วันที่ 27 ธันวาคม 2566 เป็นวันคล้ายวันเกิดปีที่ 104 ของ ผอ.กำพล วัชรพล อดีตผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐอันเป็นรากฐานของ “สื่อ” ต่างๆในเครือไทยรัฐกรุ๊ป โดยเฉพาะ “ไทยรัฐออนไลน์” และ “ไทยรัฐทีวี” ช่อง 32 ที่พี่น้องประชาชนชาวไทยรู้จักคุ้นเคยกันอย่างดียิ่งในปัจจุบันนี้

ไม่เพียงเท่านั้น ทุกๆวันที่ 27 ธันวาคม นับตั้งแต่ปี 2522 ซึ่งท่าน ผอ.กำพลอายุครบ 60 ปีเป็นต้นมา ท่านยังได้ก่อตั้ง มูลนิธิไทยรัฐ เพื่อรับใช้สังคมไทยทั้งในด้านการศึกษาและการสื่อสารขึ้นด้วยอีกองค์กรหนึ่งจึงทำให้วันนี้เป็นคล้ายวันเกิดปีที่ 44 ของ มูลนิธิไทยรัฐ ควบคู่ไปด้วย

โดยเฉพาะการก่อตั้ง มูลนิธิไทยรัฐ ผมถือว่าเป็นผลงานที่ทรงคุณค่าและมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าที่สุดเหนือทรัพยากรอื่นใดของประเทศชาติ

ยิ่งท่านตั้งเป้าหมายให้มูลนิธิแห่งนี้ ลงไปดูแลการพัฒนามนุษย์ในกลุ่มที่ประชาชนยากจนที่สุดของประเทศ และอาศัยอยู่ในเขตที่ล้าหลังที่สุดของประเทศ อันได้แก่ เขตชนบทต่างๆทั่วไทย ผมจึงให้ความสนใจและชื่นชมมาโดยตลอด

ดังที่ท่านผู้อ่านส่วนมากก็คงจะทราบแล้วว่าภาคชนบทไทยยังคงเป็นภาคที่ล้าหลัง และในบางส่วนของพื้นที่ชนบทยังอยู่ในภาวะยากจน เจ็บไข้ และ ขาดแคลนความรู้และการศึกษา เป็นอย่างยิ่ง

เมื่อทราบว่า “มูลนิธิไทยรัฐ” จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาในชนบทเช่นนี้ ผมจึงเขียนแสดงความชื่นชมท่าน ผอ.กำพล ในฐานะผู้ให้กำเนิดมูลนิธิไทยรัฐ ที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา “ความไม่รู้” ของเด็กๆในชนบท หลายต่อหลายครั้งในโอกาสต่างๆ

ในสมุด “ไดอารีประจำปี 2567” ที่ ไทยรัฐกรุ๊ป จัดพิมพ์เพื่อแจกจ่ายแก่ผู้มีอุปการคุณในปีใหม่ปีนี้ ได้เขียนบทความเกี่ยวกับโรงเรียน ไทยรัฐวิทยา พร้อมกับเปรียบเทียบโรงเรียนเหล่านี้ว่าเป็น “อนุสาวรีย์ที่มีชีวิตของนายกำพล”

เป็นอนุสาวรีย์ที่จะช่วย “พัฒนาชีวิต” ของเด็กๆที่ล่อแหลมต่อการที่จะถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง เพราะความจนและความด้อยโอกาสกว่า 22,000 คน ให้มีความรู้ความสามารถที่จะต่อสู้ขวนขวายไปสู่ชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในอนาคต

ผมอ่านแล้วก็เห็นด้วยกับบทความดังกล่าวนี้ เพราะ โรงเรียนไทยรัฐ นั้นก็คือ อนุสาวรีย์ ที่ ผอ.กำพลมองการณ์ไกลสร้างไว้เพื่อให้แนวความคิดในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในชนบทของท่านบรรลุเป้าหมายนั่นเอง

ในบทความของ “ไดอารีปี 2567” ของไทยรัฐยังระบุด้วยว่า คุณหญิงประณีตศิลป์ วัชรพล ภรรยาของ ผอ.กำพล วัชรพล ผู้ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิไทยรัฐ ปัจจุบันรวมทั้งทายาทและผู้ร่วมงานของไทยรัฐกรุ๊ป ซึ่งได้สืบทอดเจตนารมณ์ของท่าน ผอ.กำพล มาโดยตลอดล้วนให้คำมั่นสัญญาว่าจะเดินหน้าต่อไป

เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของท่าน ผอ.กำพล ด้วยการให้การอุปการะและดูแลโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 111 แห่งอย่างใกล้ชิด โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้เด็กนักเรียนทุกคนได้รับการพัฒนา ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญาที่เหมาะสมกับวัย

จาก พ.ศ.2522 จนถึงปัจจุบัน มูลนิธิไทยรัฐมีโรงเรียนไทยรัฐวิทยาอยู่ในความดูแลทั้งหมด 111 แห่ง มีจำนวนห้องเรียน 1,258 ห้อง จำนวนครู 1,221 คน รวมนักเรียนทุกระดับ 22,898 คน

ล่าสุดก็ได้ร่วมกับ สพฐ.จัดให้มีการเรียนการสอนวิชาที่ไม่มีการเรียนการสอนในโรงเรียนอื่นๆ ได้แก่ วิชา พลเมืองดี และ ความรอบรู้เรื่องสื่อมวลชน มาจนถึงปีปัจจุบัน (2566) ก็จัดให้มีการเรียนการสอนวิชา “ประวัติศาสตร์เพื่อการพัฒนาชาติ” เพิ่มขึ้นอีกวิชาหนึ่ง

ผมขอขอบคุณทุกๆฝ่ายอีกครั้งและมั่นใจอย่างเต็มเปี่ยมว่า “อนุสาวรีย์ที่มีชีวิต” ของ ผอ.กำพล อันได้แก่ โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 111 แห่ง และ มูลนิธิไทยรัฐ จะอยู่ยั้งยืนยงอย่างมีชีวิตและจิตวิญญาณในการพัฒนาเด็กไทยในชนบท ทั้งในปัจจุบันและอนาคตต่อไปในวันข้างหน้า

จนกว่าการศึกษาไทยในชนบทจะดีขึ้นอันจะเป็นผลให้ชีวิตของ เด็กชนบทรุ่นใหม่ดีขึ้นดังที่ท่าน ผอ.กำพลตั้งความหวังไว้.

“ซูม”

คลิกอ่านคอลัมน์ "เหะหะพาที" เพิ่มเติม