นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เผยถึงผลการติดตามโครงการ 1 อำเภอ 1 แปลงเกษตรอัจฉริยะ หนึ่งในโครงการสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้แผนแม่บทย่อยเกษตรอัจฉริยะ เพื่อส่งเสริมเกษตรกรสู่เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ จากการลงพื้นที่ติดตามโครงการ แปลงนาข้าวต้นแบบในพื้นที่จังหวัดพิจิตร สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี เชียงใหม่ สกลนคร และชัยนาท พบว่า กรมการข้าวมีการจัดหาเทคโนโลยีให้เกษตรกร รวมถึงค่าเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยและสารเคมี

“มีการปรับระดับพื้นดินให้สม่ำเสมอกันทั้งแปลงด้วย Laser Land Leveler (LLL) ทำให้การจัดการระบบน้ำในแปลงนามีความสม่ำเสมอทั้งแปลง ลดการเกิดวัชพืชและช่วยทำให้ต้นข้าวเจริญเติบโตใกล้เคียงกัน”

รองเลขาธิการ สศก.เผยอีกว่า นาหว่านมีการใช้โดรนในการหว่านเมล็ดพันธุ์ ทำให้ประหยัดเมล็ดพันธุ์ และเมล็ดพันธุ์กระจายทั่วแปลง ส่วนนาดำมีการเพาะเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยเครื่องเพาะข้าวอัตโนมัติ ดำเนินการปลูกโดยรถปักดำอัตโนมัติ 6 แถว 8 แถว มีการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ใช้โดรนในการใส่ปุ๋ยและสารเคมี

...

มีการติดตั้งท่อวัดระดับน้ำอัจฉริยะ (Water Leveling) เพื่อติดตามระดับน้ำที่ปล่อยลงแปลงนาให้มีความเหมาะสมกับความต้องการน้ำ มีการแจ้งเตือนเกษตรกรผ่านแอปพลิเคชัน Blynk และมีการติดตั้งสถานีตรวจอากาศ (Weather Station) เพื่อวัดความชื้นและสภาพอากาศ

นอกจากนี้ ในกระบวนการฉีดพ่นสารเคมี จะดำเนินการพ่นสารเคมีคุมหญ้าและฆ่าหญ้าด้วยโดรน สามารถลดการสัมผัสกับสารเคมีในแปลงเกษตร ลดระยะเวลาการทำเกษตรลง และลดความเสียหายจากการเหยียบย่ำแปลงนาได้อีกด้วย

จากการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในแปลงข้าว สศก.พบว่า มีค่าใช้จ่ายการผลิต 4,357 บาทต่อไร่ต่อรอบการผลิต ในขณะที่แปลงทั่วไปมีค่าใช้จ่าย 4,604 บาท ค่าใช้จ่ายลดลงเฉลี่ย 247 บาท

ด้านปริมาณผลผลิต เกษตรกรได้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นเป็น 924 กิโลกรัมต่อไร่ต่อรอบการผลิต ขณะที่แปลงทั่วไปมีผลผลิต 868 กิโลกรัมต่อไร่ต่อรอบการผลิต เพิ่มขึ้น 56 กิโลกรัม.

คลิกอ่าน “ข่าวเกษตร” เพิ่มเติม