ในประเทศไทยมีอุบัติเหตุบนท้องถนนจากการดื่มแล้วขับเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจนสามารถบันทึกเป็นสถิติใหม่ได้แทบทุกปี แต่รู้ไหมว่า ยังมีคนอีกไม่น้อยที่แม้จะรอดจากการถูกบันทึกในสถิติ แต่ชีวิตต้องพลิกผันไปตลอดกาล รวมไปถึงทุกคนในครอบครัว ในวันนี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงอาสาเป็นกระบอกเสียงให้กับพวกเขา ได้มาสะท้อนความรู้สึกจากการตกเป็นเหยื่อของการดื่มแล้วขับ รวมถึงความหวังที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในสังคมไทย

เหลือเพียงลมหายใจ

ก่อนเข้าเรื่อง ดวงพร ปร่ำนาค เล่าถึงพี่ชายของเธอให้ฟังว่า

“พี่เคยเป็นผู้รับเหมา เป็นคนดี ขยันทำงาน คอยดูแลแม่และน้อง หาเงินเลี้ยงครอบครัว”

ใครจะคาดคิดว่า คนคนหนึ่งที่เคยมีเป้าหมายให้มุ่งไปต้องมาถูกหยุดเพราะการดื่มแล้วขับ

“พี่เจออุบัติเหตุ มีคนเมาขับรถมาชน แถมยังไถตัวพี่ไปกับถนน จนบาดเจ็บสาหัส หัวกระทบกระเทือนรุนแรง มีเลือดคั่งที่สมอง หมอต้องผ่าตัดเปิดกะโหลก ช่วยชีวิตไว้ได้ แต่...” ดวงพรเล่าถึงเหตุการณ์ด้วยน้ำเสียงเครือ

“ผลที่ตามมา คือ ตอนนี้พี่ดูแลตัวเองไม่ได้ เคลื่อนไหวยังไม่ได้เลย เหมือนเป็นอัมพาตทั้งตัว ต้องกินอาหารผ่านทางสายยาง ทุกวันนี้ก็พยายามคุยกับเขา แต่ก็ไม่รู้ว่า พี่จะรับรู้ถึงตัวเราไหม”

จากแววตาและน้ำเสียงของน้องสาวเหยื่อดื่มแล้วขับผู้นี้ ทำให้รู้ว่า เรื่องนี้ไม่ได้มีผู้ชายคนเดียวที่ได้รับบาดเจ็บ แต่ยังมีครอบครัวของเขาทุกคนที่ต้องเจ็บปวดตลอดไป

“พอพี่ต้องเป็นแบบนี้ทำให้ครอบครัวของเราล้ม แทบเดินไปต่อกันไม่ไหว.. อยากขอร้องถึงคนดื่ม ถ้าดื่มแล้วไม่รับผิดชอบ ก็ขอให้อย่าทำอีกเลย ให้พี่ชายเป็นคนสุดท้ายเถอะ....”

ชีวิตหายไปครึ่งหนึ่ง

กรณีถัดมาเป็นเรื่องของ กัลย์อรภัสร์ จาวสุวรรณวงษ์ หญิงสาวที่เป็นทั้งลูก ทั้งภรรยา และแม่ของลูก ที่ชีวิตต้องตกเป็นเหยื่อของคนดื่มแล้วขับเช่นกัน

“เมื่อก่อนเคยขี่รถจักรยานยนต์ขายสลากกินแบ่งรัฐบาลไปในที่ต่างๆ จนวันหนึ่งเจอคนดื่มไม่ขับ ขับรถสวนเลนมาชน....”

จากคำบอกเล่า ทำให้รู้ว่า รถของเธอถูกชนติดกับรถกระบะคู่กรณี และโดนลากไป ขณะที่ขาของเธออยู่ติดกับไฟหน้ารถของคนขับกระบะ

“ตอนนั้นพยายามเคาะกระจกบอกเท่าไร อีกฝ่ายก็ไม่หยุดรถ มารู้ตอนหลังก็คือ คนเมาไม่รู้เรื่อง แทบไม่มีสติ

แม้หมอจะช่วยชีวิตเธอไว้ได้ แต่ก็เป็นเพียงชีวิตแค่ครึ่งเดียว เพราะอีกครึ่งของเธอนั้น...

“หมอบอกว่า กระดูกส่วนขาถูกอัดจนแตกละเอียด กระดูกเชิงกรานหัก ต้องใส่เหล็กทั้งสองข้าง เส้นประสาทบริเวณขาตายหมด ทำให้เดินไม่ได้ กลายเป็นคนพิการ ต้องใช้รถเข็นไปตลอดชีวิต...”

ปัจจุบันแม้เธอจะลุกนั่งเองได้ แต่ก็เดินเองไม่ได้ ต้องให้พ่อแม่ สามี หรือลูกคอยดูแล ที่น่าสะเทือนใจก็คือ เธอบอกว่า รู้สึกเสียใจที่ไม่สามารถดูแลลูกที่ยังอยู่ในวัยเรียนได้อย่างเต็มที่

เรื่องราวของพวกเขาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคนที่ได้รับผลกระทบจากการดื่มแล้วขับ ยังมีอีกหลายครอบครัวที่กำลังทนทุกข์เช่นเดียวกันนี้ แน่นอนว่า คงไม่มีใครสามารถชดเชยความสูญเสียที่เกิดขึ้นไปแล้วได้ แต่ที่ทุกคนสามารถทำได้คือหยุดวงจรเหล่านี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต นั่นก็คือ การดื่มไม่ขับ

กดติดตามข้อมูลข่าวสาร แคมเปญที่น่าสนใจ และกิจกรรมดีๆ จาก สสส เพิ่มเติมได้ที่ :