ส่วยรถบรรทุก กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง “เมื่อรถขนดินน้ำหนักเกิน” วิ่งผ่านเข้าถนนสุขุมวิทเหยียบแผ่นฝาปิดปากท่อร้อยสายไฟ “ทรุดตัวตกลงในบ่อ” จนการจราจรติดขัดสาหัสตลอดทั้งวัน

เรื่องนี้มีปัญหาว่า “รถคันนี้บรรทุกน้ำหนักมา 37.45 ตันเกินกว่ากฎหมายกำหนด” แต่สามารถวิ่งนอกเวลาอนุญาตได้แล้วกระจกหน้าพบ “สติกเกอร์ดาวตัว B สีเขียว” ตำรวจท้องที่ตรวจสอบเป็นสัญลักษณ์ไซต์งานขัดแย้งกับสหพันธ์ขนส่งแห่งประเทศไทยยืนยันเป็นตัวอักษรส่วยสติกเกอร์ใช้เคลียร์กับตำรวจให้วิ่งระหว่างไซต์งาน

ทำให้เรื่องส่วยรถบรรทุกถูกหยิบยกกลับมาพูดถึงอีกครั้งผ่านเวทีเสวนา “ส่วยรถบรรทุกกับมาตรการ ป.ป.ช.” จัดโดย สนง.ป.ป.ช.นี้ ลัดดา เดือนสว่าง ผอ.สำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม ป.ป.ช. บอกว่า

ส่วยรถบรรทุกน้ำหนักเกินเป็นปัญหาส่งผลให้ “ถนนชำรุดเสียหายก่อนหมดอายุใช้งาน” เป็นปัจจัยเกิดอุบัติภัยท้องถนนให้รัฐบาลต้องเสียงบประมาณซ่อมแซมบำรุงมหาศาล แม้ที่ผ่านมา “ป.ป.ช.” มีมาตรการป้องกันการทุจริตรถบรรทุกน้ำหนักเกินมาตั้งแต่ปี 2528 แต่ยังมีการทำผิดแถมมีข่าวเจ้าหน้าที่ละเลยทุจริตต่อหน้าที่อีก

...

คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงได้มีการเสนอมาตรการติดตาม ควบคุม และลดปัญหาการทุจริตรถบรรทุกน้ำหนักเกินต่อ ครม.และมีมติเดือน ธ.ค.2564 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 6 องค์กรนำไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม 6 เรื่อง คือ 1.บังคับใช้กฎหมายลงโทษผู้บรรทุกน้ำหนักเกิน 2.จัดทำ MOU ควบคุม กำกับ ดูแลถนนแต่ละเขตรับผิดชอบร่วมกัน

ข้อ 3.หารือร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย 4.กำหนดให้รถบรรทุกมีใบชั่งระบุน้ำหนักตั้งแต่ต้นทาง และจัดป้ายแสดงน้ำหนักจริงขณะวิ่ง 5.ผลักดันเทคโนโลยีมาใช้ในการชั่งน้ำหนัก 6.เพิ่มมาตรการกำกับ
ดูแล และตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่มีปัญหาการทุจริต

แต่ปรากฏพบ “ปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติกันอย่างมากมาย” ทำให้ ป.ป.ช.ต้องขับเคลื่อนมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับรถบรรทุกน้ำหนักเกิน “ประเด็นส่วยรถบรรทุกกับมาตรการ ป.ป.ช.” ในการรับฟังปัญหารูปแบบ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ

เช่นเดียวกับ พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล อดีต ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม บอกว่า สมัยก่อนส่วยสติกเกอร์จ่ายเงินกันผ่านบัตรเอทีเอ็ม “มีหน้าม้าทำหน้าที่รับเงินให้เจ้าหน้าที่รัฐ” สามารถจับกุมดำเนินคดีหลายราย แต่ก็มีปัญหาข้อถกเถียงกรณีการบังคับใช้กฎหมายฟ้องคดีรถบรรทุกน้ำหนักเพื่อริบรถ

อันเป็นช่องโหว่ “การทุจริตของพนักงานสอบสวนบางคน” ใช้เป็นเครื่องมือค้าสำนวนด้วยการทำเป็นสัญญาเช่ารถเท็จ “บันทึกลงในสำนวนคดีว่าผู้ขับรถไม่ใช่ลูกจ้าง” แต่เป็นการเช่ารถมาเพื่อไม่ให้ถูกริบ ปัญหาเหล่านี้แม้ผ่านมานานกว่า 20 ปีแต่ส่วยสติกเกอร์รถบรรทุกน้ำหนักเกินก็ยังไม่หมดไปคงมีอยู่ในสังคมไทยจนปัจจุบันนี้

