อ.พบพระ จ.ตาก เป็นพื้นที่เกษตรสำคัญของบ้านเรา ด้วยความได้เปรียบด้านสภาพพื้นที่ ดินที่นี่อุดมสมบูรณ์มาก แม้จะใช้ดินปลูกพืชมาอย่างยาวนาน แต่ยังคงความสมบูรณ์อยู่มาก ทำให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าที่อื่น อีกทั้งยังมีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ อากาศ เย็นสบายตลอดทั้งปี อยู่สูงจากระดับน้ำทะเล 500–600 เมตร ที่สำคัญแรงงานราคาถูก จึงทำให้คนต่างถิ่นย้ายถิ่นฐานขึ้นไปทำเกษตรที่พบพระกันเป็นจำนวนมาก

“เดิมครอบครัวทำสวนกุหลาบที่ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ต่อมาเพื่อนๆชักชวนขึ้นมาทำสวนที่นี่ เนื่องจากเห็นว่าที่นี่มีความอุดมสมบูรณ์ทุกๆเรื่อง คุณพ่อจึงย้ายถิ่นฐานมาที่นี่ ในช่วงแรกๆปลูกพืชหลากหลาย ทั้งมะนาว พริกไทย จนมาปลูกกล้วยหอมทองเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว โดยนำหน่อพันธุ์กล้วยมาจากเพชรบุรี ช่วงแรกๆก็ปลูกเพียง 30 ไร่ และขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเป็น 200 ไร่ เต็มพื้นที่ของตัวเอง ผลผลิตส่งขายที่ตลาดไท กล้วยที่นี่จะมีคุณสมบัติแตกต่างจากที่อื่นอย่างเห็นได้ชัด รสชาติหวานอร่อย เนื้อเหนียว แน่น หนึบ เปลือกหนา ทำให้อายุการวางตลาดนานกว่ากล้วยภาคกลาง 2-3 วัน นับเป็นจุดเด่นที่ทำให้ตลาดชอบกล้วยที่นี่”

...

ธีรภัทร เดชจินดา แห่งไร่ภักดี อ.พบพระ ผู้บริหารหนุ่มน้อยวัย 23 ปี ที่มาช่วยคุณพ่อดูแลกิจการ เล่าถึงที่มาของการเริ่มปลูกกล้วยหอมทอง ก่อนอัปเกรดตัวเองกลายเป็นสวนกล้วยรายใหญ่ของ อ.พบพระ แล้วพัฒนาสู่การส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกกล้วยหอมทองป้อนให้กับทางไร่ ด้วยความที่ต้องการส่งกล้วยมาขายที่ตลาดขายส่งที่ตลาดไทมีราคาไม่แน่นอน และระยะทางที่ค่อนข้างไกล จึงเกิดแนวคิดหาตลาดที่ใกล้ขึ้น

จึงคิดว่าผลผลิตกล้วยน่าจะป้อนตลาดค้าปลีกอย่างเซเว่น อีเลฟเว่น จึงเริ่มหาช่องทางจนสามารถเข้าถึงร้านค้าที่ตั้งความหวังไว้ได้ เมื่อเจ้าหน้าที่จากของบริษัทเข้ามาตรวจสอบแปลงและคุณภาพผลผลิต ก็พอใจรับผลผลิตเข้าจำหน่ายเมื่อ 6 ปีที่แล้ว โดยป้อนเข้าสาขาในเขตภาคเหนือตอนล่าง จึงเริ่มทำโรงงานแพ็กกล้วยเล็กๆ ที่หน้าฟาร์ม ช่วงแรกส่งกล้วยหอมทองแค่ 2,000 ผล กล้วยอื่น 100 กว่าแพ็ก

เมื่อตลาดขยาย ทำให้กล้วยที่ปลูกเอง 200 ไร่ ไม่เพียงพอ จึงส่งเสริมลูกไร่ปลูกเพิ่ม โดยมีสวนลูกไร่กว่า 500 ไร่ มีการวางแผนการปลูกตลอดทั้งปี เพื่อให้สอดคล้องกับตลาด มีทั้งแปลงที่ปลูกแซมในสวนทุเรียน และปลูกกล้วยเดี่ยวๆ เกษตรกรที่ปลูกมีตั้งแต่ 10 ไร่ จนถึง 100 ไร่ ราคารับซื้อหวีละ 32 บาท ช่วงที่กล้วยน้อย ก.ค.-ส.ค. ราคารับซื้อจะสูงถึงหวีละ 40 บาท สำหรับกล้วยที่นี่จะไว้กอประมาณ 3 รุ่น ถึงจะรื้อแปลง การดูแลเน้นใส่ปุ๋ยอินทรีย์เป็นหลักเดือนละครั้ง กอละ 1-2 กก. กล้วยเป็นพืชที่ไม่ต้องดูแลมาก มีเพียงการตัดแต่งใบกล้วยไม่ให้เยอะเกินไป โดยตัดใบทุก 7-10 วัน ตัดปลีกล้วยออกเมื่อกล้วยแทงสุดปลี ไม่มีการห่อกล้วยเหมือนแหล่งปลูกกล้วยที่อื่น แต่กล้วยก็ผิวสวยธรรมชาติ

...

ล่าสุดทางไร่ภักดีได้สร้างโรงงานแปรรูปกล้วยเพื่อแก้ปัญหากล้วยล้นตลาด โดยใช้กล้วยมีผลขนาดใหญ่เกินไป กล้วยสุกเกินไป รวมไปถึงกล้วยผิวไม่สวย อันเป็นการเพิ่มมูลค่ากล้วยสดอีกด้วย โดยแปรรูปเป็นกล้วยทอดสุญญากาศ โดยใช้หม้อทอดสุญญากาศที่ทางไร่สั่งผลิตเองจากโรงงาน ทอดด้วยน้ำมันรำข้าว แล้วมาสลัดน้ำมัน 2 ครั้ง ใช้หม้อแรงดันแล้วใช้ปั๊มดูดอากาศออก ทำให้กล้วยทอดสุญญากาศที่ออกมามีสีสวย รสชาติหวานแบบธรรมชาติ และรสชาติดี โดยเริ่มวางจำหน่ายที่เซเว่น อีเลฟเว่น ทั่วประเทศเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยได้รับการตอบรับอย่างดีมากจากผู้บริโภค.

กรวัฒน์ วีนิล

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่