มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในส่วนภูมิภาค ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2508 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มหาวิทยาลัยจึงได้กำหนดให้ วันที่ 24 มกราคม ของทุกปี เป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยในปี 2567 นี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ดำเนินงานผลิตบัณฑิตคุณภาพและสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมมาครบ 60 ปี
จากผลสำเร็จของการดำเนินงานที่ผ่านมากว่า 60 ปี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มีความก้าวหน้าและพัฒนาขึ้นจนเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำลำดับต้นๆ ของประเทศและพร้อมทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง
ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึง ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา และเป้าหมายของมหาวิทยาลัยว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการกำหนดวิสัยทัศน์ให้เป็น “มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยนวัตกรรม” และกำหนดเป้าหมายการบรรลุวิสัยทัศน์ในปี 2570 ไว้ 3 ประเด็น ได้แก่ 1) ได้รับการจัดอันดับจาก Time Higher Education University Impact Ranking (THE UIR) อยู่ใน 50 อันดับแรกของโลก 2) ผลการประเมิน Socio-Economic Impact 60,000 ล้านบาท และ 3) ได้รับรางวัล Thailand Quality Class Plus (Innovation) :TQC+ (Innovation) เพื่อให้บรรลุเป้าหมายวิสัยทัศน์ดังกล่าว มหาวิทยาลัยได้กำหนดวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์เพื่อสร้างความยั่งยืน 6 ด้าน คือ ด้านนวัตกรรมเศรษฐกิจฐานชีวภาพ ด้านนวัตกรรมการแพทย์ สุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุ ด้านล้านนาสร้างสรรค์ ด้านการจัดการศึกษา ด้านการวิจัยและนวัตกรรม และด้านบริหารจัดการองค์กรเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ
ในปี 2566 ที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัยได้มุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง มีผลงานที่เห็นถึงความก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายด้าน อาทิ ระบบพลังงานอัจฉริยะบนเทคโนโลยี Blockchain ผ่านโครงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา (Solar rooftop) ทั่วทั้งมหาวิทยาลัย 168 อาคาร สามารถทดแทนไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ได้ร้อยละ 17 ลดค่าไฟฟ้าได้ ไม่น้อยกว่า 12.5 ล้านบาท/ปี และลดการปล่อยคาร์บอนกว่า 7,400 tCO2e/ปี
มหาวิทยาลัยประกาศตัวเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการสร้างผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่สมบูรณ์พร้อมที่สุดในประเทศไทย โดยมีการเปิดตัวโปรแกรม builds (CMU Startup & Entrepreneurial Platform) ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการสร้างผู้ประกอบการ (Entrepreneurial University) โดยผลักดันให้นักศึกษาได้เรียนรู้และสร้างประสบการณ์ในการเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่ยังอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย
Kick-off ระบบการสนับสนุนการวิจัยขั้นแนวหน้าและงานวิจัยเชิงลึกแบบครบวงจร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีเป้าหมายในการนำงานวิจัยพื้นฐาน งานวิจัยขั้นแนวหน้า และเทคโนโลยีเชิงลึกต่อยอดสู่การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยให้ทุนสนับสนุนการวิจัยในรูปแบบต่างๆ พร้อมทั้งมีโครงการสร้างเครือข่ายในรูปแบบของ “Consortiums” เพื่อสร้างงานวิจัยที่ตอบโจทย์ของการแก้ปัญหา ตลอดจนได้สนับสนุนและพัฒนานักวิจัยให้มีศักยภาพสูงและอยู่ในระบบในระยะยาว เพื่อเป็นฐานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย งานวิจัยขั้นแนวหน้าและเทคโนโลยีเชิงลึก การพัฒนาระบบเศรษฐกิจตามโมเดล BCG เช่น การแพทย์และสุขภาพ เกษตรและอาหารมูลค่าสูง การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น สังคมสูงวัย ความมั่นคงทางสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้ ยังสานต่อการเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยการใช้ข้อมูล (Data Driven Enterprise) ผ่านการพัฒนาระบบการบริหารจัดการภายในมหาวิทยาลัย อาทิ CMU Smart Surveillance ที่ใช้ข้อมูลสำหรับบริหารจัดการเมืองทั้งด้านความปลอดภัย ด้านการจราจร เพิ่มประสิทธิภาพด้านการป้องกัน ตรวจจับ แจ้งเตือน ค้นหา รวมถึงพัฒนาระบบสนับสนุนการทำงาน เช่น การพัฒนาระบบข้อมูลด้านงานทะเบียนการศึกษาที่รองรับการจัดการศึกษาในรูปแบบใหม่และยังได้มุ่งเน้นการเป็น First Mover ในการพัฒนาเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพด้าน Digital Health โดยพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการให้บริการผู้ป่วยแบบผสมผสานการบริการผู้ป่วยนอกและการออกหน่วยให้บริการนอกสถานที่ รวมถึงพัฒนาระบบฐานข้อมูลด้านสุขภาพนำร่องที่เป็นต้นแบบและเป็นประโยชน์ในการช่วยตัดสินใจทางการแพทย์
สำหรับในปี 2567 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มีการกำหนดแผนการดำเนินงานเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ได้แก่ การเป็นผู้นำด้าน Smart Bio-agriculture และเป็นต้นแบบในการขับเคลื่อน BCG ของประเทศ การปั้น Creative Startup ให้เกิดเป็นรูปธรรม พร้อมแบรนด์ล้านนาสร้างสรรค์ที่สร้างการรับรู้ในวงกว้าง การเดินหน้าเข้าสู่การวิจัยพัฒนาและการต่อยอดสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ Electric Vehicle (EV) พร้อมทั้งนำองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยร่วมสร้างสังคมสุขภาพดีด้วยนวัตกรรมการแพทย์ ผลักดันให้เกิดย่านนวัตกรรมทางการแพทย์และสุขภาพของเชียงใหม่ ซึ่งมีการตั้งเป้าสู่เมืองศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือ Chiang Mai Medical Health Hub นอกจากนี้ ยังได้วางหมุดหมายของการพัฒนาต่อยอดจากการดำเนินงานปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นด้านการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral University) ภายในปี 2032 ซึ่งมุ่งสร้างต้นแบบการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผลักดันนโยบายการใช้พลังงานทดแทน การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย พร้อมดึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ร่วมจัดการเมืองอัจฉริยะ CMU Smart City ตอกย้ำการดำเนินงานอย่างรับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืน การเสริมสร้างศักยภาพของนักวิจัย เชื่อมต่อระบบการศึกษากับการพัฒนางานวิจัยชั้นแนวหน้าและงานวิจัยเชิงลึกเพื่อสร้างกำลังคนที่มีทักษะในด้านต่างๆ นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมในภาคธุรกิจอย่างยั่งยืน รวมทั้งการพัฒนานวัตกรรมขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ พร้อมสร้างเครือข่ายความร่วมมือสู่เวทีโลก ส่งเสริมการนำวิจัยเพื่อการใช้ประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม เป็นแหล่งสร้างสตาร์ทอัพผ่านโปรแกรม builds ให้นักศึกษาสามารถตั้งบริษัทได้ระหว่างเรียน ในด้านการพัฒนาบุคลากรเป้าหมายปี 2567 จะมีการเพิ่มจำนวนบุคคลากรที่ได้รับการพัฒนาสมรรถนะตาม IDP จาก 341 คน ในปี 2566 เพิ่มเป็น 1,800 คน ในปี 2567 ตลอดจนจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นตลอดทั้งปี ไปจนถึงเดือนมกราคม 2568 เพื่อเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 60 ปี แห่งการสถาปนามหาวิทยาลัย
ศาสตราจารย์ ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวทิ้งท้าย ถึงเป้าหมายการพัฒนามหาวิทยาลัยว่า ตลอดระยะเวลาของการดำเนินงานผ่านมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มุ่งมั่นระดมองค์ความรู้จากทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัย สร้างสรรค์ประโยชน์แก่ชุมชนสังคม พร้อมร่วมเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ สร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และมีความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก นำมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก้าวสู่ทศวรรษที่ 7 เป็น “มหาวิทยาลัยชั้นนำที่รับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยนวัตกรรม” อย่างเต็มภาคภูมิต่อไป