การจัดงานประชุมวิชาการและจัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการเกษตรของสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ได้พบกับผลงานวิจัยและนวัตกรรมมากมาย มีสิ่งหนึ่งที่สะดุดตานั่นก็คือ “เครื่องผลิตน้ำแข็งเหลวโอโซน (OSIM)” ผลงานโดยคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และบริษัท ท็อป อะควา เอเชีย เทรดดิ้ง แอนด์ คอนซัลแทนท์ จำกัด
“การดูแลให้อาหารทะเลรักษาคุณภาพ รสชาติ เนื้อสัมผัส และความสดไว้ตั้งแต่วินาทีแรกที่จับขึ้นมาจากทะเลถือเป็นความท้าทายสำคัญในอุตสาหกรรมประมงไทย ขณะที่ปัจจุบันความต้องการอาหารทะเลคุณภาพพรีเมียมมีเพิ่มมากขึ้น โดยการแช่แข็งแบบเดิมที่ใช้น้ำจืด มีรอบการจำหน่ายในช่วงเวลาสั้น อาจส่งผลเสียต่อคุณภาพและมูลค่าของอาหารทะเล ส่วนการแช่เยือกแข็งที่อุณหภูมิ -20 ถึง -30°C แม้จะมีประสิทธิภาพเก็บรักษาในระยะยาว แต่หากสัตว์นํ้าได้รับความเย็นไม่เพียงพอในเวลาที่เหมาะสม อาจนำไปสู่การสูญเสียความชื้น และอาจส่งผลให้คุณภาพสัตว์นํ้าลดลงหลังการละลายของนํ้าแข็ง เราจึงร่วมกับเอกชนวิจัยการแช่แข็งอีกวิธีการขึ้นมา”
...
ผศ.ดร.จุฑา มุกดาสนิท คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกถึงที่มาของ “การวิจัยและพัฒนาเครื่องทำนํ้าแข็งเหลวโอโซน” ที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก สวก.มีประสิทธิภาพดีกว่าเทคนิคการแช่เย็นหรือการแช่แข็งแบบดั้งเดิมที่ใช้นํ้าแข็งจืด...เครื่องผลิตน้ำแข็งเหลวโอโซน (OSIM) นวัตกรรมผลิตนํ้าแข็งเหลวจากนํ้าทะเลที่ผ่านการฆ่าเชื้อ เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพและความสดอาหารทะเล เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยในการรักษาคุณภาพความสดของสัตว์น้ำให้อยู่ในระดับพรีเมียม โดยสามารถรักษาคุณภาพด้านสี รสชาติ และเนื้อสัมผัสของสัตว์น้ำได้ดีกว่าการใช้น้ำแข็งแบบดั้งเดิม อีกทั้งยังช่วยยืดอายุการเก็บรักษาให้นานขึ้นมากกว่าเท่าตัว
โดยเทคโนโลยีการผลิตและใช้ประโยชน์จากน้ำแข็งเหลวโอโซน สามารถเพิ่มมูลค่าสัตว์น้ำของไทย อีกทั้งรักษาคุณภาพอาหารทะเลของไทยให้มีคุณภาพเทียบเท่ากับสัตว์น้ำระดับพรีเมียมที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยได้นํ้าแข็งเหลวที่สะอาดและปลอดภัยสำหรับถนอมอาหารทะเล มีความคุ้มทุนและค่าบำรุงรักษาตํ่ากว่าเมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการแบบเดิม เคลื่อนย้ายสะดวกเพื่อให้เหมาะกับความต้องการของธุรกิจที่แตกต่างกัน มีราคาจับต้องได้และอะไหล่หาง่าย ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูง และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมประมงไทยให้ก้าวไปอีกขั้น
สำหรับการดูแลหลังการจับสัตว์น้ำของไทยยังใช้วิธีดั้งเดิม คือการใช้น้ำแข็งจากน้ำจืด ทำให้คุณภาพของอาหารทะเลลดลงอย่างรวดเร็วในระหว่างการเก็บรักษา โดยน้ำแข็งสารละลายโอโซน (OSI) สามารถยืดอายุการเก็บรักษาอาหารทะเลได้ รักษาคุณลักษณะทางประสาทสัมผัส ยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ เพื่อความปลอดภัยของอาหารที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อาหารทะเลที่เก็บรักษามีคุณภาพระดับพรีเมียม และสามารถจำหน่ายในราคาที่สูงขึ้น
...
ทั้งนี้ คณะผู้วิจัยได้สามารถสร้างและพัฒนา เครื่องผลิตน้ำแข็งเหลวโอโซน Lab Scale OSIM และ Commercial scale OSIM ให้มีกำลังผลิตได้ไม่น้อยกว่า 40 และ 80 กก./ชม. มีการประยุกต์ใช้ OSI ในการยืดอายุการเก็บรักษาปลากะพงขาวให้มีความสดระดับซาชิมิ ได้นานถึง 12 วัน อีกทั้ง OSI สามารถชะลอการเจริญของแบคทีเรียในเนื้อปลาได้ดีกว่าการใช้น้ำแข็งแบบดั้งเดิม โดยผลการทดสอบเครื่อง OSIM ณ บุญสว่างฟาร์ม อ.พานทอง จ.ชลบุรี สามารถเก็บรักษาปลากะพงขาวแบบรีดเลือดได้นานและดูสด แทบไม่ต่างจากที่เพิ่งจับมาจากปากบ่อ ส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถจำหน่ายปลากะพงขาวขนาด 3–5 กก./ตัว จากเดิม 180 บาท/กก. เป็น 380 บาท/กก.
กรวัฒน์ วีนิล
คลิกอ่าน "ข่าวเกษตร" เพิ่มเติม