบนี้รัฐบาลจะรับผิดชอบหรือไม่ เพราะสร้างปัญหาจาก “การเป็นผู้ออกนโยบายนี้” ที่เปิดโอกาสให้คนดื่มแล้วขับมากจนเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุตามมา
...
หนำซ้ำยัง “เปิดช่องให้สถานบริการในโรงแรมทั่วประเทศปิดตี 4 ด้วย” สิ่งนี้ทำให้ผับ-บาร์นอกเขตพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด “เคลื่อนย้ายเข้ามาในโรงแรมมากขึ้น” เพื่อให้ได้รับการอนุโลมสามารถจะเปิดได้ถึงตี 4
“ถ้าคำนวณดูแต่ละจังหวัดมีโรงแรมไม่ต่ำกว่า 5 แห่ง และบางอำเภอก็มีโรงแรมให้บริการ รวมทั้งสถานบริการที่ไม่มีใบอนุญาตก็เปิดกันอีกมากมาย แถมมีข่าวลือพร้อมยอมจ่ายเงินเพื่อให้ได้เปิดถึงตี 4 ด้วยซ้ำ สิ่งนี้กลายเป็นแหล่งผลิตปริมาณคนเมาออกมาบนถนนเพิ่มขึ้น แล้วหน่วยงานในพื้นที่มีกำลังพลพอรับมือไหวหรือไม่” นพ.แท้จริงว่า
ปัญหาน่ากังวลคือ “เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่บางคนเรียกรับผลประโยชน์” เพราะด้วยจุดอ่อนของประเทศไทยมักมีข่าวเกี่ยวกับ “การทุจริตคอร์รัปชัน” อย่างเช่น สถานบันเทิงย่านดังแห่งหนึ่งใน กทม. “มีสถานบริการอยู่ 50 แห่ง” ในจำนวนนี้มีใบอนุญาตถูกต้องเพียง 5 แห่ง ส่วนที่เหลือเป็นผับ-บาร์เถื่อนแต่สามารถเปิดได้ปกติอย่างไร
แม้แต่สถานบริการมีใบอนุญาตก็ยังมีข่าวว่าต้องจ่ายส่วยเช่นกัน เพราะถ้าไม่ยอมเสียจะถูกรังควานหลากหลายรูปแบบ “จนทนไม่ไหวต้องจ่ายในที่สุด” เพื่อตัดปัญหาไม่ต้องถูกตรวจอันจะมีผลกระทบต่อลูกค้า แล้วยิ่งออกระเบียบขยายเวลาปิด-เปิดนี้ อาจเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่บางคนเข้ามาเรียกรับผลประโยชน์มากขึ้นหรือไม่
...
ซ้ำร้ายแล้วปัจจุบัน “กฎหมายจราจรใหม่” กรณีผู้ขับขี่ไม่ยอมเป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์ให้สันนิษฐานว่าเมาแล้วขับ สามารถดำเนินคดีได้เลย “มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 1–2 หมื่นบาท” เรื่องนี้อาจกลายเป็นผลประโยชน์ไปตกอยู่ที่เจ้าหน้าที่บางคนอีกหรือไม่ เพราะคนไทยบางกลุ่มพร้อมจ่ายแบบวินวินดีกว่าถูกดำเนินคดี
ทำให้คนเมาแล้วขับ “ไม่เกรงกลัว” เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุบางคนประวิงเวลาตรวจวัดแอลกอฮอล์แล้วการเขียนสำนวนคดีก็มักเป็นความประมาททำให้ศาลพิจารณาตัดสิน “รอลงอาญา” แต่ถ้าตรวจแอลกอฮอล์ทุกเคสที่เกิดอุบัติเหตุ และบรรยายฟ้องเป็นการเล็งเห็นผลที่เกิดอันตรายแก่ผู้อื่น ลักษณะนี้เชื่อศาลจะไม่ปรานีแน่นอน
เพื่อทำให้เห็นถึง “การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด” เมื่อคนเมาแล้วขับจะมีคุกรออยู่ข้างหน้า โดยเฉพาะคนเมาแล้วขับเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน “เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต” ต้องมีการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งไม่ใช่เพียงโทษจำคุก 10 ปี หากรับสารภาพโทษลดลงกึ่งหนึ่ง
...
สุดท้ายก็ลดเหลือเพียงรอลงอาญาเท่านั้น ทำให้คนรู้สึกไม่กลัวต่อการกระทำความผิดในเรื่องนี้
ฉะนั้นขอเสนอ “ตั้งคณะกรรมการประเมินอุบัติเหตุ” อันประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคสังคม ทำหน้าที่ตรวจสอบผู้เมาแล้วสร้างปัญหาให้สังคมจะต้องสืบย้อนกลับไปเอาผิดกับร้านนั้นๆ
อย่างไรก็ดี นับแต่นี้ “เครือข่ายภาคประชาชน” จะคงเฝ้าเก็บสถิติอุบัติเหตุ และการตายในช่วงการขยายเปิดสถานบริการทั่วประเทศ และนำมาเปรียบเทียบสถิติย้อนหลังแต่ละไตรมาสในการประเมินศึกษาสถานการณ์ว่าเมื่อขยายเวลาแล้วมีผลกระทบอย่างไรต่อสังคม เพื่อประมวลผลสรุปข้อมูลให้หน่วยงานรัฐทบทวนพิจารณาต่อไป
ย้ำว่าสถานบริการจะเปิด 24 ชม.ก็ไม่มีใครว่า แต่ต้องมีมาตรการรองรับเข้มงวดควบคุมคนเมาไม่ขับได้ 100% จริง แล้วถ้าเกิดปัญหามากกว่าเดิม “รัฐบาล” ในฐานะผู้ปลดล็อกต้องมีคำตอบ และมีส่วนร่วมรับผิดชอบ “ไม่ใช่โยนปัญหาเป็นภาระเจ้าหน้าที่คอยแก้” แต่ตัวเองกลับเอาตัวรอดไปวันๆ.
คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม