ธนาคารกสิกรไทย จัดกิจกรรมต่อเนื่อง AFTERKLASS Business KAMP : Innovation for a Sustainable Society Hackathon 2023 เป็นปีที่ 4 ให้น้องๆ ระดับมัธยมปลายทั่วประเทศรวมทีมเข้าร่วมแข่งขันไอเดียนวัตกรรมสร้างแผนธุรกิจที่นำไปใช้ได้จริง เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนในอนาคต ทีม “เก๋ากี่” คว้ารางวัลชนะเลิศไปครอง ด้วยไอเดีย “How are You? แพลตฟอร์มเพื่อผู้ที่ต้องการที่พึ่งทางใจสำหรับทุกคน” จากกลุ่มเยาวชนที่ผ่านเข้ารอบทั้งหมด 6 ทีม

นายรวี อ่างทอง ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบูรณาการความยั่งยืนองค์การ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทยร่วมกับมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญา จัดโครงการ AFTERKLASS Business KAMP ปีที่ 4 ภายใต้ธีม Innovation for a Sustainable Society Hackathon 2023 มุ่งมั่นส่งเสริมการพัฒนาคนโดยผ่านระบบการศึกษาที่เป็นกลไกพื้นฐานทางความคิดที่สำคัญ โดยเฉพาะในเยาวชน ด้วยวัตถุประสงค์หลักในการมอบโอกาสในการพัฒนา องค์ความรู้ใหม่ ทักษะใหม่ และประสบการณ์จริง เพื่อให้เยาวชนมีทักษะการคิดที่มีเหตุผลและนำไปต่อยอดธุรกิจในอนาคตได้

โดยในปีนี้เป็นการแข่งขันสร้างไอเดียธุรกิจและนวัตกรรมสตาร์ทอัพในรูปแบบ Hackathon ด้วยโปรแกรมบ่มเพาะนวัตกรรม (Incubation Program) ที่ไม่เพียงนำเสนอแนวคิดอย่างสร้างสรรค์ ยังช่วยผลักดันให้นำไปพัฒนาต่อให้เกิดขึ้นจริง สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมได้จริงและยั่งยืน โดยมีทีมเยาวชนให้ความสนใจสมัครเข้ามาจำนวนมากถึง 76 ทีม และโครงการได้คัดเลือก จนเหลือ 6 ทีม ที่ผ่านเข้าไปชิงในรอบ Hackathon

สำหรับกิจกรรม Hackathon Day ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 ธ.ค. 66 - 3 ธ.ค. 66 ที่ผ่านมา น้องๆ เยาวชนทั้ง 6 ทีม ได้ผ่านหลักสูตรบ่มเพาะนวัตกรรมที่เป็นหลักสูตรพิเศษของโครงการ นำผลที่ได้ในช่วง MVP มาเตรียมทำแผนธุรกิจเพื่อนำเสนอแบบ Startup Pitching ที่จะทำให้กรรมการในเวทีสุดท้ายยอมรับในคุณค่าความสามารถของนวัตกรรมเพื่อสร้างผลกระทบด้านความยั่งยืนได้จริง

ผลการแข่งขัน ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีมเก๋ากี่ โดยนำเสนอไอเดียนวัตกรรมธุรกิจที่มีชื่อว่า How are you? Online Application Platform ที่จะเป็นเหมือนเพื่อนที่พร้อมรับฟัง ให้กำลังใจ และเป็นที่พักใจสำหรับทุกคน รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม AngsanaNew นำเสนอไอเดียนวัตกรรมธุรกิจที่มีชื่อว่า River Ranger เรือหุ่นยนต์เก็บขยะทางน้ำเพื่อลำคลองสะอาด และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม Flying Turtle นำเสนอไอเดียนวัตกรรมธุรกิจที่มีชื่อว่า Track Point Sensor เซนเซอร์บนหมวกกันน็อกนิรภัยและแอปพลิเคชันเพื่อจูงใจผู้ขับขี่จักรยานยนต์ให้สวมหมวกกันน็อกมากขึ้น และยังมีรางวัล Inspiration for a Sustainable Society อีก 3 รางวัล มูลค่ารวมกว่า 200,000 บาท

นายรวี กล่าวเพิ่มเติมว่า ปีนี้นับเป็นครั้งแรกที่ผู้เข้าร่วมโปรแกรมบ่มเพาะนวัตกรรม (Incubation Program) จะได้พัฒนาตัวต้นแบบผลิตภัณฑ์จริงๆ (Minimum Viable Product: MVP) เพื่อนำไปทดสอบกับผู้ใช้งานจริง ว่าสามารถแก้ปัญหาที่ต้องการได้หรือไม่ โดยทางมูลนิธิเพาะพันธุ์ปัญญาเข้ามาร่วมสนับสนุนทุนหลักสูตรช่วง MVP เพื่อให้เยาวชนได้ฝึกฝนและลองทำจริง ทดสอบกับผู้ใช้จริงเพื่อรับข้อคิดเห็น และนำไปปรับปรุงผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ตอบโจทย์มากที่สุด เพื่อช่วยสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมให้เกิดขึ้นจริง สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนได้ ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดโครงการได้ที่ www.afterklass.com หรือ เฟซบุ๊กของ AFTERKLASS