วันนี้ (15 ธ.ค. 66) เวลา 08.00 น. นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานกิจกรรมวันดินโลก ประจำปี 2566-2567 ภายใต้แนวคิด "ดินดี น้ำดี ชีวีมีสุข อย่างยั่งยืน : Sustainable Soil and Water for better life" ร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทยและ ภาคีเครือข่ายในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ กว่า 1,400 คน โดยได้รับความเมตตาจาก พระครูมงคลวิสิฐ เจ้าคณะอำเภอแม่แจ่ม เจ้าอาวาสวัดบุปผาราม พระครูวีรกิจสุนทร รองเจ้าคณะตำบลช่างเคิ่ง เขต 1 เจ้าอาวาสวัดบ้านเจียง พระครูวิสุตปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุช่างเคิ่ง และพระเถรานุเถระ ร่วมกิจกรรม
โอกาสนี้ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยนายสุรพล เกียรติไชยากร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายสุระวุธ จันทร์งาม นายอำเภอแม่แจ่ม นำขบวนเดินรณรงค์ "วันดินโลก" เฉลิมพระเกียรติของกระทรวงมหาดไทย เส้นทางสายใต้ "การบูชาป่า" จาก วัดพระธาตุช่างเคิ่งถึงที่ว่าการอำเภอแม่แจ่ม
นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ผู้แทนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และผู้แทนองค์การจัดการน้ำเสีย เดินนำขบวนเส้นทางสายเหนือ "อนุรักษ์ดิน" จาก วัดเจียงถึงที่ว่าการอำเภอแม่แจ่ม
นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายวิฑูรย์ นวลนุกูล รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยผู้แทนการไฟฟ้านครหลวง และผู้แทนองค์การตลาด เดินนำขบวนเส้นทางสายตะวันออก "รู้รักษ์สามัคคี" จาก วัดบุปผารามถึงที่ว่าการอำเภอแม่แจ่ม
นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายบุญธรรม ขอไพบูลย์สกุล รองอธิบดีกรมที่ดิน พร้อมด้วยผู้แทนการประปานครหลวง และผู้แทนการประปาส่วนภูมิภาค เดินนำขบวนเส้นทางสายตะวันตก "อนุรักษ์น้ำ" จาก ศูนย์หัตถกรรมผ้าตีนจกถึงที่ว่าการอำเภอแม่แจ่ม
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเปิดงานวันดินโลก กระทรวงมหาดไทย ปี 2566-2567 "ดินดี น้ำดี ชีวีมีสุข อย่างยั่งยืน : Sustainable Soil and Water for better Life" โดยกล่าวว่า ชาวแม่แจ่มเป็นต้นแบบของคนไทยผู้มีจิตอาสา มีจิตเสียสละ น้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเพียรพยายามหนุนเสริมให้คนไทยทั่วประเทศได้มีความเสียสละ ทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน ดังที่พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนจิตอาสา 904 เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ ซึ่ง "คนแม่แจ่ม" ล้วนแต่เห็นประโยชน์ส่วนรวม ยอมทำทุกอย่างเพื่อให้ชุมชน ตำบล หมู่บ้าน และพี่น้องประชาชนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ดังตัวอย่างสำคัญในช่วง 3-4 ปีที่ชาวแม่แจ่มได้ช่วยกันทุ่มเทแรงกาย แรงใจ แรงทรัพย์และเวลาจากการประกอบทำอาชีพ ไปช่วยกันพัฒนาต้นน้ำแม่แจ่ม ให้มีฝายชะลอน้ำ ให้มีต้นไม้ ทำให้มีพื้นที่ที่มีความสุขจากความสมดุลของธรรมชาติ ด้วยการฝายถึง 106,000 ฝาย โดยไม่ใช้งบประมาณของทางราชการ ซึ่งถ้าเราคิดจากอัตราค่าแรง 300 บาท/คน/วัน ทำให้ทางราชการประหยัดงบประมาณถึง 300 ล้านบาท เพื่อสามารถนำเงินส่วนนี้ไปพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนผู้ด้อยโอกาส
"คนแม่แจ่มเป็นจิตอาสาโดยสายโลหิต โดย DNA เพราะทุกท่านเสียสละเพื่อส่วนรวมมาโดยตลอด ร่วมกันรักษาผืนป่าด้วยการบวชป่า ด้วยการทำนุบำรุงต้นไม้ที่เป็นแหล่งทำให้ดิน น้ำ อากาศมีความอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้คุณภาพชีวิต ให้โลกของเรามีความสุข มีความร่มเย็นเป็นสุข ดังที่พ่อหลวง (ผู้ใหญ่บ้าน) ท่านหนึ่งได้เล่าให้ฟังที่วัดช่างเคิ่งว่า เมื่อปี 2565 ท่านได้บวชป่าไปจำนวน 100 กว่าไร่ ในปี 66 เพิ่มขึ้น 600 กว่าไร่ และในปี 67 ท่านจะทำให้ทุกหมู่บ้านมีผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นป่าชุมชนที่จะยังประโยชน์สุขให้กับลูก หลาน เหลน โหลนต่อไป เป็นยาอายุวัฒนะช่วยแก้ไขโลกร้อนให้กับโลกของเรา อันสะท้อนว่า "คนแม่แจ่ม" ช่วยทำให้สิ่งที่เป็นพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ มุ่งมั่นช่วยทำให้ "ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน จึงเป็นที่มาของการที่กระทรวงมหาดไทยได้เลือกพื้นที่อำเภอแม่แจ่มเป็นปฐมฤกษ์ในการจุดประกายไฟให้กับคนทั้งชาติ ภายใต้การขับเคลื่อนของท่านอธิบดี ผู้บริหารหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยมี ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล (อ.โก้) ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้เป็นภาคีเครือข่ายภาควิชาการ ได้ลงพื้นที่อำเภอแม่แจ่มถึง 14 ครั้ง รวมถึงภาคีเครือข่ายผู้นำศาสนา ผู้มุ่งมั่นน้อมนำแนวทางพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาใช้ในการดูแลป่าในพื้นที้อำเภอสะเมิงจนสำเร็จ สามาถลดจุดความร้อน (Hotspot) ให้น้อยลง" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า การที่เราได้น้อมนำแนวพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการที่จะทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุข ช่วยกันแก้ไขปัญหาสิ่งที่ผิดพลาด และสืบสานในพระราชปณิธาน น้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งสอดคล้องกับพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดให้วันพระบรมราชสมภพ 5 ธันวาคม เป็น "วันดินโลก" ซึ่งเป็นวันสำคัญของโลก อันมีนัยสะท้อนให้เห็นว่า พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่ คิดค้น เผยแพร่ ทรงเป็นผู้นำทำให้พวกเราใช้ชีวิตโดยคำนึงว่า "ดิน" มีความสำคัญ ไม่ใช่แค่ให้เราเหยียบย่ำ แต่สามารถเป็นแหล่งอาหาร ทำให้มีชีวิตอยู่ได้โดยปกติสุข ซึ่งเราต้องช่วยแก้ไขในสิ่งผิด ช่วยกันทำนุบำรุงให้ดินกลับมามีคุณประโยชน์ ด้วยการไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ไม่ใช้เครื่องจักรทำลายดิน เพื่อไม่ให้พระแม่ธรณี (ดิน) ที่เราใช้เป็นเครื่องทำมาหากิน แล้วกลับส่งผลร้ายให้แม่พระธรณีกลายเป็นมะเร็ง ไม่สามารถก่อกำเนิดเกิดอาหารให้กับพวกเราได้ ใช้วันสำคัญนี้เป็นหมุดหมายสำคัญในการเชิญชวนให้พวกเราทุกคน ทุกภาคีเครือข่ายช่วยกัน Kick off ทำแบบคนแม่แจ่ม คือ ดูแลทำนุบำรุงดิน ป่าไม้ น้ำ และอากาศ ให้มีคุณภาพที่ดี เพื่อประโยชน์สุขให้คุณภาพชีวิตของเราทุกคนดีอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ "วันดินโลก" เป็นจุดเริ่มต้น ไม่ได้หมายความว่าเราต้องการรางวัล แต่เราต้องการให้ "เกิดพฤติกรรมร่วม" ด้วยการลุกขึ้นมาใช้ชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คนแม่แจ่มพิสูจน์ผ่านวัดช่างเคิ่งว่าจำเป็นต้องมีป่า ป่าทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ ทำให้ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล ทำให้ดินชุ่มชื้นยาวนาน มีรากไม้เป็นธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด ดูดซับน้ำให้มีน้ำไหลต่อเนื่องทุกปี เพื่อที่จะทำให้ฝุ่นละออง หมอกควัน PM 2.5 หมดไป และสามารถปรุงยาสมุนไพร ซึ่งปลัดกระทรวงมหาดไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดพิมพ์ตำรายาพื้นเมืองอำเภอแม่แจ่ม จากอักษรล้านนาเป็นภาษาไทย ทั้งนี้ ขอย้ำว่า แหล่งน้ำจะดีได้ คนต้องไม่ทิ้งขยะ ไม่ทิ้งน้ำเสียจากตัวเรือลงแหล่งน้ำ ต้องไม่เอาสารเคมี ไม่เอายาฆ่าแมลงฉีดพ่น ไม่งั้นน้ำก็จะเป็นพิษ