ยิ่งกว่านั้น “ปัญหาการบรรทุกน้ำหนักเกินยังคาบเกี่ยวหลายหน่วยงาน” เพราะรถวิ่งผ่านหลายพื้นที่แต่ละจุดก็มีหน่วยงานรับผิดชอบต่างกัน เช่น ถนนทางหลวงเป็นอำนาจตำรวจทางหลวง ถนนทางหลวงชนบท กลับเป็นอำนาจกรมทางหลวงชนบทดูแล ทั้งยังมีกรมขนส่งทางบก และ อบต. อบจ.ในพื้นเข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย

เหตุนี้การบังคับใช้กฎหมายอย่างเดียว “แก้ปัญหาไม่ได้” ดังนั้นมติ ครม.ตาม ป.ป.ช.เสนอปี 2564 ครอบคลุมต่อหน่วยงานรับผิดชอบนำไปปฏิบัติได้อย่างบูรณาการ แต่ผ่านมา 2 ปีกลับไม่มีมาตรการใดเกิดขึ้นด้วยซ้ำ

สังเกตจาก “กรุงเทพฯ และปริมณฑล” มีการก่อสร้างมากมายทำให้ รถบรรทุกหิน และทรายวิ่งจากต่างจังหวัดเข้ามาจำนวนมาก “แม้มีข้อจำกัด เวลาเข้า-ออก” ก็จ่ายรายเดือนเคลียร์เพื่อความสะดวกลดต้นทุน เมื่อชาวบ้านพบเห็นไม่รู้จะแจ้งหน่วยใด ฉะนั้นควรมีหน่วยกลางทำหน้าที่รับแจ้งเหตุ และควบคุมบังคับใช้กฎหมายจริงจัง

...

ถัดมา “งบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างในการซ่อมบำรุงถนน” ก็มักเกิดการทุจริตเช่นกันด้วยส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับ “อบต.พิจารณาอนุมัติ” บ่อยครั้งพบว่าบริษัทรายเดียวรับงานหลาย อบต. ด้วยวิธีจัดซื้อจัดจ้างเจาะจง

ฉะนั้นการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างนี้ “ต้องผลักดันแก้ในเชิงนโยบายดีกว่าวิ่งไล่จับรายบุคคล” เพราะเรื่องนี้เป็นการสมยอมต่อกันต่างฝ่ายต่างได้รับประโยชน์คงเป็นเรื่องยากที่จะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาร้องเรียนดำเนินคดี

ขณะที่ พล.ต.ต.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผบก.ปปป. บอกว่า ปัญหาส่วยสติกเกอร์นั้นตำรวจทางหลวง ได้ตกเป็นจำเลยสังคมกับ “การรับส่วยรถบรรทุก น้ำหนักเกิน” ถ้าดูพฤติการณ์ต่างจากเมื่อก่อนตรงที่ว่า “ในสมัยนั้นมักจ่ายตรงกับตำรวจบางนาย” แต่ปัจจุบันพัฒนาไปสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์มีโบรกเกอร์เป็นตัวกลางผลิตสติกเกอร์

ส่วนใหญ่ “เป็นคนในวงจรกิจการรถบรรทุก” เดิมมักวิ่งเข้าหาพบปะเจ้าหน้าที่ให้ช่วยเหลืออำนวยความสะดวกในกิจการตัวเองประจำแล้วเห็นช่องทางหาแนวร่วมช่วยจ่าย “ลดต้นทุนจนเห็นส่วนต่างผลประโยชน์” เริ่มสร้างความน่าเชื่อถือในการวิ่งเข้าหาผู้ใหญ่ เพื่อนำไปโปรโมตทำสติกเกอร์ออกมาเชิงพาณิชย์กันอย่างแพร่หลายนี้

แล้วต้องยอมรับตรงๆว่า “ตำรวจบางนาย” เข้าไปเป็นกลไกฟันเฟืองนี้ด้วย แต่ถ้าเจาะลงลึกถึง “รากปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกินนี้” ส่วนใหญ่จะเป็นรถบรรทุกออกจากบ่อดิน และบ่อทราย วิ่งเข้าถนนทางหลวงชนบทที่พิกัดสภาพถนนไม่อาจรับน้ำหนักรถบรรทุกได้อยู่แล้ว แต่หน่วยงานรับผิดชอบ และองค์กรท้องถิ่นกลับปล่อยให้วิ่งได้

ผ่านออกมายัง “ถนนทางหลวง” มีหน่วยงานรับผิดชอบ 4-5 หน่วยก็ปล่อยให้วิ่งในเขตรับผิดชอบตัวเองอีก “บก.ปปป.” รับร้องเรียนมาตลอด แต่ไม่มีผู้เสียหายแสดงตัวให้ข้อมูลยืนยันจนทางคดีอาญาเดินไปได้ลำบาก

...