"ด้วยความรู้รักสามัคคีของชาวแม่แจ่ม ตั้งแต่ผู้นำคณะสงฆ์ และทุกภาคีเครือข่าย เป็นพลังมหาศาลจากแขนงไม้ไผ่จำนวนหมื่นแขนงที่มัดรวมกันอันแข็งแกร่งยิ่งกว่าท่อนเหล็ก จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการร่วมกัน Kick off วันดินโลก กระทรวงมหาดไทย ปี 2566-2567 "ดินดี น้ำดี ชีวีมีสุข อย่างยั่งยืน : Sustainable Soil and Water for better Life" และขอเชิญชวนพวกเราทุกคนได้ร่วมกันทำความดีเช่นนี้ให้สืบเนื่องสืบต่อไปตลอดปี 2567 เพื่อเป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 นี้" นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม
จากนั้น นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นำกล่าวคำประกาศเจตนารมณ์วันดินโลก กระทรวงมหาดไทย ปี 2566-2567 "ดินดี น้ำดี ชีวีมีสุข อย่างยั่งยืน : Sustainable Soil and Water for better Life" ความว่า "ข้าพเจ้า จะสืบสานศาสตร์พระราชา ตามแนวทางการพัฒนาพื้นที่ตามหลัก "อารยเกษตร" เพื่อพัฒนาทรัพยากรดินและน้ำ อย่างยั่งยืน ข้าพเจ้า จะรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำ และสร้างระบบนิเวศที่สมดุล เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีในมิติการทำงาน "บำบัดทุกข์ บำรุงสุข" แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน ข้าพเจ้า จะต่อยอดขยายผล ขับเคลื่อนภาคีเครือข่ายพลังแผ่นดินสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน"
นายสุระวุธ จันทร์งาม นายอำเภอแม่แจ่ม กล่าวว่า อำเภอแม่แจ่ม ได้จัดกิจกรรม Kick off งานวันดินโลก ประจำปี 2566 กระทรวงมหาดไทย โดยมีการเดินขบวนเฉลิมฉลองและประกาศเจตนารมณ์ มีผู้ร่วมกิจกรรม จำนวน 1,500 คน และแถลงความสำเร็จโครงการน้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามแนวทางพระราชดำริ "จากนภา ผ่านภูผา สู่มหานที" ซึ่ง 106 หมู่บ้าน สามารถสร้างฝายชะลอน้ำโดยใช้วัสดุธรรมชาติหมู่บ้านละ 1,000 ฝาย รวม 106,000 ฝาย และจัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ทศมมหาราชาสืบสานศาสตร์ ชนกาธิเบศรดำริ นิทรรศการระบบภูมิสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ : Maechaem Portal เป็นต้น และการออกร้านตลาดนัดสินค้าจากกลุ่มผู้ประกอบการในพื้นที่ อาทิ กลุ่มผู้ปลูกกาแฟในพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม กลุ่มผู้ปลูกผัก-ผลไม้ปลอดภัย กลุ่มสินค้า OTOP และสินค้าชนเผ่า
ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติ ประกาศรับรองให้วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันดินโลก เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ให้เป็นที่ประจักษ์ถึงวิสัยทัศน์และพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรดินอย่างยั่งยืนซึ่งสมัชชาความร่วมมือทรัพยากรดินโลกได้กำหนดหัวข้อหลักการจัดงานวันดินโลก ปี 2566 ว่า "Soil and Water : a source of life ดินดี น้ำสมบูรณ์ เกื้อกูลชีวิต" เน้นความสำคัญของทรัพยากรดินและน้ำที่มีควมสัมพันธ์เชื่อมโยง และเกื้อกูลซึ่งกันและกัน การปกป้องดูแลทรัพยากรดินและน้ำให้มีความยั่งยืนจะช่วยให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ รวมทั้งคุณภาพชีวิตของมนุษย์และสัตว์