“ทำให้บางคดีตำรวจ ปปป. ต้องวิ่งหาผู้เสียหายให้ความมั่นใจยืนยันในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างเด็ดขาด แม้เราจะสวมหมวกเป็นตำรวจด้วยกันก็ไม่มีการละเว้น จนมีผู้เสียหายบางส่วนกล้าลุกขึ้นมาต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้ตอนนี้สามารถแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีได้เพียง 6-7 คดีเท่านั้น” พล.ต.ต.ประสงค์ ว่า

เช่นนั้น “ตำรวจทางหลวงตกเป็นเป้าปัญหารับส่วยสติกเกอร์นี้” ในเรื่องนี้ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก “ประกาศแก้รถบรรทุกน้ำหนักเกินให้จบที่รุ่นเรา และต้องไม่มีส่วยสติกเกอร์อีกต่อไป” ด้วยการวางแนวทางให้ พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผบก.ปปป.รับตำแหน่ง ผบก.ทล.เพื่อเข้าไปจัดระเบียบแก้ปัญหาภายใน

ด้วยเพราะ “ถ้าหัวไม่ส่ายหางก็ไม่กระดิก” แล้วยิ่งเส้นแบ่งการดูแลระหว่างธุรกิจรถบรรทุก และตำรวจค่อนข้างคาบเกี่ยวการรับผลประโยชน์ หากข้ามเส้นนิดเดียวก็กลายเป็นการเรียกรับส่วยแล้ว ดังนั้นในการดูแลช่วยเหลือพรรคพวกควรต้องอยู่ใน “กรอบกติกากฎหมาย” เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการรถบรรทุกทุกฝ่าย

...

จริงๆแล้วตามแนวคิดคนปฏิบัตินั้น “การจะไล่ตามจับคงไม่หวาดไม่ไหว” เพราะด้วยตำรวจบางคนก็อยู่บนพื้นที่ฐานของความขาดแคลน “พรรคพวกเสนอมาให้อำนวยความสะดวกกลับทำมากเกินขอบเขต” แต่เมื่อผู้ใหญ่รับรู้รับทราบปัญหาบวมแตกขึ้นมาสั่งจัดแถมขึงขัง แต่พอปล่อยผ่านระยะหนึ่งปัญหามักกลับมาใหม่อีกครั้ง

ฉะนั้นปัญหานี้ “ต้องแก้ไขในเชิงโครงสร้าง นโยบาย และกฎหมาย” เพื่อสร้างกติกาให้เป็นที่ยอมรับเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย “โดยเฉพาะการกำหนดน้ำหนักใหม่ควรเป็นตัวเลขกลางเท่าใด” เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีถูกนำมาใช้ก่อสร้างถนนให้มีมาตรฐานรองรับน้ำหนักได้มากกว่าเดิม ในส่วนรถสิบล้อก็บรรทุกได้เป็น 100 ตัน

ขณะที่กฎหมาย “ไม่เคยปรับปรุงแก้ไขให้สอดรับสถานการณ์” แล้วยิ่งตอนนี้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น “ผู้ประกอบการ” ก็ต้องหาทางลดต้นทุนนำมาซึ่ง “การจ่ายส่วยหาสิทธิพิเศษ” ฉะนั้นด่านชั่งน้ำหนักจะเป็นหัวใจสำคัญเพียงแต่ยัง “ขาดการถ่วงดุลการตรวจ” อันจะทำให้เกิดเสือตัวใหม่นอกเหนือจากตำรวจหรือไม่

เพราะด่านชั่งน้ำหนักเป็นการบังคับใช้กฎหมายนำมาสู่ข่าวลือว่ามีการจ่ายส่วยเพื่อไม่ต้องเข้าด่าน แม้ว่ามีภาพกล้องวงจรปิดบันทึกถูกส่งไปส่วนกลาง สุดท้ายเก็บไว้ดูกันภายใน ทำให้ต้องมีหน่วยงานอื่นมาถ่วงดุลตรงจุดนี้ ส่วนการบังคับใช้กฎหมายคงเป็นหน้าที่ ปปป., ป.ป.ช.ขันนอตตัวที่หลวมให้เจ้าหน้าที่นอกกติกาไม่กล้าทำความผิด

นี่คือเสียงสะท้อนจาก “ผู้ปฏิบัติบังคับใช้กฎหมาย” ร่วมกันมาแลกเปลี่ยนพูดคุยปัญหา อุปสรรค เพื่อจะขับเคลื่อนจัดการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับส่วย และรถบรรทุกน้ำหนักเกินในระยะต่อไป.

คลิกอ่านคอลัมน์ “สกู๊ปหน้า 1” เพิ่มเติม